ปลัดมหาดไทยย้ำหนักแน่นกับผู้บริหารระดับสูงทั่วประเทศต้องปฏิบัติตนให้เป็นรวงข้าวที่สุกโน้มหาพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งไหนต้องทำงานเป็นที่พึ่งสร้างความเชื่อมั่น
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือข้อราชการ โดยมี ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองอธิบดี/รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง รวม 116 คน ร่วมประชุม
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมหารือข้อราชการร่วมกันของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย โดยขอแสดงความยินดีกับท่านรองอธิบดีและรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย) โดยขอให้ทุกท่านทำหน้าที่ของตนเองให้ดี ซึ่งคำว่า “ให้ดี” มีนัยยะสำคัญที่ต้องช่วยกันเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า
1) พฤติกรรม ความประพฤติ ต้องปฏิบัติตนให้เป็นรวงข้าวที่สุก โน้มหาพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม เพราะคนมหาดไทยไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน ก็ต้องทำงานกับประชาชน จึงต้องช่วยกันทำให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดความชื่นใจ ด้วยการยิ้มแย้มแจ่มใส มีมธุรสวาจา มีความรัก ความเมตตากับพี่น้องประชาชน 2) การทำงาน ต้องครองตนให้ได้ อย่าไปโลภโมโทสัน กวนน้ำตั้งโต๊ะ ต้องทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งมั่น ทุ่มเท ทำงานด้วยความตั้งใจ ในฐานะเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ต้องรักพสกนิกรของพระองค์ท่านเหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ 3) ต้องมีระบบในการกำกับดูแลการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทำงานให้ดี ทำงานให้เสร็จทันตามกำหนด เรียบร้อยเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชนและราชการ
“เราเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องภาคภูมิใจว่า “คนมหาดไทยเป็นคนของพระราชา” ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นเกราะกำบังคุ้มกันให้เรามีความกล้าแกร่ง กล้าคิด กล้าทำ “สิ่งที่ดี” ให้กับพี่น้องประชาชน และกล้าที่จะชี้แจง แถลงการณ์ ในเรื่องที่เราคิดว่าไม่เหมาะไม่ควรต่อผู้บังคับบัญชา และสร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชน สร้างความภาคภูมิใจร่วมกันของคนมหาดไทยและคนในพื้นที่ ดังเช่น ท่านพาตีเมาะ สะดียามู ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ถือเป็นสตรีไทยมุสลิมคนแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ได้เป็นเจ้าเมือง คือ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” อันเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดของกระทรวงมหาดไทย ที่แสดงให้เห็นว่าศาสนาหรือเพศไม่สำคัญ สำคัญว่า ต้องมีคุณสมบัติเป็นเจ้าเมืองที่ดี คือ “ต้องให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชน”” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
จากนั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มอบแนวทางการทำงานในปี 2566 โดยกล่าวว่า หลักการทำงานที่สำคัญในพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ คือ 1) ต้องเป็นธุระ ให้ความสำคัญ เอาใจใส่ ด้วยการเป็นผู้นำในบูรณาการขับเคลื่อนการทำงานของทุกกระทรวง ทบวง กรม ดังเช่นในปีที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองได้ขับเคลื่อนโครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยคัดเลือกเหลือ 18 อำเภอเป็นต้นแบบของ 18 กลุ่มจังหวัด ซึ่งในปีนี้กรมการปกครองได้กำหนดให้ขยายผลขับเคลื่อนโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ครบคลุมทั้ง 878 อำเภอ โดยมีหมุดหมายสำคัญในการสร้างรูปแบบการทำงานของ “นายอำเภอ” ร่วมกับคนในพื้นที่ อันได้แก่ ต้องไม่ทำงานคนเดียว หรือทำงานเพียงแค่กับข้าราชการบนอำเภอ ด้วยการต้องทำงานร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิด ทีมอำเภอ ทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน ที่มีความเข้มแข็งในพื้นที่ เพื่อที่แม้ว่านายอำเภอจะย้ายไปรับราชการที่ใด แต่ทีมเหล่านี้ยังอยู่ช่วยกันดูแลประชาชน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ด้วยพลังแห่งการมีจิตอาสา มีใจที่รุกรบ ไม่มีข้อจำกัดการทำงานที่ต้องพึ่งพาแต่งบประมาณอย่างเดียว และประการถัดมา คือ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ไปร่วมลงนามกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย “1 จังหวัด 1 คำมั่นสัญญา”
