วันนี้ 14 ม.ค. 67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวันที่ 45 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.00 น. มีมูลหนี้รวม 8,189.870 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 127,822 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 110,049 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 17,773 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 92,287 ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก 1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 10,628 ราย เจ้าหนี้ 6,697 ราย มูลหนี้ 741.968 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,223 ราย เจ้าหนี้ 4,509 ราย มูลหนี้ 338.532 ล้านบาท 3. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,769 ราย เจ้าหนี้ 3,093 ราย มูลหนี้ 354.865 ล้านบาท 4. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 4,751 ราย เจ้าหนี้ 3,522 ราย มูลหนี้ 306.444 ล้านบาท 5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 3,325 ราย เจ้าหนี้ 2,693 ราย มูลหนี้ 263.723 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 196 ราย เจ้าหนี้ 168 ราย มูลหนี้ 10.813 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 270 ราย เจ้าหนี้ 184 ราย มูลหนี้ 18.411 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 334 ราย เจ้าหนี้ 242 ราย มูลหนี้ 10.692 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 413 ราย เจ้าหนี้ 304 ราย มูลหนี้ 17.561 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 447 ราย เจ้าหนี้ 303 ราย มูลหนี้ 21.644 ล้านบาท
“สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 8,780 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 3,193 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 702.638 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 367.176 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 335.461 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 2,913 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 75 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 225.086 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 5.010 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 220.076 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ มีการดำเนินคดีไปแล้ว 46 คดี ใน 19 จังหวัด” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับในวันนี้เป็นวันแรกของ Kick off “ตลาดนัดแก้หนี้” พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการดำเนินการในวันนี้ ภายใต้การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่นำของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ผลดี โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาให้บริการทั้งบริการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ การให้ความรู้และให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย รวมถึงบริการให้คำปรึกษาทางการเงิน โปรโมชั่นพิเศษเรื่องสินเชื่อให้กับผู้ที่มาใช้บริการ โดยภาพรวมทั่วประเทศนั้น จากข้อมูล ณ เวลา 15.00 น. มีหน่วยงานเข้าร่วมบูรณาการจัดกิจกรรม 1,435 หน่วยงาน มีลูกหนี้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 5,076 คน มีเจ้าหนี้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 1,663 คน จำนวนข้อพิพาทที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สมัครใจเข้ารับการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท จำนวน 1,157 กรณี สามารถตกลงไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทสำเร็จ 1,040 กรณี มูลหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท จำนวน 126.297 ล้านบาท มูลหนี้หลังการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท จำนวน 102.218 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 24 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพิ่มเติมการจัดตลาดนัดแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นเดือนละอย่างน้อย 4 ครั้ง เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปให้คำปรึกษาพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นกิจกรรมเพิ่มเติมจากการรับลงทะเบียนและไกล่เกลี่ยหนี้ที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว และจากการประเมินภาพรวมในวันนี้ นับว่าเกิดประโยชน์สำหรับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
“วันนี้ ตนได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน “ตลาดนัดแก้หนี้ จังหวัดนครนายก” ที่หอประชุมอำเภอเมืองนครนายก ที่ว่าการอำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และพบปะพูดคุยสอบถามพี่น้องประชาชนผู้ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบกับภาครัฐที่เดินทางมาขอรับคำปรึกษา พบว่าภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และยังได้รับรายงานว่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศในวันนี้ การจัดมหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ นำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาได้ลงทะเบียน ทั้งในระบบออนไลน์ https://debt.dopa.go.th และที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งที่ว่าการอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานเขต 50 เขตในกรุงเทพมหานคร ช่วยกันทำให้ประชาชนเข้าถึงการแก้ปัญหาอย่างทั่วถึง อีกทั้งเป็นตัวกลางในการประสานงานสถาบันการเงินหรือธนาคารของรัฐ เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนจากเป็นหนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบ ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับสิทธิในการพิจารณาชำระหนี้แบบดอกเบี้ยต่ำ ตามที่กฎหมายกำหนด อันจะนำไปสู่ความถูกต้อง ความสงบเรียบร้อยของสังคม ตามพันธกิจ”บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของกระทรวงมหาดไทย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง
Leave a Reply