เจ้าคุณเสียดายแดด ตั้งคำถาม ติดโซลาร์เซลล์ต้องขออนุญาตกับเจ้าของดวงอาทิตย์ – ไฟฟ้าเป็นเจ้าของดวงอาทิตย์หรือ?

วันที่ 5 กันยายน 2565  พระปัญญาวชิรโมลี หรือ “เจ้าคุณเสียดายแดด”  เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โพสต์เดือด หลังมีหนังสือจากการไฟฟ้าฟ้าส่วนภูมิภาคถึงทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ว่า

ใครที่จะติดตั้งหรือติดตั้งโซลาร์เซลล์ต้องขออนุญาตจากการไฟฟ้า เพราะการไฟฟ้าเป็นเจ้าของดวงอาทิตย์หรือ?

เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนสำหรับผู้ที่สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์แต่ช่างบางรายที่มาติดตั้งก็จะไม่แนะนำไม่ให้ขออนุญาตด้วยเหตุหลายอย่างประมาณว่า 1) บ้านไม่มีแบบก่อสร้าง 2)ทีมติดตั้งไม่มีคนเขียนแบบ 3) ทีมติดตั้งไม่มีวิศวกรเขียนแบบและรับรองแบบไฟฟ้า 4) ทีมติดตั้งเสียเวลาเดินเอกสาร  5)แต่เหตุผลที่สำคัญเลยคือเจ้าของบ้านอยากได้ราคาถูก ทางร้านก็กลัวไม่ได้งานจึงหาอุปกรณ์เกรดต่ำไม่ผ่านการทดสอบจากการไฟฟ้ามาติดตั้งเพื่อลดราคาเอางานมาทำ

ข้อเท็จจริงที่ต้องขออนุญาตการไฟฟ้าในการติดตั้งโซลาร์เซลล์คือ

1) เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ไฟฟ้าเอง เช่นการติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด โอกาสเกิดเพลิงไหม้บ้านที่ติดตั้งมีสูง และจะให้ใครรับผิดชอบกรณีนี้ ยิ่งไม่ขออนุญาตช่างที่มาติดตั้งก็สบายไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

2) การติดตั้งโซลาร์เซลล์มี 2 แบบหลัก ๆคือ ออนกริด กับ อ๊อฟกริดหรือ Stand alone ซึ่งเป็นแบบอยู่เดี่ยว ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับสายส่งของการไฟฟ้ามีแบตเตอรี่เก็บประจุไฟฟ้าไว้ใช้เองเช่นในป่าในเขา ตามเกาะต่าง ๆ หรือไฟฉายโซลาร์เซลล์ โคมไฟโซลาร์เซลล์ติดตั้งได้เลยไม่ต้องขออนุญาต ถ้าเป็นระบบออนกริดคือใช้ร่วมกับสายส่งของการไฟฟ้าไม่มีแบตเตอรี่เก็บเวลามีแดดก็แปลงมาเป็นพลังงานไฟฟ้าทันทีจะพอบ้างไม่พอบ้างก็ไม่ได้กังวลเพราะอินเวอร์เตอร์จะทำการจัดการให้เราเองเช่นบ้านใช้ไฟ 100 หน่วย ติดตั้งระบบผลิต 100 หน่วย เมื่อแดดจ้าเต็มที่ก็จะจ่ายมาเต็ม 100 หน่วย มิเตอร์จะหยุดหมุนทันที แต่ถ้าแดดอ่อนผลิตได้ 60 หน่วย อินเวอร์เตอร์ก็จะดึงไฟจากกริดหรือสายส่งมาช่วยจ่ายอีก 40 หน่วยให้เพียงพอต่อการใช้คือ 100 หน่วย อันนี้ต้องขออนุญาต

3) ถ้าผลิตได้ 100 หน่วย แต่ไม่มีการใช้งานไฟจะย้อนเข้าไปในรับบสายส่งทำให้มิเตอร์หมุนกลับ ทำให้แรงดันในสายส่งยกสูงขึ้น ปกติจะมีไฟ 230 โวลท์ แต่อินเวอร์เตอร์บางรุ่นจ่ายออก 245 โวลท์ แถมไม่มีการใช้งานอาจจะถึง 250 โวลท์ ไฟที่ส่งออกนี้จะมีผลกับเครื่องใช้ไฟฟ้าบ้านอื่นด้วยถ้าโวลท์สูงเกิดเครื่องใช้ไฟฟ้าบ้านอื่นก็พังด้วย จึงมีขอกำหนดกริดโค้ดออกมา หรือบังคับให้เป็น Zero Export ซึ่งต้องให้เจ้าหน้าที่ กกพ. และการไฟฟ้ามาตรวจสอบหลังการติดตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องความปลอดภัยล้วน ๆ

4) กรณีออนกริดที่ไม่ขออนุญาต หรือที่เรียกว่าแอบกริด คือไม่ให้เจ้าหน้าที่เห็นหรือตรวจเจอซึ่งบางที่ไปทำให้วัดแล้วไม่ขออนุญาตบางทีเจ้าอาวาสหรือพระเองจะผิดทางวินัยสงฆ์ด้วยเพราะมิเตอร์หมุนกลับคือเจตนาให้ค่าไฟลดลงแม้จะไม่เป็นการลักขโมยหรือฉ้อโกง แต่เป็นไปด้วยความไม่บริสุทธิ์ ในต่างประเทศเรียกว่าโซล่าร์กองโจร

กรณีปล่อยไฟย้อนเพื่อหมุนมิเตอร์กลับนี้ถ้าอินเวอร์เตอร์ไม่ได้มาตรฐานการตัดระบบเมื่อไฟดับ ซึ่งระเบียบการขนานจะแจ้งว่าเมื่อไฟฟ้าจากสายส่งหรือกริดดับลง อินเวอร์เตอร์จะต้องปิดตัวลงภายในเวลาที่กำหนดเช่น 0.01 วินาทีเป็นต้น เพื่อป้องกันไฟเข้าไปในสายส่งกรณีมีช่างไปซ่อมบำรุงอาจไม่ทันระวังเพราะคิดว่าการไฟฟ้าดับไฟแล้ว

5) การไฟฟ้ามี 3 การคือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง รับไฟขากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมาขายให้กับประชาชน และจะโดนประชาชนด่ามากที่สุด ความจริงแล้วการไฟฟ้าทั้ง 3 การไม่ได้มีหน้าที่อนุญาตให้ติดหรือไม่ติด เพียงแต่มาตรวจสอบการติดตั้งเป็นไปตามข้อกำหนด มาตรฐานความปลอดภัยต่อระบบ ต่อบุคคล หรือด้านอื่น ๆ เท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะให้ติดตั้งได้ไม่ได้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้ตรวจสอบ ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่เกี่ยวข้องกับการการติดตั้งหรือไม่ติดตั้งโซลาร์เซลล์

รายละเอียดมีมากกว่านี้ แต่ที่เขียนมาก็ยาวแล้วเดี๋ยวจะไม่มีคนอ่าน หากมีข้อสงสัยหรือมีคำถามเพิ่มเติมโปรดติดต่อทีมงานช่างขอข้าว บทความนี้เน้นไปที่การติดตั้งตามบ้านพักอาศัย แต่ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมก็จะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย

ถ้าอ่านจบแล้วค่อยแสดงความคิดเห็น

ขอบคุณที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้

เอวัง

Leave a Reply