หนุน “สันติศึกษา มจร” พัฒนาหลักสูตร อบรมพระใช้สื่อออนไลน์ส่งเสริมสันติสุข

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2563 พระสุวรรณเมธาภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เป็นประธานในการโฟกัสกรุ๊ปดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกหลักสูตรสันติศึกษา มจร เรื่อง “กระบวนการสื่อสารออนไลน์เพื่อส่งเสริมสันติภาพของพระสงฆ์ผ่านเฟซบุ๊กโดยพุทธสันติวิธี” ของนายสำราญ สมพงษ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองเว็บไซต์บ้านเมือง นิสิต โดยมีวัตถุประสงฆ์ เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการสื่อสารออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กของพระสงฆ์ไทยในยุคปัจจุบัน เพื่อศึกษากระบวนการการสื่อสารออนไลน์ตามแนววิทยาการสมัยใหม่และพุทธสันติวิธี และเพื่อนำเสนอกระบวนการสื่อสารออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กเพื่อส่งเสริมสันติภาพของพระสงฆ์โดยพุทธสันติวิธี

พระสุวรรณเมธาภรณ์ มองว่า ปัจจุบันนี้การสื่อสารออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กของพระสงฆ์และสามเณรที่มีอายุพรรษน้อยที่ยังไม่ผ่านมาอบรมนั้นยังมีพฤติกรรมเลียนแบบฆราวาสวิสัย รวมถึงมีจิตไม่บริสุทธิ์มีเจตนาแอบแฝงโดยไม่แสดงตัวตนที่แท้จริง ไม่รู้จักวิเคราะห์ข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนว่ามีความสำคัญมากน้อยเพียงใดเมื่อรับสารมาแล้วก็ตัดสินใจเพียงเสี้ยววินาทีแล้วก็แชร์ออกไป หรือตรวจสอบข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์อย่างเช่นแชร์ข่าวหรือข้อมูลเกี่ยวกับการเมือง ความขัดแย้งทางศาสนา นับว่าไม่เหมาะสมส่งผลให้ผู้รับสารจิตตกหรือทำร้ายจิตใจได้ พร้อมกันนี้ยังชอบตัดสินคนอื่นซึ่งพระสงฆ์ไม่ควรที่จะมีพฤติกรรมเช่นนี้

“ยุคปัจจุบันนี้การใช้สื่อสารออนไลน์นั้นมีทั้งคุณและโทษมาก ดังนั้น ควรส่งเสริมให้พระสงฆ์ใช้สื่อสารออนไลน์อย่างถูกต้องเกิดประโยชน์ โดยมีวิธีการรู้จักประยุกต์หลักธรรมเพื่อส่งเสริมสันติภาพเกิดสันติสุขต่อสังคม เช่นส่งเสริมให้พระสงฆ์รู้จักสร้างสื่อธรรมวันละเล็กละน้อย อาจทำเป็นเรื่องเล่าสั้นๆ เป็นการเติมธรรมะวันละนิดจิตแจ่มใสได้” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร กล่าวและว่า

การสื่อสารออนไลน์เพื่อส่งเสริมสันติภาพของพระสงฆ์นี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ทางหลักสูตรสันติศึกษา มจร ควรพัฒนาเป็นหลักสูตรอบรมพระสงฆ์ให้รู้จักใช้สื่อออนไลน์ในการส่งเสริมสันติภาพให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระรุ่นใหม่ แม้จะต้องใช้เวลานานก็ต้องทำหรือเริ่มได้ก็จะเป็นการดี โดยกำหนดไว้ในนโยบายของมหาวิทยาลัยเพราะจะเป็นการส่งเสริมให้พระสงฆ์ไทยคิดบวกมองบวก รู้จักวิเคราะห์เป็น ยึดหลักปิยวาจา และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่สื่อสารออกไปแล้วจะไม่ทำร้ายต่อผู้รับสารหรือไม่ทำร้ายซ้ำเติมสังคม และรู้จักวิเคราะห์สถานการณ์หากเห็นว่าไปซ้ายไปขวาไม่ได้ก็จะเป็นกลางเป็นอย่างดี

พระสุวรรณเมธาภรณ์ กล่าวด้วยว่า ขอชื่นชมดุษฎีนิพนธ์เรื่องการสื่อสารออนไลน์เพื่อส่งเสริมสันติภาพของพระสงฆ์ผ่านเฟซบุ๊กนี้ จะเป็นการส่งเสริมการห้ความรู้กับสังคมที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบกับทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามที่พระพุทธเจ้าได้สอนมานานแล้วว่า เพราะเปลี่ยนแปลงจึงเกิดการพลัดพรากและการพลัดพรากนี้เกิดขึ้นทุกวินาที และโดยปกติแล้วมนุษย์ชอบจำอดีตที่เป็นภาพนิ่งและคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นตลอดไปแต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น พร้อมกันนี้ยังชอบโทษคนอื่นว่ามีการเปลี่ยนแปลงทั้งๆที่ตัวเองก็เปลี่ยนแปลงด้วย ถ้ามองเช่นนี้สังคมจึงจะอยู่ได้ ดังนั้น ผู้วิจัยจงเก็บเอาเพชรจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้่วนำไปปรับปรุงแล้วสู่ขั้นตอนของการประชาพิจารณ์ต่อไป

ทางด้านรศ.ดร.โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นด้วยว่า การสื่อสารออนไลน์เพื่อส่งเสริมสันติภาพของพระสงฆ์ผ่านเฟซบุ๊กนั้นเนื้อหาควรมีลักษณะเน้นพุทธสุภาษิตคำสอนสั้นโดยนำมาเรียบเรียบใหม่เป็นเชิงประยุกต์เตือนสติให้กับสังคม ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็ควรที่จะพัฒนาทักษะการใช้สื่อออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น

Leave a Reply