เยือนอำเภอเชียงของ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”  ใช้อัตลักษณ์สร้างรายได้สู่ชุมชน ตอน 2

อำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เป็นโครงการของกระทรวงมหาดไทยที่ “ปลัดเก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยรับนโยบายมาจากรัฐบาลในการขับเคลื่อนเพื่อให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขมีกินมีใช้ โดยตั้งอยู่บนฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการขับเคลื่อนในหลากหลายมิติทั้งเรื่องการส่งเสริมอาชีพ เรื่องซ่อมสร้างบ้านให้กับผู้ยากจน เรื่องการบริหารจัดการน้ำ สิ่งแวดล้อม  หรือแม้กระทั้งการส่งเสริมปลูกผักสวนครัว บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง โครงการโคก หนอง นา เป็นต้น

การลงพื้นที่ของ “ทีมข่าวพิเศษ” ทำให้รู้ว่าบทบาท “ข้าราชการ” ยุคใหม่โดยเฉพาะ “นายอำเภอ” ในฐานะนายกรัฐมนตรีในพื้นที่ ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก หมดยุคข้อครหา “เช้าชาม เย็นชาม” เป็นนักปกครอง นักบริหารไม่พอ จะต้องเป็น “มือประสานสิบทิศ” ต้องเป็น “นักการตลาด-นักพีอาร์” ด้วย เพื่อให้คนรู้จักท้องถิ่น สิ่งของดี ๆ ที่มีอยู่ในอำเภอของตนเองด้วย และรวมทั้งต้องไป “อบรมเรียนรู้” เพื่อทำงาน “มวลชน” สร้างเครือข่ายตามศูนย์ฝึกอบรมต่าง ๆ ของ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย อย่างน้อย 5 วัน 4 คืน ภายใต้หลักสูตรที่กำหนดโดยกระทรวงมหาดไทย หลักสูตรการอบรม การปฎิบัติ นอกจากคล้ายสร้างจิตสำนึกให้ตระหนึกถึงความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ให้เรียนนรู้วิธีทำงานกับภาคีเครือข่ายและให้ เข้าถึงประชาชนประเภทให้นั่งอยู่ใน “หัวใจ” ด้วย

ข้าราชการในภูมิภาคสังกัดกระทรวงมหาดไทยยุคนี้ “ทีมข่าวพิเศษ” ได้ยินเสียงสะท้อนทั้งจาก พระสงฆ์ – แกนนำชุมชนและประชาชนจำนวนมาก บอกตรงกันว่า “พึ่งได้ดีกว่านักการเมือง” เข้าถึงประชาชนมากกว่านักการเมือง!!

“ทีมข่าวพิเศษ” ดูงานการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของนายอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย 2 วันเต็ม ภายใต้การนำของ “ไกด์กิตติมศักดิ์” เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน  ซึ่งตอนที่แล้วได้พาไปดูการสร้างอาชีพโดยใช้ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ของดี ประจำตำบลในการ “ส่งเสริมอาชีพ” สร้างอาชีพทั้งเรื่อง ไม้ไผ่และหวาย ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพระสงฆ์นายอำเภอและเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน เล่าว่า ถือว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการ “ดึงมวลชน” และสร้าง “กิจกรรม” ของชุมชน เพราะวัดเป็น “ศูนย์กลาง” ของชุมชนในขณะเดียวกัน “เจ้าอาวาส” ก็เป็นที่เคารพและศรัทธาของประชาชน การขับเคลื่อนจึงทำได้ง่ายเมื่อมีพระภิกษุสงฆ์เข้ามาร่วม