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เราจะพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ 2) การแก้ไขปัญหาความยากจน ต้อง “ทำต่อ” อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเป็นแม่ทัพเรียกประชุม ติดตามถามไถ่การพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนเป้าหมายตาม TPMAP และ THAIQM ว่าพบปัญหาอุปสรรคหรือต้องการขอรับการสนับสนุนด้านใดบ้าง โดยบูรณาการทีมทั้งที่เป็นทางการ คือ ข้าราชการในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น และพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับทีมจิตอาสา อาสาสมัครในพื้นที่ ทั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำสตรี ผู้นำเด็กและเยาวชน หรือกลุ่มประชาชนที่ทำงานกับข้าราชการ เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจนทุกข์ยากของประชาชนค่อย ๆ สำเร็จไปตามแนวทางขับเคลื่อน เพราะคำว่า “ความยากจน” คือ “ความเดือดร้อนทุกเรื่อง” ที่เรามีครัวเรือนเป้าหมายตาม TPMAP และได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมแล้วบรรจุไว้ในแพลตฟอร์ม THAIQM แล้ว โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ น้อมนำหลักการทำงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “ต้องรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ด้วยการหมั่นไปเยี่ยม ไปตรวจ ไปติดตาม ไปหาข้อมูล และต้องเตือนใจพวกเราอยู่เสมอว่า “งานเสร็จ ไม่ใช่งานสำเร็จ” เพราะความเดือดร้อนไม่ได้หมายถึงเพียงเรื่องความยากจนเงินทอง แต่เป็นเรื่องการเข้าถึงบริการของรัฐก็เยอะ เช่น ไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีไฟใช้ ไม่สามารถส่งลูกเข้าเรียนหนังสือได้ และเรื่องยาเสพติด 3) สนองพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “แก้ไขในสิ่งผิด” ซึ่งที่ผ่านมา ทุกจังหวัดได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ โดยในหลายจังหวัดได้ดำเนินการจนเกิดมรรคเกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น คลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ ที่สามารถพัฒนาจากคลองน้ำเสีย รวมสิ่งสกปรก กลายเป็นคลองน้ำใส เป็น landmark ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเชียงใหม่ คืนความสุขให้พี่น้องประชาชน จึงขอให้ทุกจังหวัดเชิญชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทำความดีเฉลิมพระเกียรติ อันเป็นการปฏิบัติบูชา สร้างประโยชน์สุขให้กับคนในพื้นที่ อันจะส่งผลทำให้พระองค์ท่านมีความสุข หากพื้นที่ใดดำเนินการแล้วเสร็จ ก็ให้เลือกแหล่งน้ำแห่งใหม่ในการพัฒนาฟื้นฟูต่อไป 4) การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน โดยทุกจังหวัดต้องกำชับนายอำเภอแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนครบ 100% ภายในเดือนธันวาคม 2565 เพื่อให้ถังขยะเปียกลดโลกร้อน ช่วยในการลดการปล่อยก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนให้กับโลกใบเดียวนี้ และ 5) ส่งเสริมให้เกิดการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งด้านการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ธนาคารเมล็ดพันธุ์ และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) รวมถึงการส่งเสริมการใส่ผ้าไทย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการสวมใส่ผ้าไทยผ่านภาพการสวมฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บจากผ้าไทยทั้งสิ้น และนับเป็นโชคดีของคนไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีความมุ่งมั่น ทุ่มเท แน่วแน่ ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และเจริญรอยตามสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อย่างเต็มพระองค์ ด้วยการพระราชทานโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และลวดลายผ้าพระราชทาน จนทำให้เกิดการพลิกวิกฤติในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ประชาชนกำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนจากพิษโรคระบาด ด้วยทรงเป็นผู้นำในการส่งเสริมการผลิตออกแบบผ้าไทย จนเกิดเป็นกระแสนิยมชมชอบ เกิดการจับจ่ายใช้สอย เลือกซื้อเลือกหาผลิตภัณฑ์ผ้าไทย จนทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากถึง 1.5 แสนล้านบาท
