เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน 2564 ดร.ณพลเดช มณีลังกา อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ และเลขานุการกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีพระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง ได้จัดรายการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีผู้รับชมพร้อมกันสูงถึงกว่า 2 แสนคนนั้น มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ ตนได้เข้าไปชมรายการแล้วเช่นกัน ได้เห็นความแปลกใหม่ของการนำเสนอที่คนรุ่นใหม่ รวมถึง Official Page ของแบรนด์สินค้า สำนักข่าว คนดังต่างๆ เข้ามาร่วมชมไลฟ์และคอมเมนต์กันเป็นจำนวนมาก การนำเสนอมีศัพท์คำย่อใหม่ๆ ที่วัยรุ่นได้ใช้กันในสังคมโซเชียลและมีการนำเอาข้อความดังกล่าวมาอธิบายจากพระสงฆ์ทั้ง 2 รูป เช่นคำว่า พส. ในเพจพระแปลว่า “พระสงฆ์” ไม่ได้แปลว่า “พี่สาว” คำว่า “สู่ขิต” แปลว่า “สู่สุขคติ” เป็นต้น
ผนวกกับการสนทนาในรายการมีการอ่านคอมเม้นต์ ซึ่งบางครั้งจะมีการหยอกล้ออย่างเป็นกันเองในวัยรุ่น เช่น “ทำไมพระแต่งตัวโป้ทำไมพระห่มผ้าคลุมไหล่แค่ข้างเดียว” ทำให้เกิดความขำขันในการนำเสนอ ซึ่งอาจมองว่าไม่เหมาะในการมีสมณสารูปนั้น แน่นอนในส่วนตัวของตนจากการทำเคยทำงานด้านพุทธศาสนามามาก ช่วยงานพระพุทธศาสนาทั้งในและต่างประเทศ ในความเป็นจริงหากพิจารณาตามรูปแบบพระสงฆ์ไทยแบบเถรวาท อาจจะไม่เหมาะสมในลักษณะการแสดงธรรมในภาพที่ประเทศไทยไม่เคยเห็น แต่สำหรับนิกายอื่นๆ เช่น วัชรยาน หรือ นิกายเทนไดในญี่ปุ่น จะเปิดกว้างในการนำเสนอได้มากกว่านี้
ดร.ณพลเดช กล่าวต่อว่า จากที่ตนเป็นคนรุ่นกึ่งเก่ากึ่งใหม่ เข้าใจวัฒนธรรมของพระสงฆ์ในอดีต ซึ่งการแสดงธรรมจะเน้นทำให้ทำดีละความชั่ว สร้างปัญญา ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่นโดยมีคำสอนที่มีพระนิพพานเป็นแก่นสาร ดังนั้นการแสดงธรรมจะเน้นสมณสารูป โดยเฉพาะวินัยบัญญัติของภิกษุ (ศีล 227 ข้อ) ในหมวดเสขิยวัตร ดังมีบรรจุไว้ในหนังสือนวโกวาท ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในหมวด สารูป (ว่าด้วยความเหมาะสมแก่สมณเพศในการประพฤติปฏิบัติต่อชุมชน) มี 26 ข้อ แน่นอนตามพุทธวิธีในการสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์เคยกล่าวไว้ใน (องฺ.ปญฺจก. 22/159/205) ว่า อานนท์ การแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง มิใช่สิ่งที่กระทำโดยง่าย ผู้แสดงธรรมแก่คนอื่นพึงตั้งธรรม 5 อย่างไว้ในใจ คือ 1.เราจักกล่าวชี้แจงไปตามลำดับ 2.เราจักกล่าวชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ 3.เราจักแสดงด้วยอาศัยเมตตา 4.เราจักไม่แสดงด้วยเห็นแก่อามิส 5.เราจักแสดงไปโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น
ดร.ณพลเดช กล่าวต่อไปอีกว่า จากที่ตนรู้จัก พระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง ถือเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทำงานให้กับสังคม โดยเฉพาะพระมหาไพรวัลย์ จบเปรียญธรรม 9 ประโยค เป็นพระรุ่นใหม่ที่มีพรรษามากกว่า 10 พรรษา ซึ่งทุกวันนี้พระสงฆ์บ้านเราลดน้อยลงไปทุกวัน ตนเห็นว่าการแสดงธรรมแนวใหม่นี้ แม้จากที่ทราบจากวงในว่ามีพระผู้ใหญ่บางท่านไม่ปลื้ม ในการไลฟ์สดของพระสงฆ์ทั้ง 2 รูป แต่ในความเห็นของตน จะหาพระสงฆ์ที่มีกำลังที่จะสื่อสารให้ประชาชนให้ความสนใจในโลกปัจจุบันโดยเฉพาะในสังคมไทยน้อยลงมาก หากพระผู้ใหญ่ในการประสานงานจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้การหารือและนิมนต์พระสงฆ์ทั้งสองรูปมาหารือและหาทางออกที่จะเผยแพร่ธรรมะไปสู่ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในกรอบที่เหมาะสมและยอมรับกันในวงการสงฆ์ไทยก็จะเกิดผลดี เพราะปัจจุบันกิเลสเข้าไปถึงแม้ในห้องนอนของโยมแล้ว แต่พระไม่สามารถเข้าไปเทศนาในห้องของโยมได้
“หากอาศัยการนำเสนอรูปแบบใหม่โดยพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่ใช้โลกโซเชียลเพื่อให้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าไปถึงที่บ้านของเขาในรูปแบบที่พระผู้ใหญ่ยอมรับและถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย ก็จะเกิดผลดีต่อสังคมภาพรวม ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหามีลูกก่อนวัยอันควร อาจลดลงมาก งบประมาณประเทศที่จะนำไปแก้ไขปัญหาคดีอาญาต่างๆ ก็จะลดลงตาม การสงฆ์ไทยควรดูรูปแบบการทำงานของไต้หวัน เช่น โฝวกวงซัน ฝากู่ซาน ฉือจี้ ที่เขาแบ่งงานกันทำไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน และภาพรวมเขาสามารถขยายพุทธศาสนาไปได้ทั่วโลกอย่างน่ายกย่อง ประชาชนก็ได้ประโยชน์โดยทั่วกัน ประเทศก็ได้ชื่อเสียง แต่กลับกันหากเพียงลงดาบ พระสงฆ์ทั้งสองเราก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา อย่างไรตนขอส่งกำลังใจให้พระสงฆ์ทั้งสอง การทำดีและดัง ตามคำกล่าวว่า “ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย” บางครั้งอาจจะต้องมีผลกระทบบ้าง ดร.ณพลเดช กล่าว
Leave a Reply