“พระครูสุจิณวรคุณ”  เจ้าอาวาสวัดท่าข้ามศรีดอนชัย  เจ้าคณะตำบลศรีดอนชัย เขต 1  อ. เชียงของ จ.เชียงราย หนึ่งในแกนนำของคณะสงฆ์ นอกจากทำงานด้านศาสนาเรื่องการสอนหนังสือโรงเรียนพระปริยัติธรรม จัดบวชสร้างศาสนทายาทแล้ว ท่านยังบอกว่า  งานสาธารณะสงเคราะห์ งานช่วยเหลือชุมชน แท้จริงแล้วคณะสงฆ์ก็ทำกันมานานแล้ว บางคนที่ไม่รู้ก็บอกว่า “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” เพราะเวลาที่พระไม่มีกิน โยมช่วย แต่เวลาโยมลำบากพระจะไม่เข้าไปช่วยได้อย่างไร พระบางท่านก็มีพลัง มีบารมีก็สามารถช่วยเหลือญาติโยมได้เยอะ

“ในส่วนของอาตมาก็ได้ทำสาธารณะสงเคราะห์ด้วย โดยใช้ชื่อว่า “โครงการปันน้ำใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นศูนย์ปันน้ำใจ ที่มีผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ตกทุกข์ได้ยาก คนลำบาก ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ โครงการนี้ก็จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โครงการนี้ก็ได้จับมือกับภาครัฐ ตอนนี้อำเภอก็ให้การส่งเสริมด้านการประชาสัมพันธ์ พระทุกวัดก็ให้ความช่วยเหลือร่วมกัน..”

 “ท่านพระครู” ยังเล่าต่ออีกว่า ด้วยความช่วยเหลือร่วมมือกันแบบนี้ทำให้เห็นภาพความเข้มแข็งของชุมชน หน่วยงานภาครัฐก็ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่คณะสงฆ์ในฐานะที่เป็นที่พึ่งทางด้านจิตใจของคนในชุมชนก็ต้องให้ความร่วมมือที่ดี เมื่อคณะสงฆ์เข้าไปร่วมด้วยก็จะได้ทั้งปัจจัย สิ่งของ และจิตใจสร้างกำลังใจได้ด้วย

 “ทางกระทรวงมหาดไทย ได้มีโครงการที่ช่วยเหลือประชาชน ชื่อว่าโครงการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แต่คนที่จะทำงานนี้ต้องไปเข้ารับการอบรมก่อน อาตมาก็เล็งเห็นว่ามันเป็นเรื่องของ “บวร” จึงได้เข้าไปร่วมการอบรมด้วย อำเภอละ 10 คน ตอนนี้ก็ได้เสนอในส่วนของอำเภอเชียงของ ก็มีจุดเด่นด้านหวาย ไผ่ ผ้าทอ ชุมชนนี้เป็นชุมชนไทลื้อ ซึ่งมีอัตลักษณ์พิเศษในเรื่องผ้าทอไทลื้อ อาตมาได้ทำเรื่อง “จุลกฐิน”ที่เกี่ยวกับผู้ทอ ซึ่งชาวไทลื้อจะทอผ้าเป็นกันทั้งหมู่บ้าน เบื้องต้นนี้ไม่ใช่ว่าจะทำกฐินเพื่อถวายพระอย่างเดียว แต่มองภาพรวมว่าต้องการให้ผ้าทอไทลื้อนั้นเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ คือ 1.สืบสานประเพณี ในการนี้ได้จัดกิจกรรมฟื้นฟู พัฒนา ปรับปรุง ชาวไทลื้อ และเครือข่ายทั้งจังหวัดมาจัดรวมที่วัดนี้  2.สืบศรีสมัย เราอยากให้มีกิจกรรมส่งต่อรุ่นต่อรุ่น ให้คนรุ่นเก่าได้ส่งต่อความรู้ ภูมิปัญญาให้คนรุ่นใหม่ได้สานต่อ  3.สืบสานพระธรรมวินัย กฐินนั้นเป็นวินัยของสงฆ์ จึงจัดกิจกรรมเพื่อให้ร็ถึงความสำคัญของการจัดกฐิน และ 4.สืบสายสัมพันธ์ ชุมชนจะอยู่ได้ เราต้องมีเครือข่ายที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามสโลแกนของท่านปลัดกระทวงมหาดไทย..”

