สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ร่วมงานครบรอบวันมรณภาพ”หลวงปู่ชา”

       วานนี้  (16 มกราคม 2563) สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นประธานนำพระเถรานุเถระ พระภิกษุสามเณร วัดสาขาในประเทศ จำนวน 346  วัด วัดสาขาต่างประเทศ จำนวน 20  วัด รวม 366 วัด พร้อมอุบาสก อุบาสิกา ศิษยานุศิษย์ สาธุชน รวมจำนวน 11,750 รูป/คน ร่วมปฏิบัติธรรมอาจาริยบูชา ครบรอบวันมรณภาพ ปีที่ 28 ณ วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ชีวประวัติ หลวงปู่ชา

       พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) (17 มิถุนายน พ.ศ. 2461 – 16 มกราคม พ.ศ. 2535) ตรงกับ วันศุกร์ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย ณ บ้านจิกก่อ หมู่ที่ 9 ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อนายมา ช่วงโชติ มารดาชื่อ นางพิมพ์ ช่วงโชติ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน 10 คน

      หลวงปู่ชา สุภทฺโท ขณะมีชีวิตอยู่ท่านได้อุทิศชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พุทธศาสนา ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งบังเกิดผลทำให้ผลงานที่เป็นประโยชน์อเนกอนันต์แก่พระศาสนา ทั้งที่เป็นพระธรรมเทศนา และสำนักปฏิบัติธรรมในนามวัดสาขาวัดหนองป่าพงมากมาย ซึ่งแม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้ว แต่ศิษยานุศิษย์ของท่านก็ยังคงรักษาแนวทางปฏิบัติธรรมที่ท่านได้สั่งสอนไว้จนถึงปัจจุบัน

       เมื่ออายุ 13 ปี หลังจากลาออกจากโรงเรียนประถมศึกษาแล้ว โยมบิดาได้นำไปฝากกับเจ้าอาวาสเพื่อเรียนรู้บุพกิจเบื้องต้นเกี่ยวกับบรรพชาวิธี จึงได้รับอนุญาตให้บรรพชาเป็น สามเณรชา โชติช่วง เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2474 โดยมีท่านพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) อดีตเจ้าอาวาส วัดมณีวนาราม อุบลราชธานี เป็นอุปัชฌาย์สามเณรชา โชติช่วง ได้อยู่จำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรม ตลอดจนอยู่ปฏิบัติครูอาจารย์ เป็นเวลา 3 ปี ได้เอาใจใส่ต่อภารกิจของสามเณรท่องสวดมนต์ ทำวัตร ศึกษาหลักสูตรนักธรรมปฏิบัติพระเถระ แล้วจึงได้ลาสิกขาบทมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา ทั้งนี้ด้วยความจำเป็นของครอบครัวแบบชาวไร่ชาวนาอีสานทั่วไป ด้วยจิตใจที่ใฝ่ในการบวชเรียน จึงสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องอุปสมทบเป็นพระให้ได้ เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ภายหลังเมื่อตกลงกับบิดามารดาและท่านทั้ง 2 ก็อนุญาตแล้วจึงได้ฝากตัวที่วัดก่อในที่ใกล้บ้าน แล้วได้รับอนุญาตให้อุปสมบทได้เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2482 เวลา 13.55 น. ณ พัทธสีมา วัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี

     เมื่อพระชา สุภทฺโท สอบนักธรรมตรีได้แล้ว ก็อยากเรียนให้สูงขึ้นเพราะมีจิตใจรักชอบทางธรรมอยู่แล้ว แต่ขาดครูอาจารย์ในการสอนระดับสูงต่อไป นึกถึงภาษิตอีสานที่ว่า “บ่ออกจากบ้านบ่ฮู้ฮ่อมทางเทียว บ่เฮียนวิชาห่อนสิมีความฮู้” ชีวิตช่วงนี้จะเห็นได้ชัดว่า พระชา สุภทฺโท มุ่งเรียนปริยัติธรรมให้สูงสุด จึงทุ่มเทให้การศึกษาทั้งนักธรรมและบาลี และผ่านสำนักต่างๆ มากมายจนในที่สุดก็สอบนักธรรมได้ครบตามหลักสูตร คือ สอบนักธรรมชั้นโทได้ ในสำนักของ พระครูอรรคธรรมวิจารณ์ สอบนักธรรมชั้นเอกได้ในสำนักวัดบ้านก่อนอกถิ่นเกิด

