‘ไม่รู้จะกินอะไร’! คำพูดประโยคเดียวกัน แต่ความหมายต่างกัน : พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร รายงาน
จริงๆ แล้ว ได้เห็นการส่งภาพและข้อความนี้ไปมาในกลุ่มไลน์ และเฟซบุ๊กมาหลายเดือนแล้ว แต่ก็ได้มองถ้อยคำพร้อมทั้งภาพเหล่านี้ โดยเบื้องลึกของหัวใจก็ได้คิดว่า จะหาโอกาสแสดงความเห็นส่วนตนต่อประเด็นนี้อยู่ บัดนี้ คิดว่าได้เวลาที่เหมาะสมแล้ว จึงถือโอกาสแบ่งปัน ดังนี้
เข้าใจว่า ผู้เขียน หรือผู้นำเสนอพยายามจะจับเอาแพะมาชนแกะ เพื่อนำสถานการณ์หนึ่งไปอธิบายตอกย้ำเพื่อสร้างความรู้สึกไม่ดีกับอีกภาพหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอคติ และมีทัศนคติไม่ดีกับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
ความจริง คือ โยมมาถวายอาหารพระด้วยความศรัทธา มุ่งหวังบุญบารมีที่เกิดจากการได้ทำบุญด้วยวัตถุทาน พระเองก็ฉันได้พออิ่ม แล้วแบ่งปันอาหารบางส่วนให้ญาติโยมได้ทานร่วมกัน เพื่อความสามัคคี และนำอาหารบางส่วนติดมือไปฝากลูกหลานที่บ้าน
ในส่วนของเด็กๆ เอง นั้น จากภาพสามารถอธิบายได้หลายแง่มุม เช่น พ่อแม่อาจจะหย่ากัน หรือพ่อแม่อาจจะไปธุระแดนไกล หรือปู่ย่าตายอาจแก่เฒ่า หรือล้มหายตายจากไป แล้วลูกๆ หลานๆ ต้องดูแลกันเอง
ภาพของเด็กๆ ที่มีความยากลำบาก เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนต้องเข้าไปโอบอุ้ม รวมถึงพระด้วย ซึ่งหลายวัด ก็ได้เข้าไปทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลเพื่อเติมเต็มความหวัง และกำลังใจ
สำหรับพระสงฆ์เองก็ยังคงทำหน้าที่ในการเป็นที่พึ่งทางใจ และนำตาคือปัญญามาแลกกับขาคืออาหารของญาติโยม เพื่อให้มีกำลังกายกำลังใจในการศึกษาพระธรรมวินัย เพื่อเข้าถึงความสุข แล้วพาญาติโยมเข้าถึงความสุขดังกล่าว รวมถึงการสงเคราะห์โยมในมิติต่างๆ
ในสังคมโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีความ “รุนแรงเชิงโครงสร้าง” อันหมายถึง “ความอดอยาก หิวโหย ขาดอาหารคือปัจจัย 4 เพื่อความอยู่รอด” อยู่ทั่วทุกมุมของโลก คำถามคือ เราจะร่วมแบ่งความสุขและความทุกข์ด้านปัจจัย 4 ได้อย่างไร จึงจะทำให้เกิดบรรยากาศทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม
มหาตมะ คานธี กล่าวว่า “ทรัพยากรมีมากเพียงพอสำหรับคนทั้งโลก แต่ไม่เพียงพอสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว” ในขณะที่พระพุทธเจ้าย้ำว่า “โลภเกินก็ลามก” ยังมีอีกหลายภาพที่เราควรนำมาเปรียบในยุควัตถุนิยม และบริโภคนิยม เช่น คนมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
รวมไปถึงคนตัดไม้ทำลายป่า คนทุจริต และแย่งชิงทรัพยากรลูกหลานในอนาคตมาใช้ส่วนตนอย่างสนุกสนาน และสะดวกสบาย คนมุ่งหวังผลผลิตแต่ฉีดสารพิษลงในต้นไม้ และพืชหญ้าจนทำให้ลูกหลานไม่สามารถบริโภคอุปโภคน้ำบริสุทธิ์ จนต้องไปซื้อหาน้ำมาดื่มกิน ทั่งที่ควรดื่มน้ำจากบ่อ เป็นต้น
คำถามคือ เราจะเริ่มต้นอย่างไร?? ในเชิงนโยบายระดับมหัพภาค จำเป็นต้องคุยกันในระดับประเทศ ภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน เพื่อจัดทำแผนที่ความหิวโหย เพื่อศึกษา และค้นหาว่า มีพื้นที่ใด หรือกลุ่มคนใดยังขาดแคลนและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งระดับวิกฤติ ปานกลาง และระยะยาว
ครอบครัวหรือกลุ่มคนใดต้องการเร่งด่วนก็ให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อทุเลาปัญหาไปก่อน แล้วจึงค่อยมาวางแผนในระยะกลางและระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ตั้งแต่ระดับจุลภาค จนถึงมหัพภาค ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชนจนถึงนโยบายระดับประเทศ
ต้องยอมรับว่า ทุกชุมชน และสังคมในภาพรวม ยังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่มีความอดอยากและหิวโหย ซึ่งได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง และขาดโอกาสในการเช้าถึงการรับบริการด้านสุขภาพ การศึกษา เศรษฐกิจ และด้านปัจจัย 4 เราจึงควรมาร่วมกันหาทางออกภายใต้อำนาจหน้าที่ที่เราสามารถช่วยเหลือได้ตามศักยภาพ
การออกมาเปรียบเทียบการสร้างเตียงโรงพยาบาลกับการสร้างโบสถ์ก็ดี การเปรียบเทียบอาหารของพระที่โยมมาถวายด้วยศรัทธาและเจตนาที่ดีงาม กับเด็กๆ ที่กำลังหุงหาอาหารก็ดี รังแต่จะนำไปสร้างความเกลียดชัง และตอกย้ำให้เกิดอคติกับพระสงฆ์ในสังคมไทย จนกลายเป็นการเขียน และพูดจาด่าทอในลักษณะ Hate Speech อย่างไม่จบสิ้น
เรามาร่วมสร้างสังคมแห่งความความรัก สังคมที่เน้น “สาธารณโภคี” เน้นการแบ่งปันปัจจัยการดำรงชีวิตให้ #ทั่วถึง #เท่าเทียม และ #เป็นธรรม ร่วมกันต่อต้านสังคมบาปที่เห็นแก่ตัวอย่างรุนแรง เน้นวัตถุนิยมและบริโภคนิยมเพื่อประโยชน์ส่วนตนอย่างสุดขั่วโดยไม่สนว่าลูกหลาน และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จะประสบความหายนะอย่างไร
Leave a Reply