“พระพรหมสิทธิ” ต้อนรับประธานองค์กรศาสนาวัดนิตไทจิ ย้ำสัมพันธ์ุแน่นแฟ้นสงฆ์ไทย-ญุี่ปุ่น

วันที่ 11 ธันวาคม 2567 วานนี้ ท่านเอ็นริว มุราคามิ (Enryu Murakami) ประธานองค์กรศาสนาวัดนิตไทจิ (เจ้าอาวาสวัดนิตไทจิ / Nittaiji Temple / 覚王山日泰寺) เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนจากวัดนิตไทจิ เดินทางมาถวายสักการะพระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ณ พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์อันยาวนานของคณะสงฆ์ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดนิตไทจิ เป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2446 และเพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งญี่ปุ่นได้รับแบ่งจากในหลวงรัชกาลที่ 5 (ส่วนเดียวกันกับที่ขุดค้นพบที่ประเทศอินเดีย และประดิษฐาน ณ พระบรมบรรพต เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศ) นิตไทจิ ‘Nittaiji’ จึงเป็นชื่อที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งคำว่า ‘Ni’ มาจากคำว่า Nihon (Japan) ‘TAi’ มาจาก คำว่า Thailand และ ‘Ji’ แปลว่า วัด โดยท่านเอ็นริว เล่าว่าจุดเด่นของวัดนิตไทจิ คือการก้าวข้ามผ่านความเป็นนิกาย ซึ่งวัดญี่ปุ่นมีนิกายหลากหลาย แต่วัดนิตไทจิเป็นวัดแรกและวัดเดียวที่มีพระทุกนิกายในญี่ปุ่นมาอยู่รวมกัน ด้วยศูนย์กลางคือการเคารพในพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน พระทุกรูปทุกนิกายมุ่งตรงต่อพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เป็นแนวคิดที่สะท้อนถึงความร่วมมือและความสามัคคีที่ไร้พรมแดน เหมือนกับที่วัดสระเกศเป็นศูนย์กลางแห่งการเผยแผ่พุทธศาสนาในไทย

ในการพบกันครั้งนี้ พระพรหมสิทธิได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ”พระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ในหลวงรัชกาลที่ 5 เห็นความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องศาสนาระหว่างประเทศ ทรงได้นึกถึงประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศไทย และมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก จึงมีการมอบพระบรมสารีริกธาตุส่วนสำคัญให้กับประเทศญี่ปุ่น ทำให้วัดสระเกศและวัดในประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ยังเคยมีพระญี่ปุ่นมาบวชเรียนรู้วิถีเถรวาทที่วัดสระเกศ แล้วกลับไปเป็นเจ้าวาสโดยใช้แนวทางปฏิบัติที่ได้ศึกษาจากวัดสระเกศเป็นวัตรปฏิบัติด้วย วันนี้ จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่ทั้งสองวัด ของทั้งสองประเทศ ได้ยกระดับความสัมพันธ์ในครั้งนี้ เพราะพวกเราล้วนแล้วแต่เป็นผู้ดูแลรักษาพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดียเหมือนกัน แม้เป็นการพบกันครั้งแรก แต่ก็เหมือนเป็นเพื่อนกันมานาน เพราะสายสัมพันธ์ที่สืบเนื่องยาวนานแต่เดิมนั่นเอง เมื่อทุกท่านได้มาเมืองไทยเมื่อไหร่ ก็ขอให้แวะมาวัดสระเกศ ซึ่งยินดีต้อนรับทุกท่านด้วยความระลึกถึงมิตรภาพเสมอ ”

หลังจากนั้น พระพรหมสิทธิได้ให้คณะสงฆ์วัดสระเกศ นำคณะสงฆ์ญี่ปุ่นขึ้นพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เพื่อกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นส่วนเดียวกันกับที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ประเทศญี่ปุ่น และประดิษฐานอยู่ที่วัดนิตไทจิ

วัดสระเกศและวัดนิตไทจิ ไม่เป็นเพียงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แต่ยังเป็นสะพานแห่งศรัทธาและความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น การพบปะครั้งนี้จึงเป็นการสะท้อนถึงความผูกพันที่ลึกซึ้งของทั้งสองประเทศ ที่ร่วมกันสืบทอดและสร้างสรรค์ความดีงามในแบบพุทธศาสนาให้คงอยู่ตลอดไป และยังแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการเชื่อมโยงผู้คนและวัฒนธรรม

Leave a Reply