“ทีมงาน” สังเกตว่าภายในวัดมีการ “ปลูกฝ้าย” ไว้สำหรับทอผ้าด้วย ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชนบอกว่า ท่านเจ้าอาวาสที่นี่เก่งมาก งานจุลกฐินมีคนมาร่วมงานหลายพันคนมีทั้งไทลื้อ ม้ง แม้ว มากันหมดเพราะท่านถือว่าเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนเรื่องการทอผ้าที่นี้ และท่านทำจริงจังมาก แม้แต่ปลัดกระทรวงมหาดไทย “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ”ก็เคยมาร่วมงาน เพื่อให้เห็นภาพในทางปฎิบัติ “ไกด์กิตติมศักดิ์” จากกรมการพัฒนาชุมชนขอพาลงพื้นที่ซึ่งอยู่ค่อนข้างห่างไกลจากวัดท่าข้ามศรีดอนชัย  โดยต้องย้อนกลับไปตัวอำเภอเมืองเชียงของและขับรถลัดเลาะไปตามริมแม่น้ำโขง ผ่านสวนส้ม แปลงเกษตรและสวนยางพาราซึ่งตอนนี้มีใบแก่สีแดงและกำลังจะร่วงรอผลิใบใหม่ตลอดทาง

“อรปวีย์ ธรรมวงศ์” บ้านหาดบ้าย ต.ริมโขง อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย บอกว่า ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นชุมชนที่นี้ทอผ้าใช้กันเอง การทอผ้าถือว่าเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นชุมชนบ้านหาดป้าย เป็นชุมชนบ้านไทลื้อ ปู่ยาตายายย้ายถิ่นฐานมาจากสิบสองปันนามาตั้งรกรากกันที่นี้ ชุมชนบ้านหาดป้ายมีประมาณ 100 หลังคาเรือน มีหลายหลังคาเรือนที่มีการอนุรักษ์และทำลายขึ้นมาใหม่เพื่อที่จะดึงเด็กรุ่นใหม่ให้เกิดความสสนใจและช่วยกันสานต่อ แต่เด็กรุ่นใหม่ยังมีจำนวนน้อยที่สานต่อในเรื่องผ้าทอนี้อย่างจริงจัง“แม่สอนให้เริ่มทอผ้ามาตั้งแต่เด็กๆ ทอผ้า ผลิตภัณฑ์ของเราในทุกวันนี้ต่อยอดมาจากป้าสุขาวดี ซึ่งเป็นผู้นำแม่บ้านรุ่นบุกเบิก พอมาถึงรุ่นปัจจุบันก็ยังคงสานต่อ แต่ได้พัฒนาในการขึ้นลายใหม่ เล่นโทนสีให้มีความแตกต่างจากเดิม ปรับให้เหมาะกับยุคสมัยใหม่ ให้มีความทันสมัยแต่ยังคงอัตลักษณ์เดิมไว้  ตอนนี้กรมการพัฒนาชุมชนยกให้เราเป็น OTOP ระดับ 5 ดาว ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ เพราะราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากขบวนการผลิตเริ่มต้นมาจากการนำฝ้ายมาทำเป็นเส้น ขึ้นเส้นยืน จากนั้นต้องย้อมสีและเก็บลาย เสร็จแล้วจึงสามารถนำมาทอเป็นผืนได้ ขบวนการขั้นตอนการผลิตนั้นต้องทำมืออย่างเดียวเลย จึงทำให้มีต้นทุนที่สูง..”

