“ในหลวง” โปรดเกล้าพระราชทานสมณศักดิ์ “วันเฉลิมพระชนมพรรษา” 28 กรกฏาคมนี้

วันที่ 14 ก.ค.  66 หลังจากเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะจำนวน 97 รูป และในวันที่ 30 มิถุนายน มีการโปรดเกล้า ฯ อีกจำนวน  4 รูป รวม 101 รูปนั้น

วันนี้ปรากฏมี ฏีกาจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นิมนต์พระภิกษุที่ได้รับโปรดเกล้าสมณศักดิ์ให้เข้ารับพระราชทานสมณศักดิ์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ในวันศุกร์ที่ 28 กรกฏาคม 2566 เวลา 16.30 น.  ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“แหล่งข่าว” จากคณะสงฆ์รูปหนึ่ง เปิดเผยว่า การแต่งตั้งหรือเลื่อนสมณศักดิ์ต่อจากนี้ คาดว่า หากเป็น “พระราชาคณะ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงจะโปรดเกล้า ฯโดยกำหนดเอาวันที่ 28 กรกฏาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนพรรษา เป็นวันพระราชทานสมณศักดิ์ระดับพระราชาคณะ ส่วนระดับ “พระครูสัญญาบัตร” มีข่าวว่าอาจจะกำหนดเอา “วันพ่อแห่งชาติ” ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นโปรดเกล้า ฯ พระราชทาน  ซึ่งในขณะนี้รายชื่อพระภิกษุผู้ได้รับเสนอชื่อแต่งตั้งหรือเลื่อนให้เป็นพระครูสัญญาบัตรจากเจ้าคณะปกครองอยู่ในมือของเจ้าคณะภาคต่าง ๆ แล้ว และจะมีการส่งรายชื่อให้เจ้าคณะหนใหญ่ภายในวันที่ 15 กรกฏาคมนี้เป็นต้นไป เมื่อนำสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมรับรองต่อไป

สำหรับธรรมเนียมการแต่งตั้งสมณศักดิ์แต่เดิมนั้นพระสงฆ์ผู้ได้รับพระมหากรุณาโปรดตั้ง เลื่อนเป็นพระราชาคณะนั้นไม่ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเช่นทุกวันนี้ สมัยก่อน เข้ารับพระราชทานพัดยศพร้อมสัญญาบัตรแล้ว จึงใช้ชื่อราชทินนามใหม่ได้

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ร.ศ. 113 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนพระธรรมวโรดมเป็นที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระราชทานตาลปัตรแฉกพื้นขาวปักดิ้นเลื่อม แต่ยังไม่ได้พระราชทานสุพรรณบัฏ ในหนังสือราชการ จึงออกหมายเรียกนามว่า พระธรรมวโรดม ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ไปพลางก่อน จนถึงวันที่พระราชทานสุพรรณบัฏ จึงใช้ราชทินนามใหม่ได้เต็มที่

 

ในแผ่นดินรัชกาลที่ 9  พระสงฆ์ที่จะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ จะมีฎีกาจากกรมการศาสนาหรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แล้วจึงเข้าไปรับสัญญาบัตร พร้อมพัดยศในวันที่ 5 ธันวาคม เป็นพื้น แม้ราชกิจจานุเบกษาจะออกภายหลังก็ตาม จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมว่า ได้รับพัดยศแล้ว จึงจะใช้ชื่อใหม่ได้

แต่ในรัชกาลปัจจุบัน มีประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาตั้งสมณศักดิ์ในราชกานุเบกษาก่อน แล้วพระราชทานพัดยศภายหลัง ตามหลักของกฎหมายแล้ว ย่อมถือว่าใช้ชื่อใหม่ได้แล้ว แต่ว่าพระสงฆ์ยังยึดธรรมเนียมเดิม คือต้องรับพัดยศเสียก่อนจึงใช้ได้

ดังนั้นจึงมีประกาศมติมหาเถรสมาคมในการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 10  มกราคม 2566  ความว่า “ตามโบราณราชประเพณีและจารีตของคณะสงฆ์ พระภิกษุที่ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นชั้นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นเจ้าคณะรอง และได้รับการตั้งสมณศักดิ์ในชั้นพระราชาคณะอื่น ๆ และพระครูสัญญาบัตร ถ้ายังไม่ได้ประกอบพิธีรับการพระราชทานสุพรรณบัฏ หิรัญบัฏ และสัญญาบัตรพัดยศ ประจำสมณศักดิ์นั้น ๆ ควรใช้ชื่อราชทินนามสมณศักดิ์ในชื่อเดิมไปก่อน”

ดังนั้นจึงควรใช้ชื่อเดิมไปก่อน จนกว่าจะได้รับพระราชทานพัดยศ..

Leave a Reply