เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ส่วนงานหลักสูตรระยะสั้นสันตินวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ชีวิต เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ มีโอกาสเดินทางมาเรียนรู้แนวทางการสร้างแบรนด์ชุมชนสันติสุขโดยแวะเข้าชมโรงพยาบาลโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ หนึ่งเดียวในประเทศไทย ภายใต้ Art Therapy แต่งแต้ม ‘ศิลปะ’ ให้กับ ‘โรงพยาบาลโซ่พิสัย’ “ศิลปะ” เยียวยาจิตใจ ผ่อนคลายหายเศร้า และเครียดได้ มีผลในแง่ของจิตวิทยาแนวทางสร้างสรรค์ “ศิลปะบำบัด” Art Therapy ที่ทำได้ทั้งในแง่ของการเป็นผู้รังสรรค์ผลงานและผู้เสพผลงาน อาทิเช่นการวาดภาพ ระบายสี วันนี้มีการเนรมิต “โรงพยาบาลโซ่พิสัย” ให้ดูสดใส สำหรับงาน Art Therapy แต่งแต้ม “โรงพยาบาลโซ่พิสัย” ให้เป็นงาน “ศิลปะ”
ครั้งนี้ อาจารย์ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ขับเคลื่อนศิลปะร่วมสมัยพญานาคชุมชน เล่าถึง โครงการศิลปะบำบัดในโรงพยาบาลชุมชนว่า “ก่อนอื่นต้องบอกว่า ผมสนใจการทำงานแบบจิตอาสา และประทับใจแนวทางการทำงานแบบยั่งยืนของมูลนิธิโครงการหลวงเลยเอามาปรับใช้เมื่อมีโอกาสเสมอ ครั้งนี้ได้รู้จักกับน้องโบ หรือ โบ-อิสรีย์ ฉัตรดอกไม้ไพร นักเรียนชั้น ม. ๕ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน เธอเป็นเด็กที่ไม่เข้าโรงเรียนกวดวิชาเลย เธออยากใช้เวลาค้นหาคุณค่าของชีวิตมากกว่า ผมรู้เพราะได้เจอกับคุณแม่ของน้องโบ คือ หญิง-ศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ที่ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตของผม ได้เห็นสิ่งที่ผมทำ คุณแม่เลยเอาหนังสือไปให้ลูกศึกษาเอง หลังจากนั้นก็บอกว่า น้องโบอยากมาทำงานจิตอาสาที่ อำเภอโซ่พิสัยคือที่มาของงานโครงการนี้ ”
หลายโรงพยาบาลที่ขาดแคลนในต่างจังหวัด ปกติมักมีผู้เห็นความสำคัญให้การสนับสนุนอยู่แล้ว เช่นรวบรวมเงินมาบริจาค ซื้อสิ่งของที่ขาดแคลนมามอบให้ ครั้งแรกน้องโบและครอบครัวก็เช่นกัน เธออยากทำอะไรที่ยั่งยืนกว่านั้น จึงคิดเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ให้โรงพยาบาลดูสดใส ให้คนป่วย และญาติ พร้อมทั้งผู้ที่มาเยี่ยมไข้ ติดต่อกับโรงพยาบาลไม่รู้สึกหดหู่ เศร้าใจเหมือนแต่ก่อน “ศิลปะบำบัด” Art Therapy ใน “โรงพยาบาล” จึงเกิดขึ้นโดย “โบ-อิสรีย์” ไปปรึกษาหารือกับเพื่อนๆที่อยู่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในนามทีม Eleven Volts ภายใต้แนวคิดว่า “ทำอย่างไรให้โรงพยาบาลสวยงาม” เป็นโรงพยาบาลรัฐ ที่มีอายุ ๓๐ ปีไม่เคยปรับปรุงอะไรเลย ผู้บริหารของโรงพยาบาลโซ่พิสัย เป็นคนที่มีความคิดต่างและได้รู้จักกับอาจารย์ขาบ เคยไปเห็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนฯ ที่มีพญานาคเป็นสื่อกลาง เพราะบึงกาฬ เป็นเมืองแห่งพญานาค เลยมีพญานาคในอิริยาบถต่างๆ เช่นพญานาคเอ็กซเรย์ พญานาคห้องคลอด ห้องแลป ห้องเทคโนโลยี รวมทั้งคลินิกกัญชา ซึ่งทุกโรงพยาบาลก็มีกัญชา เราอยากจะสื่อสารบริบทนี้ออกไป ฉะนั้นด้านหน้านำเสนอภาพที่มีกัญชา มีรูปน้องโบ และมีรูปอาจารย์ขาบ เป็นฉากที่ยาว ๑๐ เมตร สูง ๔ เมตร ทีมของน้องโบยังมี เด็กมัธยมในพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่รัฐ โรงพยาบาลมาช่วยกัน นักศึกษาและอาจารย์ศักดิ์สิทธิ์ บัวคำ คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดร สรุปแล้วโครงการนี้มีคนมาทำงานจิตอาสา ๕๐ คนด้วยกัน ส่วนอาจารย์ขาบเป็นผู้ควบคุมดีไซน์ ว่าเราควรให้สีหวานๆแบบพาสเทล ทำให้คนรู้สึกหวานละมุนไม่หดหู่ อันที่สองคือ พญานาคจะต้องไปปรากฎตัวตามห้องต่างๆในโรงพยาบาล บางที่ก็มีหัวพญานาค หรือหางพญานาค มีกำไล มีสร้อยคอ แหวน ที่มีสัญลักษณ์ของพญานาค ทุกรูปจะเป็นเรื่องของพญานาคเล่าเรื่อง”
งานศิลปะที่บรรจงสร้างสรรค์นั้นอย่างน้อยเกิดความแปลกตา สร้างมิติใหม่ให้กับโรงพยาบาล สถานที่ ที่ไม่มีใครต้องการจะไปเช็คอิน กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่เมื่อไปแล้วต้องถ่ายภาพเช็คอิน “ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ” เล่าว่า ได้เห็นภาพเด็กๆที่มาโรงพยาบาลแล้วร้องไห้ ผู้ปกครองพามาเดินดูภาพวาด เด็กๆเพลิดเพลินจนลืมร้องไห้ คนไข้ที่มาคลอดบุตร ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล อุ้มลูกถ่ายภาพเช็คอิน ฯลฯ ถือว่าเป็น “ศิลปะบำบัด” Art Therapy ที่ประสบความสำเร็จ “ทั้งหมดมี ๓๐ จุด Black Drop ให้เช็คอิน ใช้เวลาวาด ๓ วัน คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีให้กับคนในชุมชนที่ได้ถ่ายภาพสวยๆเก็บไว้เป็นที่ระลึก เป็นประวัติศาสตร์ชีวิตของเขา ตัวน้องที่มาเป็นจิตอาสาเอง อย่างน้องโบ บอกว่าเขากับเพื่อนๆ ๙ คนตั้งใจมาเป็นผู้ให้ แต่พอมาแล้วเขากลับเป็นผู้ได้รับมากกว่า เพราะคนที่นี่ดูแลเขาอย่างดี น่าประทับใจ” ความหวังของอาจารย์ขายคือ ต้องการทำอำเภอโซ่พิสัยให้เป็นเมืองศิลปะ ดึงความสนใจของนักท่องเที่ยวให้ได้นานที่สุด นอกจากใช้เวลาอยู่กับพิพิธภัณฑ์ชุมชน ช้อปปิง รับประทานอาหารแล้วมาดูงานศิลปะที่โรงพยาบาลโซ่พิสัย ได้เห็นวิถีชีวิตของโรงพยาบาลต่างจังหวัด เผื่อว่าจะเรียกความสนใจในการสนับสนุนทุนทรัพย์พัฒนาโรงพยาบาล เพื่อสวัสดิการที่ดีของคนในชุมชนต่อไป อาจารย์ขาบ-สุทธิพงษ์” ย้ำว่าต้องสามารถสร้างศิลปะบำบัด เพราะเวลาคนไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ เมื่อเข้าไปแล้วส่วนใหญ่จะรู้สึกหดหู่ สภาพจิตใจไม่ค่อยแจ่มใส แล้วจะมีวิธีคลายทุกข์ให้กับเขาเหล่านั้นได้อย่างไร Art Therapy “ศิลปะบำบัด” เป็นอีกหนึ่งคำตอบ
ดังนั้น จากการลงพื้นที่โรงพยาบาลโซ่พิสัยทำให้มองว่านี่ไม่น่าใช่โรงพยาบาลชุมชนจากที่เคยเห็นมา แล้วเพราะบรรยากาศทำให้มีความสบายใจยิ่งนักมีความสัปปายะสอดรับกับภาวนา ๔ ในทางพระพุทธศาสนาคือ ด้านกายภาพ ด้านพฤติภาพ ด้านจิตตภาพ และด้านปัญญาภาพ ผู้เจ็บป่วยมารักษาผ่อนคลายจิตใจอย่างดียิ่งรวมถึงบุคลากรของโรงพยาบาลโซ่พิสัยที่ต้องอยู่กับผู้มีความทุกข์ทางกายและใจ ศิลปะจึงสามารถเป็นเครื่องบำบัดได้เป็นอย่างดียิ่ง โดยนำศิลปะผ่านพญานาคในรูปแบบของวิถีใหม่ ผู้คนมาโรงพยาบาลต้องเช็คอินมีช้อยส์หรือทางเลือกของชีวิตที่จะเดินต่อไป จึงขออนุโมนาบุญกับทุกท่าน
Leave a Reply