เริ่มแรกเราเห็นว่าคนรุ่นใหม่เลิกทอผ้าเนื่องจากไม่มีตลาด เราจึงได้เข้ามาช่วยเรื่องการตลาด มีการรวมตัวประมาณ 20 คนที่ยังคงทอผ้าเป็นอาชีพเสริม เน้นการผลิตแบบพรีออเดอร์ และตลาดทางโลกออนไลน์ ซึ่งช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำรายได้เป็นอย่างดีให้กับเรา ซึ่งเรื่องการประชาสัมพันธ์ทางอำเภอเชียงของโดยกรมการพัฒนาชุมชนช่วยเราได้เป็นอย่างดีและอีกหลายหน่วยงาน หลังจากพูดคุยเสร็จ ““อรปวีย์ ธรรมวงศ์” ได้พาไปดูพื้นที่ขนาด 3 ไร่ที่กำลังปลูกฝ้ายเพื่อเก็บทอผ้า  “เม็ดฝ้ายแปลงนี้ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งท่านได้มาเป็นประธาน “จุลกฐิน” ปี2565 วัดบ้านหาดบ้าย ที่จัดงานแบบวิถีชีวิตชาวบ้าน เพราะสานต่อมาทุกปีจากบรรพบุรุษ ท่านปลัดให้เมล็ดพันธุ์ฝ้ายสีเขียวมาซึ่งเราไม่เคยเห็นเลย จึงได้ปลูกพันธุ์ฝ้ายนี้ในพื้นที่ 3 ไร่ จะช่วยทำให้ชุมชนมีความเป็นระบบมากขึ้น จากนั้นก็จะเกิดความยั่งยืน อยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้เข้าอบรมการวางระบบในการทำกิจกรรมในชุมชน ให้มีการวางคนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ทุกวันนี้คนเดียวทำหน้าที่ทุกอย่างก็จะไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนได้ อยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยในเรื่องการวางระบบ..”

ส่วน “ยิ้มหวาน” วิไลพร แซ่ย้า คนรุ่นใหม่ชาวม้ง เดิมทำงานอยู่กรุงเทพมหานครหลังจากเจอ “วิกฤติชีวิต” กลับไปบ้านเกิด สนใจทำผลิตภัณฑ์ทอผ้า และทำงานร่วมกับชุมชนไทลื้อ บอกว่า เราสองชุมชนทำงานร่วมกัน ทางลื้อจะทอผ้า แล้วนำมาให้ทางม้งปัก ซึ่งเราก็มีรูปแบบและอัตลักษณ์เป็นของเราเอง เรามีแบรด์เป็นของเรา ร่วมกันทำ ส่งออกขายให้กับชุมชนม้งในต่างประเทศและภายในประเทศ

“ตอนนี้มีการรวมกลุ่มประมาณ 15 คนแต่ยังไม่ได้มีผลงานออกมา เมื่อก่อนมีรวมกลุ่มกันปักเยอะ สมัยนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากมีเครื่องจักรเป็นตัวช่วย งานทำด้วยมือไม่ค่อยมี ทุกวันนี้งานแบบนี้หายากขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำอยากที่จะนำงานเหล่านี้มาออกแบบใหม่เพื่อให้เป็นงานของเราอย่างแท้จริงและได้ชักชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ มาร่วมกัน ในงานของกลุ่มนั้นยังไม่มีงานผลิตออกมา แต่ส่วนตัวแล้วมีงานทำนี้จำหน่ายขายทั้งในและต่างประเทศ มีการส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งช่องทางการขายคือการทำออนไลน์ กลุ่มเป้าหมายก็คือกลุ่มคนม้ง ม้งสหรัฐอเมริกา ม้งลาวและม้งไทย  ตอนนี้ยังติดปัญหาเรื่องอาคารสถานที่ กำลังทำเรื่องขอเครื่องจักรจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทางกรมการพัฒนาชุมชนรับปากว่าช่วยดูแลเรื่องนี้ ซึ่งจากการทำทอผ้านี้มา 1 ปี ช่วยให้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม ไม่ได้รวยแต่พอกินพอใช้ ส่งน้องเรียน เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้  มีความสุขกว่าอยู่ในเมืองหลวงมาก..”

