เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนงานกิจกรรมวันดินโลก โดยมี รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร คณะกรรมการ/คณะทำงานขับเคลื่อนงานกิจกรรมวันดินโลก ปี 2565 (WSDA 2022) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ทั้งหน่วยงานระดับกรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ณ ห้อง Warroom อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งการประชุมในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการขับเคลื่อนกิจกรรมการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกพื้นที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และคุณค่าของทรัพยากรดิน เนื่องในโอกาสวันดินโลก (5 ธันวาคมของทุกปี) ภายใต้แนวคิด Soils, where food begins. หรือ อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน โดยที่ประชุมได้กำชับให้คณะทำงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดิน ผ่านการพัฒนาคนในทุกพื้นที่ด้วยกลไกการทำงานของกระทรวงมหาดไทย และกลไก 3 ระดับ 5 กลไก และ 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ
ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย ได้ไปร่วมประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) ณ ห้องประชุม ESCAP Hall ชั้น 2 ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร โดยมีคุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ผู้แทนสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เข้าร่วมในพิธี และต่อมากระทรวงมหาดไทยได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดินเนื่องในโอกาสวันดินโลก เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงงานตลอดพระชนม์ชีพและพระราชปณิธานของพระองค์ ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนนับล้านผ่านการจัดการดินอย่างยั่งยืน
ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า วันนี้ได้รับรายงานความก้าวหน้าและสถานะการดำเนินงานจากคณะทำงานทั้ง 3 ด้าน ที่มีความตั้งใจมาร่วมมือร่วมใจกันอยากจะ Change for Good เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานดำเนินงานวางแผนและออกแบบกิจกรรม นำโดยนายปกครอง ศรีขาว รองประธานคณะทำงานฯ คณะทำงานสื่อสารสังคม นำโดย นายณัฐวุฒิ กุสุโมทย์ รองประธานคณะทำงานฯ และคณะทำงานบริหารข้อมูลและประเมินผล นำโดย ดร.ประภาพรรณ วุ่นสุข รองประธานคณะทำงานฯ โดยได้หารือถึงแนวทางในการขับเคลื่อนการรณรงค์ด้านทรัพยากรดิน ตลอดทั้งปี โดยจะดำเนินการผ่านโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และกิจกรรมงานสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ (Outreach) ในทุกพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้ และความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ และฟื้นฟู เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เสริมสร้างความมั่นคงในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับดิน เช่น การบริหารจัดการลุ่มน้ำ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ผ่านโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” เป็นต้น
รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในโลกยุคปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร มีการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ หรือสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างการรับรู้ให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายได้ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรดินอย่างรู้คุณค่ามากยิ่งขึ้น โดยเนื้อหา (Contents) ที่กระทรวงมหาดไทยตั้งใจจะสื่อสารนี้ จะเป็นเชิงสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ก่อให้เกิดการรักและหวงแหนทรัพยากรดิน และมีความรักที่อยากจะส่งต่อไปสู่รุ่นลูกหลานของเรา ได้มีโอกาสกินอาหารดี ๆ ที่เกิดจากดินที่มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ เป็นอาหารที่ปลอดสารพิษ พร้อมเสริมสร้างผลผลิตทางการเกษตรทั้งนำไปขายในตลาดระดับต่าง ๆ รวมถึงเป็นปัจจัยการผลิตขั้นปฐมภูมิที่มีคุณภาพ เพื่อนำไปต่อยอดเข้าสู่กระบวนการผลิตในภาคธุรกิจ การแปรรูปเป็นสินค้าทุติยภูมิ และภาคอุตสาหกรรมการส่ง – ออก เพื่อเป็นรากฐานความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ
ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร เปิดเผยว่า คณะทำงานบริหารข้อมูลและประเมินผล ได้กำหนดช่วงในการจัดกิจกรรม แบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก ระหว่างวันที่ 16 ก.ย. 65 – 30 ก.ย. 66 มีการปรับปรุงระบบและบริหารข้อมูลให้สามารใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และรายงานผลเป็นประจำทุกเดือน พร้อมนำเข้าข้อมูลรูปภาพของกิจกรรม สู่ระบบ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) อย่างต่อเนื่อง ช่วงที่สองระหว่างวันที่ 1 – 15 ธ.ค. 65 ได้มีการศึกษาคู่มือของ และจัดทำเป็นคู่มือการทำงาน FAO พร้อมทั้งพัฒนาระบบ MOI War Room ระบบประเมินผลความตระหนักรู้และความตระหนักในเรื่องของดิน และระบบการรายงานผล เพื่อช่วยให้ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการประกอบการตัดสินใจ ช่วงต่อมาระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. 66 จัดกิจกรรมการรณรงค์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี และ ช่วงสุดท้ายระหว่างวันที่ 1 – 30 ก.ค. 66 เป็นช่วงจัดทำรายงานประเมินผลการดำเนินงานทั้งหมด ในรูปแบบภาษาอังกฤษ เพื่อส่งให้ FAO นำไปประเมินผลเพื่อเสนอขอรับรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award ซึ่งจะรับรางวัลในวันที่ 5 ธ.ค. 66 ซึ่งในระหว่างนี้ได้มีการมอบหมายให้จัดทำแบบประเมินความคิดเห็น เพื่อเร่งนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการประมวลผล และขับเคลื่อนกิจกรรมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
Leave a Reply