    หลวงปู่ชา สุภทฺโท ขณะมีชีวิตอยู่ท่านได้อุทิศชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรม และเผยแผ่พุทธศาสนา ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งบังเกิดผลทำให้ผลงานที่เป็นประโยชน์อเนกอนันต์แก่พระศาสนา ทั้งที่เป็นพระธรรมเทศนา และสำนักปฏิบัติธรรม ดังนี้

     1.ธรรมเทศนา สำหรับบรรพชิต, สำหรับคฤหัสถ์, เสียสละเพื่อธรรม, การเข้าสู่หลักธรรม, ธรรมะที่หยั่งรู้ยาก, ธรรมะธรรมชาติ, ปฏิบัติกันเถิด, ธรรมปฏิสันถาร, สองหน้าของสัจธรรม, ปัจฉิมกถา, การฝึกใจ, มรรคสามัคคี, ดวงตาเห็นธรรม, อยู่เพื่ออะไร, เรื่องจิตนี้, น้ำไหลนิ่ง, ธรรมในวินัย, บ้านที่แท้จริง, สัมมาสมาธิ, ขึ้นตรงต่อพระพุทธเจ้า, ความสงบบ่อเกิดปัญญา, พระองค์เดียว, นอกเหตุเหนือผล, สมมตติและวิมุตติ, การทำจิตให้สงบ, ตุจโฉโปฎฐิละ, ดวงตาเห็นธรรม, ทำใจให้เป็นบุญ, ทรงไว้ซึ่งข้อวัตร, เหนือเวทนา, เพียรละกามฉันทะ, ทางพ้นทุกข์, ไม่แน่คืออนิจจัง, โอวาทบางตอน, อ่านใจธรรมชาติ, อยู่กับงูเห่า, สัมมาทิฐิที่เยือกเย็น, มรรคผลไม้พ้นสมัย, นักบวชนักรบ, ธุดงค์ทุกข์ดง, สัมมาปฏิปทา, พึงต่อสู้ความกลัว, กว่าจะเป็นสมณะ, เครื่องอยู่ของบรรพชิต, กุญแจภาวนา, วิมุตติ

    2.สำนักปฏิบัติธรรม มีสำนักปฏิบัติธรรม ในประเทศไทยซึ่งอยู่ทุกภาคของประเทศจำนวนทั้งสิ้น 82 สาขา และในต่างประเทศอีก 7 สาขา และเฉพาะศิษย์ที่เป็นพระชาวต่างประเทศซึ่งอยู่เป็นประธานสงฆ์ผู้มีพรรษาต่ำสุดคือ 16 พรรษา รายนามสาขาในต่างประเทศ มีดังนี้.-

ทวีปยุโรป และ อเมริกา

  1. วัดจิตตวิเวก ประเทศอังกฤษ

  2. วัดอมรวดี ประเทศอังกฤษ

  3. วัดป่าสันติธรรม ประเทศอังกฤษ

  4. วัดรัตนคิรี (ฮาร์นัม) ประเทศอังกฤษ

  5. เดว่อน วิหาร ประเทศอังกฤษ

  6. วัดสันตจิตตรามา ประเทศอิตาลี

  7. วัดธรรมปาละ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

  8. วัดอภัยคิรี สหรัฐอเมริกา

  9. วัดป่านานาชาติ อุบลราชธานี

ทวีปออสเตรเลีย

  1. วัดโพธิญาณ ประเทศออสเตรเลีย

  2. โพธิญาณรามา นิวซีแลนด์

วัดและศูนย์ปฏิบัติธรรมที่เกี่ยวเนื่อง

  1. ศูนย์ปฏิบัติธรรมแม่น้ำแอร์โร่ ประเทศแคนาดา

  2. วัดป่าเบิร์กเคน ประเทศแคนาดา

  3. วัดป่าสันติ ประเทศออสเตรเลีย

  4. อัคแลนด์ วิหาร ประเทศนิวซีแลนด์

              ที่วัดหนองป่าพงยังมีสถานที่พอจะเป็นที่เตือนใจของผู้ประสงค์จะนมัสการและรำลึกถึงท่านคือ พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทฺโท) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมประวัติและผลงานของท่านมารวมไว้ ตลอดจนรูปปั้นขี้ผึ้งของท่าน ที่ผนังพิพิธภัณฑ์ก็ยังมีภาพชีวิตของท่าน ที่ทำจากกระเบื้องดินเผา เมื่อเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แล้วจะให้ทั้งความร่มเย็นศักดิ์สิทธิ์ และปรากฏการณ์เสมือนหนึ่งท่านยังไม่ถึงมรณภาพเลย

         *********************

ภาพ : เฟชบุ๊ค พระมหาวีรพล ธรรมะอารมณ์ดี

ข้อมูล: วิกิพีเดีย

Leave a Reply