เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 พระปลัดสรวิชญ์ อภิปญฺโญ,ผศ.ดร. หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ปีการศึกษา 2566 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลย ได้สนับสนุนให้ดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง โคกหนองนาโมเดล : การจัดการเรียนรู้แบบบ้านเรียนระดับประถมศึกษา (KOK NONG NHA MODEL : HOMESCHOOLING FOR ELEMENTARY EDUCATION) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างชุดนวัตกรรมการเรียนรู้โดยใช้โครงการโคกหนองนาเป็นฐานการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาเพื่อป้องกันช่องว่างทางการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID 19 และโรคร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยได้รับความเมตตาจาก พระพิพัฒน์วชิโรภาส(เจ้าคุณโคกหนองนา) ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ และเจ้าอาวาสวัดวังอ้อ จังหวัดอุบลราชธานี ให้แนวคิดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการฯ ว่า ปัจจุบันชาวนารอทำนาเพียงปีละหนึ่งครั้งและไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตด้วยตนเองได้ ประการที่สองเรื่องสุขภาพของชาวนามีปัญหาอันเกิดจากการใช้สารเคมีที่มากับอาหารทุกชนิดส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ และประการที่สาม การประสบเรื่องภัยพิบัติ น้ำท่วม ภัยแร้ง และโรคระบาดต่างๆ แนวคิดสำหรับการทำโคกหนองนาเพื่อกระตุ้นความคิดเชิงบวกที่เป็นสินทรัพย์ทางจิตวิญญาณของเรามนุษย์เพื่อรับมือกับสถานการ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นและเป็นอุปสรรค์ต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพให้กับคนไทยและคนทั่วโลก ที่ผ่านมาโคกหนองนาทำหน้าที่ผลิตแหล่งอาหารส่งไปให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID
พระพิพัฒน์วชิโรภาส กล่าวต่อว่า คนในสังคมทุกวันนี้แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติแต่ไม่ได้สร้างทดแทน วันหนึ่งถ้าต้นไม้ท่อนสุดท้ายถูกตัดไป แม่น้ำสายสุดท้ายหายไป อาหารคำสุดท้ายกินหมดไป ถึงเรามีเงินมากมายก็ใช้ไม่ได้ กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มอนุรักษ์ รักษาดิน สายน้ำ ป่า สร้างธรรมชาติทดแทนให้เกิดความสมดุลกับการดำเนินชีวิตของมวลมนุษยชาติ” เราต้องช่วยกันถ่ายทอดแนวคิดที่ถูกต้องให้กลับนักเรียนหรือคนในสังคมต่อไป
ขณะเดี่ยวกัน ดร.บุญฟ้า ลิ้มวัธนา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังอ้อ(ยอดสังข์วิทยา) กล่าวว่า โรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาบูรณาการกับแหล่งเรียนรู้ที่โรงเรียนสร้างขึ้นและเครือข่ายโคกหนองนาเพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพของแต่ละกัน มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบผ่านการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนโดยการมีส่วนร่วมของครูประจำชั้นช่วยกันวิเคราะห์ และสังเคราะห์องค์ความรู้จากโคกหนองนา โดยได้จัดทำเป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีตัวชี้วัดและผลการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาระดับประถมศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
“จากการลงพื้นที่วิจัยครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการนำไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประมวล สรุป เพื่อนำไปจัดทำเป็นหลักสูตรนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาโดยใช้โคกหนองนาเป็นฐาน ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้เหมาะสมกับบริบทและศักยภาพของสถานศึกษาที่เป็นกลุ่มเป้าหมายต่อไป” พระปลัดสรวิชญ์ อภิปญฺโญ,ผศ.ดร. กล่าว.
Leave a Reply