‘คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มศว’ แนะ ‘มจร’ ตั้งศูนย์ตอบประเด็นฮอตกระทบต่อพุทธศาสนา ขณะที่ ‘อธิการบดี มจร’ มุ่งพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวในปี 2563

วันที่ 17 ก.ย.2562 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร.หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ได้มีโอกาสร่วมรับฟังการสัมมนาวิชาการระดับชาติ ภายใต้หัวข้อ “มหาจุฬาฯกับการก้าวสู่มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาระดับโลก” ในวันสถาปนาครบ 132 ปี ของมหาจุฬาฯ เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา

วิทยากรที่ร่วมสัมมนาในครั้งนี้มีรศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะศิษย์เก่ารวมอยู่ด้วย โดยได้เสนอมุมมองให้กับชาวมหาจุฬาฯว่า คนภายนอกมองมหาจุฬาฯว่ามีการพัฒนาที่มีการก้าวกระโดดและชื่นชมมหาจุฬาฯมาก จึงขอเสนอประเด็นทางสังคมว่า มหาจุฬาฯควรมีทีมสื่อสารทางวิชาการให้สังคมรับทราบที่ถูกต้องเมื่อมีประเด็นต่างๆ ทางสังคมอันเป็นประเด็นร้อนที่กระทบต่อพระพุทธศาสนาในมิติต่างๆ เรียกว่า #ศูนย์สื่อสารของมหาจุฬาฯตอบประเด็นทางสังคมให้คำตอบทางสังคมที่ถูกต้องถูกธรรม ซึ่งไม่ใช่ความเห็นส่วนตัวเพียงรูปเดียวซึ่งเห็นในปัจจุบัน เพราะสิ่งที่มหาจุฬาฯมีความเก่งคือบูรณาการศาสตร์สมัยใหม่เข้ากับพระพุทธศาสนา

“การเสนอของ รศ.ดร.ชลวิทย์ นับเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเวลามีประเด็นทางสังคมที่กระทบต่อพระพุทธศาสนา ควรมีการตอบตามหลักทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาแต่ไม่ควรโต้เพื่อจะเอาชนะเท่านั้น ซึ่งจะนำมาก่อให้เกิดการฟ้องร้องได้ ซึ่งในปัจจุบันมีอาจารย์บางท่านมีความหวังดีต่อพระพุทธศาสนา พยายามจะตอบสังคมในประเด็นพระพุทธศาสนาแต่เป็นการตอบเพียงในนามบุคคล ซึ่งขาดพลังและการกลั่นกลองในการสื่อสารออกไป การตอบสังคมจะต้องกระทบธรรมแต่ไม่กระทบคน” พระปราโมทย์ กล่าวและว่า

ดังนั้นขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเพื่อการสื่อสารให้สังคมได้รับทราบ เพราะการเงียบบางครั้งก็ถือว่าเป็นการยอมรับ จึงต้องมีการตอบตามหลักพระไตรปิฏก ตามหลักวิชาการทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้สังคมได้รับทราบต่อไป หวังว่าคงจะเห็นศูนย์ตอบประเด็นทางสังคมที่มีผลกระทบต่อพุทธศาสนาเกิดขึ้นในยุคนี้

อย่างไรก็ตามพระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดี มจร ได้ปาฐกถาเรื่อง “132 ปี เหลียวหลังแลหน้ามหาจุฬา : สืบสาน ต่อยอด รักษา” ในวันดังกล่าว โดยกล่าวตอนสำคัญว่า ปัจจุบันนี้แม้มหาจุฬาฯจะมีจำนวนนิสิตลดลงแต่ไม่เป็นอุปสรรคอย่างใด ซึ่งในอนาคตปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะเข้ามามีบทบาทมนุษย์ แต่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ในการเป็นกัลยาณมิตรและการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งการพัฒนาจิตใจหุ่นยนต์ทำไม่ได้ จึงมีหลักสูตรระยะสั้นต่างๆ เช่น หลักสูตรระดับวุฒิบัตร หลักสูตรประกาศนียบัตร เป็นการนำมาปรับใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์กับบุคคลทุกช่วงวัย มหาจุฬาฯจะต้องทำหลักสูตรระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์บุคคลทุกช่วงวัย ล่าสุดมหาจุฬามีหลักสูตรปริญญาข้ามสถาบัน 2 ปริญญา ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2563 รวมถึงคณะต่างๆ ควรมีหลักสูตรเช่นนี้

การเรียนการสอนในปัจจุบันมีการสอนแบบการ Coaching Active Learning ซึ่งสำนักงานครูพระสอนศีลธรรมทำอยู่แล้ว ควรนำมาพัฒนาการสอนของอาจารย์มหาจุฬาเพื่อนำมาประยุกต์การสอนในยุคปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาห้องเรียนมาตรฐานโดยยกห้อง I Mind ของวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติเป็นต้นแบบ ซึ่งอนาคตเราจะพัฒนาห้องเรียนมาตรฐานทุกคณะ และมีการใช้ร่วมกัน มหาจุฬาฯจึงมีการการผลิตบัณฑิต มีการถ่ายทอดสดใช้เทคโนโลยีมาช่วยเชื่อมโยงการเรียนการสอน

ส่วนการบริหารจัดการองค์กรตามที่มีการจัดตั้งกระทรวงใหม่ โดยมีคำว่าวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นสารสนเทศ ซึ่งมหาจุฬาฯมีฝ่ายไอทีที่รวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อสื่อสารให้คนในมหาจุฬาฯ รับรู้รับทราบ โดยเรามี MCU Network MCU Broadcasting MCU Application เราจะมีการพัฒนาด้านไอทีโดยทั้งส่วนกลางและภูมิภาคอย่างเท่าเทียมกัน

“พร้อมกันนี้เราต้องการพัฒนา MCU Green University เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว เรามีการพัฒนาสวนพุทธเกษตร เพื่อพัฒนาสีเขียว เราพยายามปลูกต้นไม้ให้ครบ 1,250 ต้น เพื่อสอดคล้องกับพระอรหันต์ในวันมาฆบูชา อีก 5 ปีข้างเราจะนึกถึงคนปลูก รวมถึงการจัดการขยะให้เป็นระบบ และนำไปสู่เป็นสถานที่กราบไหว้ ศึกษา ปฏิบัติ เช่น หลวงพ่อพุทธโสธร มีอุโบสถกลางน้ำ พิพิธภัณฑ์พระไตรปิฎก มีสภาพแวดล้อมที่สัปปายะ และ MCU : Regional and International Buddhist University ศูนย์รวมพระพุทธศาสนานานาชาติ เช่น การจัดงานวิสาขบูชาโลก เป็นต้น” อธิการบดี มจร ระบุ

Leave a Reply