“พระมหาวัฒนา-แทนคุณ” ยื่นหนังสือต่อ “วันนอร์” ขอแก้ปัญหาพุทธศาสนา 8 ประการ ทั้ง “ปฎิรูปปกครองสงฆ์ -คุมพุทธพาณิชย์- รับรองการบวชภิกษุณี”

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ณ อาคารรัฐสภา พระมหาวัฒนา ปญฺญาทีโป ป.ธ.9 พร้อมด้วย นายแทนคุณ จิตอิสระ และคณะ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฏร เรื่อง ขอเสนอแนวทางในการพัฒนาพระ​พุทธศาสนา​ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ​ มาตรา​ ๖๗​ ซึ่งมีทั้งหมด 8 ประการด้วยกัน ทั้งเรื่องขอให้ปรับการปฏิรูปโครงสร้างปกครองสงฆ์ใหม่ให้เอื้อต่อการพัฒนา ,การรับรองการบวชพระภิกษุณี,คุณสมบัติเจ้าอาวาส,การควบคุมพุทธพาณิชย์วัตถุมงคล เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

กราบเรียน​ ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร​และประธาน​รัฐสภา​ เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๐ ของประเทศไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ เป็นกฎหมายสูงสุดที่มีการประกาศใช้ปกครองประเทศมาตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บรรจุถ้อยคำ “พระพุทธศาสนาเถรวาท” ปรากฏอยู่ในหมวด ๖ แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา ๖๗ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”ปัญหาหลักที่เกิดกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยจำแนกได้สองประการ ประการแรกคือผู้ขอบวชเป็นภิกษุไม่มีความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนาและไม่มีอัธยาศัยในการครองสมณเพศ วัดไม่มีการคัดกรองคุณสมบัติผู้ขอบวชเป็นภิกษุอย่างถูกต้องและเหมาะสม เมื่อได้บวชเป็นภิกษุแล้วก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของภิกษุอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพระธรรม (คันถธุระ) และการอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาธุระ) รวมถึงมีการล่วงละเมิดสิกขาบทในพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้​ ๒๒๗​ ข้อ ไม่มีภูมิธรรมในการเผยแผ่ความรู้ทางพระพุทธ​ศาสนา​แก่อุบาสกและอุบาสิกาได้อย่างถูกต้อง​ ประการที่สองคือ อุบาสกและอุบาสิกาซึ่งเป็นผู้ครองเรือนอยู่ในเพศคฤหัสถ์ มีการนับถือพระพุทธศาสนาที่ประพฤติปฏิบัติตามบรรพบุรุษ หรือบิดา มารดาอย่างผิดๆ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมอย่างถูกต้อง จึงเป็นคนเชื่อง่าย ตื่นมงคลในสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ งมงายในไสยศาสตร์อย่างไม่มีเหตุผล จึงเป็นผู้มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ไม่มีพระรัตนตรัยอันมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ทำบุญด้วยความโลภ เชื่อในเดรัจฉานกถา และเดรัจฉานวิชา ยึดถือในวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ไม่เชื่อในกฎแห่งกรรม โดยเข้าสู่พิธีกรรมสะเดาะเคราะห์หรือตัดกรรม ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ทั้งสิ้ ด้วยเหตุปัจจัยจึงส่งผลต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาและความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ปัญหาหลายประการเกิดขึ้นมีความซับซ้อน และไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างทันการณ์ อันเนื่องมาจาก ข้อกฎหมายพรบ.สงฆ์ ทางชมรมฯ​ จึงได้ร่วมกับพระมหาวัฒนา ปัญญาทีโป,ดร.และคณะ จึงขอยื่นเสนอให้มีการแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ในประเด็นสำคัญ ดังนี้

๑. การจัดตั้งสภาพระธรรมวินัย​
เพื่อกำกับดูแลและรับรองมาตรฐาน การเผยแผ่พระธรรมให้ถูกต้องตามพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพุทธสาสนาเถรวาท โดยจัดตั้งเป็นองค์กรวิชาชีพในลักษณะเดียวกับแพทยสภา มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐาน ตรวจสอบ และรับรองคุณภาพการเผยแผ่พระธรรม พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายที่ชัดเจนสำหรับพระภิกษุที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย สอนธรรมวินัยผิดเพี้ยน และอวดอุตริมนุสสธรรม เพื่อธำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์แห่งพระศาสนา​

๒.การปรับปรุงระบบธรรมาภิบาลในระบบบริหารปกครอง
การแก้ไขปัญหาเรื่อง อำนาจของเจ้าอาวาส ที่มีช่องโหว่ เกิดปัญหายักยอกเงินสงฆ์ ขายที่ดินวัด ทุจริตต่างๆ ในปัจจุบันเป็นปัญหาชาวพุทธเสื่อมศรัทธาต่อพระสังฆาธิการ ควรมีกฎหมาย เพิ่มเติมให้สอดคล้องพระธรรมวินัย กำหนดกลไกตรวจสอบการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัด โดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดชอบและความโปร่งใสในการบริหารจัดการวัด การจัดทำบัญชีทรัพย์สิน และการตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน

๓.เรื่องระเบียบการเงิน​ เพื่อแก้ปัญหาความมีอำนาจเบ็ดเสร็จของเจ้าอาวาส และเป็นสาเหตุหลักให้มีการทุจริตมาก ควรให้สอดคล้องกับหลักพระวินัย และควรระบบการประเมินผลงานทุก ๖ เดือน มีการสับเปลี่ยนย้ายเพื่อไม่ให้เกิดความยึดติด​

