วันที่ 9 ก.ค.2562 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า หลังจากที่หลักสูตรปริญญาโทและเอก สาขาสันติศึกษา มจร ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานศาลยุติธรรม มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เพื่อพัฒนาวิศวกรสันติภาพร่วมกัน จนบัดนี้ได้มีนิสิตจบปริญญาเอกรุ่นแรก จำนวน 22 รูป/คน และมีนิสิตปริญญาโทจบร่วม 100 รูป/คน
วันที่ 8 กรกฏาคม 2562 ที่ผ่านมา ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตที่จบการศึกษาแล้ว จึงได้นำดุษฏีนิพนธ์ไปมอบให้สถาบันพระปกเกล้า โดยมี ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้ให้เกียรติรับการขอบคุณและรับดุษฏีนิพนธ์ไปไว้ในห้องสมุดสถาบันพระปกเกล้า เพื่อให้นักศึกษาหลักสูตรต่างๆ ได้ศึกษาค้นคว้า และต่อยอดองค์ความรู้ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น
หลังจากนั้น บทสนทนาว่าด้วยคนดีหรือคนดีกถาจึงเกิดขึ้น ธรรมสากัจฉาจึงมิได้เป็นเรื่องลับซับซ้อนเพราะคุยพร้อมหน้ากับมวลนิสิตสันติศึกษา ประหนึ่งว่ามุ่งให้คิดและนำไปขยายผลในเชิงการคิด การวืจัย และการปฏิบัติ โดยเฉพาะการเชิญชวนให้มาร่วมกันสร้างหลักสูตรในการพัฒนาคนดีในวิถีนักการเมืองการปกครอง
คำถามคือคนดีในวิถีของพระพุทธศาสนากับคนดีในวิถีการเมืองต่างกันหรือไม่ อย่างไร ผู้ปกครองที่ดีแบบธรรมราชา กับราชาปราชญ์ (Phylosopher King) ที่สถาบันพระปกเกล้าเคยจัดสัมมนาเมื่อหลายปีก่อนยังมีบางมุมที่เหลื่อมกันอยู่ แล้วเราจะนิยามคนดีในสองวิถีอย่างไร เราจะเอาคนดีในวิถีศาสนาว่าน่าจะสามารถมาทำหน้าที่ในวิถีของนักการเมืองที่ดีด้วยได้หรือไม่ แล้วดีแบบไหนจึงจะเหมาะกับการเป็นคนดีในวิถีนักการเมือง
โจทย์เหล่านี้จะให้นักการศาสนาหรือนักการเมืองตอบคนเดียวก็ไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการคำว่า “คนดี” ที่สอดประสานทั้งสองโลก คือ โลกพุทธจักรกับอาณาจักร แล้วหลอมออกมาให้เป็นชุดความแล้วขยายเป็นคู่มือในการพัฒนาคนดีในในวิถีของนักการเมือง หรือการแปรนักการเมืองให้เป็นคนดีในแบบของนักการเมือง อาจจะไม่ใช่การแปลนักเมืองเป็นคนดีแบบนักการศาสนา
“ในฐานะศิษย์เก่า ปปร.15 สถาบันพระปกเกล้า ทุกครั้งที่ได้สนทนาธรรมกับ ศ.วุฒิสาร จึงไม่เคยได้รับโจทย์ง่ายๆ เลย ทุกโจทย์สัมพันธ์กับชุมชน สังคม รวมไปถึงการการเมือง และท่านทั้งท้ายว่า “การเมืองพอเพียง” คือความอยู่รอดของสังคมประเทศชาติ ส่วนตัวคุ้นชินกับเศรษฐพอเพียงมาเนิ่นนาน แต่มาบัดนี้ กลับได้ยินคำว่า “การเมืองพอเพียง” ทำให้ต้องกับมาคิดอีกว่า จะถอดรหัสการเมืองพอเพียงให้สอดประสานกับคนดีในวิถีการเมืองอย่างไร หรือว่านักการเมืองที่ดีจะต้องรู้จักวิถีพอเพียงด้วย การตอบโจทย์เหล่านี้จึงไม่ง่ายที่ใครคนดีจะผูกขาดตอบได้แม้แต่นิดเดียว” ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ระบุ
Leave a Reply