พุทธไทยเป็น “พุทธแท้” หรือ “ไม่ใช่” พุทธแท้??? สืบเนื่องจาก 5 ประเด็นที่สังคมสงสัย??

วันที่ 2 6 มี.ค. 65 เฟชบุ๊ค Hansa Dhammahaso ซึ่งเป็นเฟชบุ๊คส่วนตัวของ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ศ,ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้โพสต์ ตั้งประเด็นคำถามเชิงให้พิสูจน์ถึงพระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่สังคมเริ่มตั้งคำถามขยายวงกว้างขึ้นว่า พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็น พุทธแท้หรือไม่,พระภิกษุสงฆ์เป็นพระภิกษุแท้จริงหรือไม่ หรือแค่เป็นเครื่องมือกลไกหนึ่งของชนชั้นอำนาจ

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ศ,ดร. เพื่อพิสูจน์คำถามเหล่านี้ ได้โพสต์หัวข้อว่า “พุทธไทย “ไม่ใช่” พุทธแท้???” เนื่องจากสังคมไทยมีความไม่เชื่อมั่นใน 5 ประเด็น ดังต่อไปนี้

ส่วนตัวได้ยินคำนี้มาเนิ่นนาน แต่เป็นการได้ยินได้ฟังในวงวิชาการแคบ ๆ ที่กลุ่มนักคิดหัวก้าวหน้าทางศาสนาพากันพูดคุยแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งหาเหตุผลมาสนับสนุนสมมติฐานดังกล่าว

แต่พอมาถึงยุคปัจจุบันที่สังคมพร้อมกลุ่มคนต่าง ๆ พากันตั้งข้อสังเกตต่อความเป็นไปของสถานการณ์พระพุทธศาสนาในมิติต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้งาน อธิบาย ตีความ จนเริ่มมีการเปลี่ยนรูปในวิถีของการปฏิบัติจริงในสังคม ทำให้กลุ่มคนจำนวนมากเริ่มมีความโน้มเอียง และเริ่มเชื่อว่า พุทธไทยมิใช่พุทธแท้ 

คำถามคือ แล้วอะไรคือร่องรอยที่ทำให้กลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมไทย ที่เฝ้ามองปรากฏการณ์ความเป็นไปในสังคมไทย เริ่มมีความเชื่อเช่นนั้น  หลักฐานที่สามารถพิสูจน์มีอย่างน้อย 5 ประเด็น

1: พระวินัย ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ตั้งข้อสังเกตต่อวิถีการปฏิบัติตนของพระภิกษุในสังคมไทยว่า ละเลยต่อข้อวัตรปฏิบัติเกี่ยวกับพระวินัยบางประเด็นที่ไม่สอดรับกับพุทธบัญญัติ ประเด็นเหล่านี้แม้จะมีการปฏิบัติจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ควรทางออก หรืออกแบบการปฏิบัติให้สอดรับ หรือเอื้อต่อวินัย

2: พิธีกรรม แนวทางปฏิบัติที่เป็นพิธีกรรมทางศาสนาในสังคมไทยยุคปัจจุบัน มีการปรับรูปแบบที่สลับซับซ้อน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเป็นรูปแบบต่างๆ จนมองไม่เห็นเค้าลางเดิม หลายพิธีกรรมมุ่งเน้นและจบที่ความอลังการและความศักดิ์สิทธิ์ เพื่ออ้อนสอนขอพร แต่ไม่ได้มุ่งนำธรรมไปทำตามกฏแห่งกรรม

3: ความเชื่อ แม้พระพุทธศาสนาจะเน้นให้เชื่อกรรม และผลของกรรม แต่เพราะเดิมทีสังคมไทยเชื่อผี เชื่อพราหมณ์ ก่อนจะเห็นมาเชื่อพุทธ บัดนี้  พุทธศาสนิกชนได้บูรณาการ และหลอมความเชื่อเข้ามา สร้างเป็นรูปปั้นภายในวัด เช่น พระพุทธรูป พระพิฆเณศ พระยานาค แม่กวนอิม พระอินทร์ ท้าวเวสสุวรรณ เจ้าแม่ เจ้าพ่อฯลฯ

4: กฏหมาย ในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธเจ้ามอบธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ มีปัญหาทั้งหลักการ และแนวปฏิบัติ ก็ให้ปรึกษาพระธรรมวินัยแทนองค์ศาสนา แต่ยุคปัจจุบันการตรากฏหมายหลายข้อไม่ได้คำนึงถึงหลักพระวินัย การให้พระสงฆ์เกิดความปั่นปวนว่า สุดท้ายจะยึดอันไหน?? จะเอาวินัยหรือกฏหมายก่อน

5: โครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ การออกแบบโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์เป็นที่ชัดเจนว่า สอดรับกับแนวทางของพุทธแบบไทย ๆ ความเป็นไปของพระสงฆ์ในสังคมไทย ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินถูกผิดก็ให้ขึ้นกับมหาเถรสมาคมที่มีอำนาจสูงสุดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์  แม้การการตัดสินจะเอาวินัยมาเป็นมาตรวัดก็ตาม

ทั้ง 5 ประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนไม่ได้สรุปว่า ถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี แต่ต้องการจะนำเสนอว่า พุทธแท้และพุทธไทยมีความแตกต่างกันในเชิงรายละเอียด ปรัชญา ที่มา และเนื้อหาสาระอย่างแน่นอน

ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับพุทธศาสนิกชนว่า จะเลือกเอาแบบไทยๆ ที่เน้นแบบสูตรไขว่ ทั้งผี พราหมณ์ พุทธ และคริสต์ หรือจะเน้นหลักปฏิบัติที่เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบดั้งเดิม ตามที่บัญญัติไว้ในกฏหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 67 ว่าให้นำหลักพระพุทธศาสนาเถรวาทมาพัฒนาจิตใจและปัญญา

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปของพระพุทธศาสนาจะเป็นไปอย่างไร จึงมิได้ขึ้นกับผู้นับถือหรือนำไปใช้  หลักการเดิมแท้เป็นอย่างไรก็คงเป็นแบบนั้น

เฉกเช่นกับน้ำบริสุทธิ์ แม้ว่าใครจะนำไปแปลงไปน้ำขวดยี่ห้อต่างๆ แต่ภายในสีที่แตกต่าง น้ำก็ยังคงรักษาความเป็นน้ำไว้ ถ้าสามารถแยกด้วยปัญญาได้ก็จะทราบว่า นั่นเป็นสี นั่นเป็นรส  นั่นเป็นน้ำ สี หรือรสคือปรากฏการณ์ แต่ถ้าถอดสองสิ่งออก เราจะเห็นคุณค่าของน้ำที่มีอยู่และดำรงอยู่เช่นนั้นตลอดไป

Leave a Reply