พระพุทธรูปปางพระเกศธาตุ

ปางพระพุทธรูป คือ ลักษณะของรูปสมมุติของพระพุทธเจ้าในอิริยาบถต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นตามความเชื่อในพุทธประวัติ โดยช่างสมัยโยนก (คันธาระ) ราชวงศ์คุปตะ ระหว่าง พ.ศ.๘๖๓-๑๐๒๓ เป็นชาวกรีกพวกแรกที่กำหนดรูปแบบปางพระพุทธรูป

ต่อมาช่างชาวอินเดียฝ่ายใต้ ซึ่งเป็นชาวกลิงคราฐข้างฝ่ายใต้ รวมทั้งในยุคสมัยต่างๆ ในภายหลังได้คิดปางพระพุทธรูปเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

สมัยคันธาระ (กรีก) มีอยู่ ๙ ปาง คือ

ปางมารวิชัย ปางปฐมเทศนา ปางอุ้มบาตร ปางประทานพร ปางประทานอภัย ปางลีลา ปางมหาปาฏิหาริย์ และปางปรินิพพาน

อินเดียใต้ เมืองมธุร และอมราวดี (อินเดีย) มีอยู่ ๗ ปาง คือ

ปางตรัสรู้ ปางเทศนา ปางทรมานพญาวานร ปางทรมานช้างนาฬาคีรี ปางลีลา ปางมหาปาฏิหาริย์ และปางปรินิพพาน

ลังกา มีอยู่ ๕ ปาง คือ

ปางสมาธิ ปางรำพึง ปางลีลา ปางประทานอภัย และปางปรินิพพาน

สมัยทวาราวดี มีอยู่ ๑๐ ปาง คือ

ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางเทศนา ปางลีลา ปางประทานอภัย ปางประทานพร ปางมหาปาฏิหาริย์ ปางบรรทม ปางโปรดสัตว์ และปางปรินิพพาน

สมัยศรีวิชัย มีอยู่ ๖ ปาง คือ

ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางนาคปรก ปางลีลา ปางประทานอภัย และปางปรินิพพาน

สมัยลพบุรี มีอยู่ ๗ ปาง คือ

ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางนาคปรก ปางลีลา ปางประทานพร ปางประทานอภัย และปางปรินิพพาน

สมัยเชียงแสน มีอยู่ ๑๐ ปาง คือ

ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางถวายเนตร ปางอุ้มบาตร ปางลีลา ปางเปิดโลก ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ปางประทับนั่งห้อยพระบาท ปางประทับยืน และปางไสยา

สมัยสุโขทัย มีอยู่ ๘ ปาง คือ

ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางถวายเนตร ปางประทับยืน ปางประทานพร ปางประทานอภัย ปางลีลา และปางไสยา

สมัยอยุธยา มีอยู่ ๗ ปาง คือ

ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางประทับยืน ปางลีลา ปางป่าเลไลยก์ ปางประทานอภัย และปางไสยา

สมัยรัตนโกสินทร์ มีอยู่ ๖ ปาง คือ

ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางประทานอภัย ปางขอฝน ปางหมอยา และปางไสยา

พระพุทธรูปปางพระเกศธาตุ

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา ยกฝ่าพระหัตถ์ขวาขึ้นแนบพระเศียร เป็นกิริยาเสยพระเกศา

พระพุทธรูปปางนี้ สร้างตามพุทธประวัติที่ว่า

เมื่อเสร็จการเสวยแล้ว ตปุสสะ ภัลลิกะ ทั้งสองพานิชจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ขอถึงพระองค์กับพระธรรมเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองเป็นอุบาสก ในพระพุทธศาสนาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าอวสานแห่งชีวิต

แล้วกราบทูลขอสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งควรแก่การอภิวาทในยามอนุสรณ์ถึงพระมหากรุณาธิคุณในกาลเบื้องหน้าต่อไป

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณา จึงยกพระหัตถ์เบื้องขวาขึ้นลูบพระเศียรเกล้าฯ ได้พระเกศา ๘ เส้น นิยมเรียกว่า “พระเกศธาตุ”

แล้วทรงประทานพระเกศธาตุทั้ง ๘ เส้นนั้น แก่พานิชทั้งสอง ตปุสสะ ภัลลิกะ น้อมรับเกศธาตุทั้ง ๘ องค์ ด้วยความโสมนัสเป็นอันมาก แล้วกราบถวายบังคมลาไป

พานิชทั้งสองนั้น ได้เป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ในเทววาจิกสรณคม คือถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมทั้งสองเป็นสรณะ เพราะเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์บังเกิดขึ้นในโลก

เมื่อพานิชทั้งสองนั้นเดินทางกลับถึงเมืองของตนแล้ว ได้สร้างพระสถูปบรรจุพระเกศธาตุ ทั้ง ๘ เส้น ไว้เป็นที่สักการบูชาของมหาชน.

ข้อมูลจากหนังสือ “ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ” นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถร)

#ปางพระพุทธรูป #ตำนานปางพระพุทธรูป #พระองค์ครู

Leave a Reply