ชุมชนบ้านบ้าย การทอผ้าไทลื้อมิได้มีเฉพาะของ อรปวีย์ ธรรมวงศ์ เท่านั้น เมื่อขับรถตะเวนดูรอบหมู่บ้านมีวิสาหกิจชุมชนและโรงเรือนทอผ้าหลายแห่งจึงไม่แปลกใจ ผ้าทอมือถูกยกให้เป็นหนึ่งในของดีประจำอำเภอเชียงของที่มีอัตลักษณ์และรูปแบบเฉพาะตัว

สุดท้ายที่พลาดไม่ได้คือการไปดูแปลง โคก หนอง นา ที่ “บูม” มาตั้งแต่ “ปลัดเก่ง” ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนในการสร้างอาชีพเศรษฐกิจฐานรากให้กับประชาชนแบบพออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น ตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นของในหลวงองค์รัชกาลที่ 9  ซึ่งในอำเภอเชียงของมีแปลงโคกหนองนาอยู่หลายแปลง ที่ได้รับงบสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน อย่างแปลงตัวอย่างที่เราไปดู คือ แปลง โคก หนอง นา ของ

“บรรจง ทะไชย” อายุ 57 ปี อดีตข้าราชการตำรวจรับราชการทำงานอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายปี ลาออกมาประกอบอาชีพทำสวนแบบผสมผสานตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บอกว่า

เริ่มเข้าโครงการโคก หนอง นา ปี 2564 ในพื้นที่ 3 ไร่ เริ่มต้นการเตรียมพื้นที่โดยการขุดบ่อ และได้รับมอบในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 มีความสนใจในโครงการนี้มานานมากแล้ว แต่ยังไม่มีหลักการ ไม่มีองค์ความรู้ ทำตามแนวคิดของตนเอง ทั้งที่ไม่เข้าใจหลักธรรมชาติ อยากปลูกอะไรก็ปลูก แต่หลังจากที่ได้เข้าการอบรมหลักสูตรกสิกรรมธรรมชาติจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติดอยอินทรีย์ 5วัน 4 คืน และหลักสูตรกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง 6 วัน 5 คืน เอาองค์ความรู้จากการอบรมมาพัฒนาพื้นที่ของตนเอง ในพื้นที่นั้นได้ทำตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ โดยการสร้างฐาน 4 พ คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น โดยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกป่า 5 ระดับ รายได้รายวันมาจากการเลี้ยงด้วงมะพร้าวในกะละมัง ซึ่งราคาอยู่ที่ 200 -250 บาทต่อ กก. และพืชผักสวนครัว รายสัปดาห์ มีหอยขม เฉลี่ยอาทิตย์ละ 10 กิโล กิโลละ 50 บาท รายได้รายเดือนจะเป็นพวกมะพร้าว ผลไม้ตามฤดูกาล ลองกอง ลำไย ผักหวาน อนาคตอยากให้เป็นป่าเห็ดธรรมชาติ ผมจึงปลูกไม้สูงพวกยางนา ผักหวานป่าจะเก็บได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ไปจนถึงฤดูฝน ส่งขายให้แม่ค้ากิโลละ 80-100 บาท ในด้านการตลาดไม่มีเรื่องน่ากังวลเพราะพอมีผลผลิตออกมาก็จะมีแม่ค้ามารับ ในพื้นที่เป็นเกษตรอินทรีย์ 100% ไม่ใช้สารเคมีเลย ซึ่งได้ทำปุ๋ยหมักเองโดยใช้ขี้ไก่ ผสมกับวัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ ในฐานะที่เคยประกอบอาชีพตำรวจ แต่ตอนนี้หันมาทำเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ร่ำรวยแต่มีความสุข มีอยู่มีกิน ถ้าเราออกไปหาเงิน เราก็ต้องหาซื้ออาหารกินเหมือนเดิม แต่เราหันมาอาหารกินเองแบบปลอดภัย เป็นนายของตัวเอง อยากหยุดเมื่อไหร่ก็หยุดได้สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นทำเกษตรนี้ อันดับแรกต้องถามตัวเองก่อน ถ้าหากมีใจรักก็สามารถที่จะฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ และต้องเข้าใจหลักธรรมชาติ เจ้าของพื้นที่จะรู้ดีกว่าคนอื่น จะสามารถพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้

