นายกฯอิ๊งค์ ชวนคนไทยสักการะ “พระเขี้ยวแก้ว” วันที่ 4 ธ.ค.67-14 ก.พ.68 ณ ท้องสนามหลวง

วันที่ 29 พ.ย.2567 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร ) ว่า รัฐบาลขอประชาสัมพันธ์การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในประเทศไทย เป็นการชั่วคราวเนื่องในโอกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา6 รอบ72 พรรษา และเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีนโดยผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมขบวนอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว ได้ในวันที่ 4 ธ.ค.2567 ตลอดเส้นทาง และประชาชนสามารถสักการะพระเขี้ยวแก้วในระหว่างวันที่ 5 ธ.ค.67-14 ก.พ. 2568

พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทาฐธาตุ คือ พระทันตธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวของพระพุทธเจ้า จัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น ซึ่งตามพระไตรปิฎกภาษาบาลี กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ 32 ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า “เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์”

ข้อมูลนี้จึงทำให้เชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4 องค์ ประกอบด้วย พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ แล้วถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน) พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ ต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน ประเทศจีน (ซีอาน) โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบันพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และพระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค

วัดหลิงกวงสร้างขึ้นในรัชศกต้าลี่ (ค.ศ. 766 – 779) ราชวงศ์ถัง ต่อมามีการสร้างพระเจดีย์เจาเซียนและในปี ค.ศ. 1071 ได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐาน ต่อมาพระเจดีย์เจาเซียนถูกทำลายจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในปี ค.ศ. 1900 ถัดมาปี ค.ศ. 1901คณะสงฆ์ค้นพบกล่องศิลาบรรจุพระเขี้ยวแก้ว เวลาต่อมาปี ค.ศ. 1957 มีการบูรณะพระเจดีย์และพุทธสมาคมจีนได้ริเริ่มการสร้างพระเจดีย์ใหม่กระทั่งแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1964 และอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐานไว้ภายในพระสถูปทองคำประดับอัญมณีในพระเจดีย์ ณ วัดหลิงกวง ซึ่งพระเขี้ยวแก้วองค์นี้มีความยาวประมาณ 1 นิ้ว และเชื่อกันว่าผู้ที่มองเห็นองค์พระเขี้ยวแก้วจะเห็นสีต่างกันตามกรรมส่วนบุคคล

กำหนดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ประดิษฐานที่มณฑปท้องสนามหลวง ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา 18.00 น. โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และมีสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งกรรมการมหาเถรสมาคมมอบหมาย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

ทั้งนี้ ในวันดังกล่าว เวลา 17.00 น. รัฐบาลได้จัดให้มีริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จำนวน 19 ริ้วขบวน จากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ไปยังท้องสนามหลวง ในส่วนของการจัดงาน ได้จัดให้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 5 โซน ประกอบด้วย

โซนที่ 1 “ดับขันธปรินิพพาน มกุฎพันธนเจดียสถาน” นำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติในการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จปรินิพพาน โดยเน้นในช่วงพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

โซนที่ 2 “พุทธะบารมีพระสรีระธาตุ” นำเสนอเรื่องราวประวัติของพระสรีระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก

โซนที่ 3 “พระเขี้ยวแก้ว” นำเสนอเรื่องราวประวัติ ความสำคัญ และความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ(พระเขี้ยวแก้ว)

โซนที่ 4 “ใต้ร่มเศวตฉัตร ทศมรัช พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยที่ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกและมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา สืบสานราชประเพณีสืบเนื่องมาจนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

โซนที่ 5 “ความสัมพันธ์ ไทย-จีน” นำเสนอเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญที่สร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนในด้านต่าง ๆ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ส่งเสริมคำว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

ในโอกาสนี้ ได้เปิดให้ประชาชนเข้าสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2567 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 กำหนดเวลาตั้งแต่ 07.00 – 20.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมดอกไม้สักการะสำหรับประชาชน จึงขอเชิญชวนประชาชนกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเวลาดังกล่าวต่อไป

Leave a Reply