๔.คุณสมบัติของพระเจ้าอาวาสพระสังฆาธิการ
ควรมีข้อกำหนดให้สอดคล้องกับหลักการของเถรวาท คือเป็นผู้ได้บรรลุธรรม (ตามจาตุมสูตร​ โคปกโมคคัลลานสูตร) มีการกำหนดเกณฑ์เข้มงวด และตรวจสอบความโปรงใส่ด้านบัญชีทรัพย์สินเส้นทางการเงิน โดยหน่วยงานของสงฆ์เฉพาะ​

๕.การกำกับดูแลพุทธพาณิชย์
เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ความเชื่อพระพุทธศาสนามาจัดสร้างพระเครื่องวัตถุมงคล หากินอย่างแพร่หลาย อันก่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนา ควรมีการจัดระบบการจัดเก็บภาษีจากการค้าวัตถุมงคลและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ รวมถึงกำหนดบทลงโทษสำหรับพระภิกษุ/ฆราวาสที่ประกอบเดรัจฉานวิชา ปลุกเสก และทำพุทธพาณิชย์ โดยนำรายได้จากการจัดเก็บภาษี ทั้งการผลิต และจำหน่ายพระเครื่องวัตถุมงคล ซึ่งมีธุรกิจแอบแฝงสร้างรายได้จำนวนปีละหลายหมื่นล้าน ควรมีการจัดเก็บภาษีกลับมาสู่พระพุทธศาสนา สนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร และกิจการพระพุทธศาสนา รวมทั้งสนับสนุนแก่เด็กเยาวชนชาวพุทธที่ขาดโอกาส​

๖. การปฏิรูประบบการศึกษาพระไตรปิฎก
ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรม ให้เน้นการศึกษาพระไตรปิฎกโดยตรง ตามพรบ.พระปริยัติธรรม ๒๕๖๒ มาตรา ๖ ได้ให้คำจำกัดความว่า “การศึกษาพระปริยัติธรรม หมายความว่า การศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก” เพื่อให้พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้ศึกษาพระไตรปิฎก ทั้งนี้ หลักสูตรสนามหลวง ธรรมและบาลี ไม่ได้นำพระไตรปิฎกมาศึกษา จัดการศึกษาอย่างเต็มระบบ คณะสงฆ์ก็ไม่ได้ปรับปรุงหลักสูตรเดิมที่มีให้ศึกษาพระไตรปิฎก จึงเกิดปัญหาชาวพุทธสอนขัดแย้งกันเอง โจมตีกันเอง อันเนื่องมาจากการไม่มีหลักสูตรศึกษาพระไตรปิฎก และเมื่อมีหลักสูตรศึกษาพระไตรปิฎกจะช่วยให้พระพุทธศาสนามั่นคง​ โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันสงฆ์ ธำรงไว้ซึ่งพระธรรมวินัย และส่งเสริมการพัฒนาพระพุทธศาสนาเถรวาท ให้เจริญมั่นคงสืบไป​

๗. การปฏิรูปโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์​
โครงสร้างของคณะสงฆ์ไม่ตอบสนองต่อการทำงานและเปลี่ยนแปลงของสังคม ยังคงใช้โครงสร้างเดิมในยุครัชกาลที่ ๕ ซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์ เช่น หน้าที่ ๖ ด้านของคณะสงฆ์ ควรมีการโครงสร้าง บทบาทหน้าที่องค์กรสงฆ์ใหม่ ให้สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบัน แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพิ่มการมีส่วนร่วมของพุทธบริษัทในการบริหารกิจการพระพุทธศาสนา

๘. การรับรองสถานภาพภิกษุณี​
ขอให้มีกฎหมายรับรองการอุปสมบทภิกษุณี เกิดขึ้น อันสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยสิทธิความเท่าเทียม และหลักพระธรรมวินัย ซึ่งในเรื่องนี้แต่เดิมภิกษุณีสงฆ์สูญสิ้นไปแล้ว จึงมีการตีความพระวินัยว่าไม่อาจบวชภิกษุณีได้อีกเนื่อง จากต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่าย (ตามครุธรรมข้อที่ ๖) ซึ่งเป็นการตีความที่ไม่สอดคล้องกับพุทธานุญาต ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สตรีอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้ โดยในยุคแรกอุปสมบทจากภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียวก่อน แล้วเมื่อมีภิกษุณีสงฆ์จึงบวชจากสงฆ์สองฝ่าย และไม่มีข้อวินัยบัญญัติห้ามบวชภิกษุณี เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีไทยจำนวนมาก ได้มีโอกาส มีสถานะในการประพฤติพรหมจรรย์ ตามพุทธานุญาต และเพื่อฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย อีกทั้งเป็นการมีพุทธบริษัทครบ ๔​ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ซึ่งจะเป็นเสาหลัก ช่วยจรรโลงสืบทอดพระพุทธศาสนา ให้มั่นคงสืบต่อไป

ดังนั้นจึงขอให้ท่านประธาน​โปรดพิจารณาหาทางดำเนินทั้งการแก้ไขกฎหมายด้วยกลไกรัฐสภา​ การประสานหน่วยงานฝ่ายบริหาร​ และการสนับสนุนการดำเนินงานของภาคประชาสังคม​ โดยเฉพาะ​อย่างยิ่ง​ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่อาจจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของคณะสงฆ์และบวรพระพุทธศาสนา​ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง​ทั้งสำนักงาน​พระพุทธศาสนา​แห่งชาติ​ กสทช.​ และหน่วยงานอื่นๆ​ ได้ช่วยกันให้ความรู้ความเข้าใจในการนำเสนอข่าวสารในส่วนที่กระทบต่อความมั่นคงทางพระพุทธศาสนา​ ซึ่งถือว่าเป็นความมั่นคงของชาติด้วยประการหนึ่ง​ จึง​นำกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

Leave a Reply