 “งบที่ทำตรงนี้ได้รับการสนับสนุนจาก พช. อันดับแรกคือแหล่งน้ำ ขุดบ่อพื้นที่ 3 ไร่ ขุด2บ่อและคลองไส้ไก่ งบประมาณอยู่ที่ 104,000 บาท จากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลา ผมทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อความยั่งยืน ก็ยังมีความต้องการการสนับสนุนพลังสะอาด โซล่าเซลล์และปั๊มน้ำ  ในฐานะที่เป็นภาคีเครือข่าย ก็อยากให้ชุมชนมีความมั่งคั่ง ยั่งยืน ชุมชนเข้มแข็ง ขับเคลื่อนโคก หนอง นา ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบเป็นศูนย์เรียนรู้แก้ปัญหาความยากจน เป็นศูนย์จิตอาสาพัฒนาของอำเภอ เป็นครูพาทำประจำอำเภอเชียงของ..”

บรรจง ทะไชย  พาเดินทั่วบริเวณแปลงโคกหนองนา ซึ่งภายในแปลงปลูกพืชแบบผสมผสาน พร้อมทั้งแนะนำวิธีเลี้ยงผึ้ง ซึ่งมีมากกว่า 40 ลัง สอนวิธีเลี้ยงด้วงมะพร้าวที่สร้างได้รายให้เขาเป็นอย่างดี ตลาดต้องการมากไม่พอขาย ในขณะเดียวกันบอกความฝันของตนเองว่า ต้องการให้สถานที่ตรงนี้เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่ออบรมสอนให้คนที่สนใจให้พึ่งตนเองได้ อยากเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เขาเชื่อมั่นว่ามันคือ ทางรอด มิใช่ทางเลือก เมื่อลงมือทำแล้วจะรู้ว่า ความสุขแบบยั่งยืนที่แท้จริง เป็นอย่างไร

โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ถือว่าเป็นผลงานชิ้น “โบว์แดง” ของรัฐบาลที่ถูกกล่าวขานว่าเข้าถึงครัวเรือนประชาชนได้มากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยผู้รับนโยบายขับเคลื่อนและป้อนระบบองค์ความรู้พร้อมทั้งกระจายงบประมาณลงชุมชนครัวเรือนโดยตรงคือ “ปลัดเก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีนโยบายน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริงเพื่อให้ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประการแรกผู้ที่เข้าร่วมโครงการโคกหนองนา จะต้องผ่านการอบรมองค์ความรู้ตามหลักปรัชญาพอเพียงแล้วจึงลงมือปฎิบัติ ทำให้ปัจจุบันแปลงโคกหนองนา กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัดมากกว่า 3 หมื่นแปลง เกิดครัวเรือนต้นแบบไม่ต่ำกว่า 3  หมื่นครัวเรือน มีแปลงศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ 337 ตำบลใน 73 จังหวัด ทำให้เกิดพื้นที่ป่าสีเขียวไม่ต่ำกว่า 10 ล้านต้น ในยุคที่ประเทศไทยเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ผลผลิตจากแปลงโคก หนอง นา ตอบโจทย์ด้านอาหารและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี

การลงพื้นที่ทุกครั้งของ “ทีมข่าวพิเศษ” ประชาชนมักถามอยู่เสมอว่าเมื่อไรรัฐบาลจะมีงบประมาณให้ประชาชนทำแปลงโคก หนอง นา อีกครั้งเหมือนกับยุคที่ “ปลัดเก่ง” นั่งเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน??

Leave a Reply