ปราสาทเผาศพหรือเมรุลอยชั่วคราว สำหรับถวายพระเพลิงพระศพ/พระบรมศพกษัตริย์ราชวงศ์และพระเถระผู้ใหญ่ เป็นอาคารเรือนยอด (กุฎาคาร) ลักษณะหลังคาซ้อนชั้น ตกแต่งด้วยบันแถลงขนาดลดหลั่นกันไป ยอดปราสาทอาจมี 5 ยอด 7 ยอด หรือ 9 ยอด ตามแต่ฐานันดรกษัตริย์ราชวงศ์หรือพระเถระรูปนั้น ปลายปลียอดประดับลูกแก้วและฉัตร โครงสร้างทำด้วยไม้ แข็งแรงพอสำหรับคนขึ้นได้ครั้งละจำนวนมาก เพดานตลอดจนผนังด้านนอกและหน้าบันประดับด้วยกระดาษอังกฤษตอกลายสอดสลับสี แม้จะใช้เวลาสร้างยาวนานหลายเดือน แต่ภายหลังฌาปนกิจแล้วก็จะทำการเผาปราสาทตั้งศพและโลงไปด้วยกันเพื่ออุทิศให้กับผู้ล่วงลับนั้น
คติความเชื่อมอญและโบราณาจารย์
คติความเชื่อของอานิสงส์แห่งการเผาศพ อาจารย์ “ฟะ” นักปราชญ์มอญ ได้แต่งเรื่องราวรวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ของมอญไว้หลัง พ.ศ.๒๓๑๐ ซึ่งเป็นปีแรกที่กรุงหงสาวดีแตก ใช้เป็นบรรทัดฐานความเชื่อมาจนถึงปัจจุบัน ท่านได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการเผาศพไว้ว่า
๑.บุคคลคนใดทำโลงศพให้วิจิตรงดงามจะได้อานิสงส์ ๑,๐๐๐ ชาติ ๒.บุคคลใดนิมนต์พระสงฆ์มาพิจารณาซากศพ ซึ่งเป็นกรรมฐานจะได้รับอานิสงส์ ๒,๐๐๐ ชาติ และ ๓.เผาศพพระพุทธเจ้าจะได้รับอานิสงส์ไม่มีที่สิ้นสุด
การไปร่วมงานเผาพระเกจิมอญที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็จะได้อานิสงส์ทั้งหลายนั้น จะส่งให้ผู้ที่ไปในการเผาศพสมบูรณ์ไปด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก ไม่ต้องตกอยู่ในอบายมุขใดทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งบางคนก็เชื่อว่า เป็นเพียงอุบายให้คนกระทำแต่ความดีเท่านั้น นรก สวรรค์ ไม่มีจริงแต่ประการใด
นอกจากนี้แล้ว โบราณาจารย์ทั้งหลายได้กล่าวว่า
– ผู้ใดมีจิตเมตตาสงเคราะห์เผาสรีระร่างกายของคนอนาถา ที่มีแต่ร่างกระดูก จะอำนวยผลให้ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ และบริวาร ๘,๐๐๐ กัลป์
– ผู้ใดมีจิตเมตตาสงเคราะห์เผาสรีระร่างกายศพที่ยังมีเลือดเนื้ออยู่ จะอำนวยผลให้ได้รับยศศักดิ์ และบริวาร ๑๐,๐๐๐ กัลป์
– ผู้ใดมีจิตเมตตาสงเคราะห์เผาสรีระร่างกายของคนแก่ชรา จะอำนวยผลได้รับยศศักดิ์ และบริวาร ๔๐,๐๐๐ กัลป์
– ผู้ใดมีจิตเมตตาสงเคราะห์เผาสรีระศพญาติมิตรสหายบุตร จะอำนวยผลให้ได้รับยศศักดิ์ และบริวาร ๘๐,๐๐๐ กัลป์
– ผู้ใดมีจิตเมตตาสงเคราะห์เผาสรีระศพบิดามารดา จะอำนวยให้ได้รับอานิสงส์อันเป็นทิพย์ยศศักดิ์ และบริวาร ๑๐,๐๐๐ กัลป์
– ผู้ใดมีจิตเมตตาสงเคราะห์เผาสรีระร่างกายของพระภิกษุสงฆ์ จะอำนวยผลให้ได้รับยศศักดิ์ และบริวาร ๒๐,๐๐๐ กัลป์
“คติความเชื่ออย่างหนึ่ง ของพุทธศาสนิกชนชาวมอญ คือ คนมอญนิยมไปงานศพมากกว่าที่จะไปงานทอดกฐิน เพราะการเผาศพพระเกจิอาจารย์มอญถือเป็น มหากาลทาน ซึ่งเป็นทานที่ใหญ่กว่า”
ช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่นี้ ท่านใดอยากชมปราสาทเผาศพต้นฉบับแบบมอญและประเพณีเผาศพพระผู้ใหญ่ของชาวมอญ สามารถไปร่วมงานได้ ณ วัดสุธรรมวดี (วัดมอญ) แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร คาดว่าจะมีชาวมอญทั้งมอญเชื้อสายไทยและมอญจากเมืองมอญมาร่วมงานไม่ต่ำกว่า 10,000 คน..
///////////////////
Leave a Reply