เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2565 เฟซบุ๊ก “พระปัญญาวชิรโมลี นพพร” เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม หรือ “โรงเรียนเสียดายแดด” ได้โพสต์ภาพ 2 บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนศรีแสงธรรมเข้ากราบหลังสำเร็จการศึกษา โดยระบุว่า “ช้าแต่ชัวร์ : หลวงพ่อเลี้ยงวัวไว้จนได้ลูก 3 ตัว
2 ต้นกล้าแห่งความดีศิษย์เก่าศรีแสงธรรม มาขอถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเกษตรจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้วยความขยัน อดทนจึงจบมาได้ และยังไม่ลืมบุญคุณครูบาอาจารย์ ถ้ามาเรียนที่นี่จบแล้วไม่ขออะไรมาก อยากให้บวชคนละพรรษา เพื่อตอบแทนบุญคุณของผู้สนับสนุนทั้งหลาย ตั้งแต่พ่อหลวงของปวงชนชาวไทยที่เป็นศูนย์รวมจิตใจให้คนในชาติไม่แตกร้าวสามัคคี รวมตัวกันเป็นชาติที่เข้มแข็งและมั่นคงเป็นไทยตลอดมา ตอบแทนบุญคุณครูบาอาจารย์ที่เสียสละมาอยู่มาสอนโรงเรียนในชนบทตามแนวชายแดน และตอบแทนผู้มีพระคุณที่สนับสนุนบริจาคจนเป็นโรงเรียนได้ทุกวันนี้
หลวงพ่อ และคณะครู พ่อแม่พี่น้อง มีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนในการผลิตคนคุณภาพเข้าสู่สังคม ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาชาติ คำว่าชาติก็คือคนคือประชาชนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดิน ไม่ใช่ผืนแผ่นดินคือชาติ การพัฒนาชาติก็คือพัฒนาคน การพัฒนาคนก็คือพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน โดยใช้งบประมาณแผ่นดินมหาศาลมาใช้ในกระบวนการจัดการศึกษา เพื่อให้มีวิชชา และจรณะ มีความรู้คู่คุณธรรมดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข เมื่อจบแล้วมาบวชคนละ 1 พรรษา แล้วสมัครไปเป็นทหารเกณฑ์ แค่นี้ก็พอใจหลวงพ่อแล้ว
หลวงพ่อเองแม้ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ แต่ก็ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาชาติ จึงได้จัดตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม ซึ่งเป็นโรงเรียนการกุศลให้การศึกษาฟรีสำหรับเด็ก ๆ และเยาวชนมาแล้ว 11 ปี ใช้งบประมาณที่รัฐสนับสนุน ร่วมกับเงินบริจาคของศรัทธาญาติโยมช่วยสนับสนุนให้โอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ชนบทตามแนวชายแดนให้มีความเท่าเทียมทั่วแผ่นดินไทย
คณะศรัทธาทั้งหลายก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่คอยหยิบยื่นให้โอกาสลูกหลานผ่านมาทางหลวงพ่อ เมื่อลูกหลานทั้งหลายสำเร็จการศึกษาเอาตัวรอดได้แล้วอย่าลืมบุญคุณของแผ่นดิน อย่าลืมบุญคุณของสังคมที่มีส่วนให้โอกาส ให้แสงสว่างแก่ชีวิต เมื่อระลึกได้แล้วจงตอบแทนสังคมด้วยคุณงามความดีที่เคยได้รับ บัดนี้เรามีโอกาสจงเป็นผู้ให้ สังคม เป็นคนดีของสังคม ตอบแทนสังคมตอบแทนประเทศชาติส่งต่อ ๆ กันไป เพียงเท่านี้หลวงพ่อและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายก็มีความยินดีแล้ว ปล. ปีนี้เข้ารับปริญญาที่ม.อุบลทั้งหมด 7 คน เจริญพร”
สำหรับ โรงเรียนศรีแสงธรรม เปิดสอนระดับชั้น ม.1- ม.6 ไม่เก็บค่าเล่าเรียน มีรถรับ-ส่งและอาหารฟรี เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน ‘โคกอีโด่ยวัลเล่ย์’ โดยใช้โซลาร์เซลล์ดึงพลังงานจากแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดค่าไฟฟ้า โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่โรงเรียนขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ หลวงพ่อจึงได้นำแผ่นโซลาร์เซลล์ที่ชำรุดมาซ่อมและทดลองใช้ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทำเป็นสื่อการสอน กระทั่งนำไปสู่การติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงเรียน จนเป็นที่มาของ ‘เจ้าคุณโซลาร์เซลล์’
Leave a Reply