“ในวันที่ 8 มกราคม 2566 นี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา จึงขอให้ทุกจังหวัดได้ร่วมกันรณรงค์ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้น้อมนำพระดำริของพระองค์มาทำให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้เกิดความยั่งยืน อันได้แก่ 1) การส่งเสริมการใช้ผ้าไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี 9 มิถุนายน 2563 ด้วยการกำหนดเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติตลอดทั้งปี โดยเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยลายพระราชทาน ได้แก่ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ลายปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง ลายท้องทะเลไทย และลายป่าแดนใต้ ในทุกวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ 2) ส่งเสริมการขับเคลื่อน “หมู่บ้านยั่งยืน” หรือ Sustainable Village ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จที่บ้านดอนกอย อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร ด้วยการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปใช้ในทุกครัวเรือน เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง อันส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน โดยที่บ้านดอนกอย ซึ่งเป็นหมู่บ้านกลุ่มผ้าย้อมคราม ได้น้อมนำพระดำมาขับเคลื่อน ตั้งแต่สารตั้งต้น ด้วยการส่งเสริมให้มีการปลูกฝ้าย ใช้ครามสีธรรมชาติ รู้จักปลูก และแลกเปลี่ยนในพื้นที่ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการไม่ใช้สีเคมี และ 2) ทอผ้าในลวดลายที่คนสนใจ ลวดลายหลากหลายสีสัน ลูกค้าผู้บริโภคก็สนใจมาเลือกซื้อเลือกหาเยอะ นอกจากนี้ “หมู่บ้านยั่งยืน” ยังหมายความรวมถึงการส่งเสริมให้มีการทำมาหากินที่เน้นธรรมชาติ เน้นการพึ่งพาตนเอง เกิดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้สมาชิกคนในบ้านมีความรัก ความสามัคคี ช่วยกันดูแลบ้านเรือนให้สะอาด ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และรู้จักนำผลผลิตที่เหลือกิน เหลือใช้ เหลือแจก มาถนอมอาหารแปรรูป เช่น ที่ อบต.โก่งธนู อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี ได้น้อมนำพระราชดำริ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” จากเริ่มต้นปลูกผักสวนครัวบ้านละ 10 ชนิด ทุกวันนี้กลายเป็นบ้านละ 20-30 ชนิด ในแต่ละบ้านจะมีเมล็ดพันธุ์ พันธุ์พืชแตกต่างกัน นำมาแลกเปลี่ยนกัน และเมื่อมีความมั่นคงแล้ว ก็ขยายผลไปพื้นที่สาธารณะ เกิดเป็น
“ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” คือ ปลูกพืชยืนต้นที่ให้ผลบริเวณริมถนน ริมทางสาธารณะ และเมื่อทำให้คนรักใคร่สามัคคีมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันแล้ว ก็นำฐานความรัก ความเชื่อมั่นสิ่งที่ดีร่วมกัน เกิดเป็น “ธนาคารขยะ” ด้วยการทำตลาดนัดขยะ นัดคนมารับซื้อ มาส่งขยะพร้อมกัน และในส่วนขยะเปียก ขยะอินทรีย์ ก็จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน แล้วนำเงินมาทำบัญชีสวัสดิการ การสวมใส่ผ้าไทยทั้งหมู่บ้าน และการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ให้เด็กมีกิจกรมร่วมผู้ใหญ่ในทุกโอกาส รวมทั้งมีพื้นที่สาธารณะติดกับแม่น้ำ จึงเกิดการเป็นจิตอาสาดูแลแหล่งน้ำอีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ต้องภาคภูมิใจในการเป็นคนมหาดไทย ที่มีแรงปรารถนา (Passion) ที่จะฝากชื่อเสียง ฝากความดีไว้ให้กับชีวิตด้วยการทำงานฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และช่วยกันสร้างจิตวิญญาณคนมหาดไทย ดังที่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และข้าราชการรุ่นพี่ ๆ ได้ทำไว้ อย่าทำให้เราต้องเป็นคนทำลายสถาบันมหาดไทยด้วยมือพวกเรา ด้วยการมุ่งมั่น ทุ่มเท ทั้งแรงกาย แรงใจ แรงสติปัญญา เพื่อประเทศชาติมั่นคง เพื่อพี่น้องประชาชนมีความสุข เพราะผมมั่นใจเสมอว่า “คนมหาดไทยเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนได้” และ “ต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นนี้ให้เป็นจริงอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”” นายสุทธิพงษ์กล่าวทิ้งท้าย
Leave a Reply