เสนอกระบวนการสื่อสารเพื่อสันติ คนไทยฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19ไปด้วยกัน : ดร.สำราญ สมพงษ์ ดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรสันติศึกษา มจร รายงาน
ตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ได้มีการวิพากษ์เกี่ยวกับการสื่อสารของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งนายกรัฐมนตรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชนทั้งสื่อหลัก สื่อใหม่ และสื่อพลเมือง ผ่านทางสื่อออนไลน์ รวมถึงการสื่อสารของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้สัมภาษณ์ถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ถูกวิจารณ์ทางสื่อออนไลน์ว่าเป็นการสื่อสารที่ไม่สร้างขวัญกำลังใจ
จนทำให้นายอนุทินออกมาขอโทษว่าเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด ไม่ได้มีเจตนาจะตำหนิ หรือต่อว่า เพราะรู้ว่าทุกคนทำงานหนัก และเสี่ยงชีวิต อยู่แล้ว แต่ที่ตำหนิคือบุคลากรทางการแพทย์ที่ไปติดเชื้อมาจากการไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงแล้วติดเชื้อ แต่ยังมาทำงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆ ต้องถูกกักตัว เสียกำลัง ขาดบุคลากรที่จะมาทำงานให้ประชาชนไปด้วย
ต้องยอมรับว่าการระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่เป็นเหตุการณ์ปกติแต่เป็นเหตุการณ์วิกฤติ ดังนั้นการสื่อสารจะต้องมีความพิเศษกว่าการสื่อสารยามปกติ อย่างเช่นเหตุการณ์ความรุนแรงกลางเมืองที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่ผ่าน มาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 30 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้มีการจัดเวทีถอดบทเรียน และผู้เขียนได้ประมวลรวมถึงความเห็นจาก ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำมาประกอบในเนื้อหาการทำดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “กระบวนการสื่อสารออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กเพื่อส่งเสริมสันติภาพของพระสงฆ์โดยพุทธสันติวิธี” หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และผ่านการอนุมัติจากคณบดีเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา
โดยเฉพาะเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาการสื่อสารจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19ได้ ความว่า
1.ผู้ส่งสาร ต้องมีความเป็นมืออาชีพหรือมือโปร ต้องมีคุณสมบัติที่มีทัศนคติที่ประกอบด้วยสติรู้เท่าทัน มีปัญญาสูงมากที่สามารถสามารถตัดสินใจปฎิบัติการในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนสูงและซับซ้อนมากมีทักษะพิเศษคือทำข่าวเชิงข้อมูลเชิงสืบสวนสอบสวน(investigative) หรือเชิงโยนิโสมนสิการมีความสามารถคัดเลือกประเด็นที่ควรนำเสนอ ทำหน้าที่ไม่ก้าวล่วงการละเมิดการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของ
เน้นการทำงานเป็นทีมโดยกองบรรณาธิการที่ทำหน้าที่อยู่เบื้องหลังควรป้อนข้อมูลให้ผู้สื่อข่าวภาคสนาม โดยต้องมีคลังข้อมูล (database) มีเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล โดยทีมกองบรรณาธิการข้างในควรจะให้ความสำคัญอย่างมากกับการวางตำแหน่งการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานมากขึ้น เพราะนักข่าวภาคสนามไม่ได้ใช้โสตประสาทแค่ตาเห็นแล้วหูได้ยิน นักข่าวจะต้องใช้ปัญญาสติที่ไตร่ตรองอย่างมาก แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องอาศัยประสบการณ์ด้วย แต่ว่าลองไปดูสินักข่าวภาคสนามหลายคน ก็เป็นนักข่าวที่ประสบการณ์น้อย เคยผ่านเหตุการณ์วิกฤติมากันบ้างไหม ดังนั้นเรามองว่าการทำงานต้องทำงานเป็นทีม เพราะบางทีกองหนุนข้างในก็ใจร้าย ผลักนักข่าวตัวเองลงสนามเพื่อลงไปเจอกับวิกฤติ
นำทีมนักจิตวิทยาเข้ามามีส่วนร่วมเป็นที่ปรึกษาออกแบบกระบวนการสื่อสารทั้งๆที่มีความความจำเป็น ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ควรจะมีมุมพักพิงเวลาที่ผู้ที่ถูกกักขังอยู่สามารถออกมาจากห้างด้วยเช่นกันเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะปล่อยตัวกลับบ้านและสื่อมวลชนไม่เข้าไปถามความรู้สึกและนำเสนอภาพของผู้ที่ถูกกักขังเหล่านี้ เพื่อจะตอกย้ำความรู้สึกที่ผ่านมาอีกแล้ว
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องจริงจังและชัดเจนในการกำกับรวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้รู้จัดอบรม ปรับปรุงระบบความปลอดภัยในการป้องกันอาวุธร้ายแรงและอาวุธสงครามรวมถึงทบทวนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…ซึ่งได้เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาและผ่านความเห็นชอบแล้ว
ตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ ( National Data Center) ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ด้านการสื่อสารยามเกิดภาวะวิกฤตินำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยคัดกรองข้อความเนื้อหาอันเป็นเท็จ และสถานการศึกษาต้องปรับหลักสูตรทางด้านวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์เน้นเนื้อหาที่ใช้ประโยชน์เท่านั้น พร้อมเรียนรู้ศาสตร์อื่นด้วยเพื่อเป็นการเสริมทักษะ
2.เนื้อหา การรายงานเนื้อหาต้องมีลักษณะของการรายงานข่าวเชิงข้อมูล(data journalism) ที่ให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เตือนภัย ต้องให้ความรู้ ให้ข้อเท็จจริง ให้คนรู้เท่าทันสถานการณ์ ไว้เป็นข้อมูลสำหรับช่วยในเวลาเกิดวิกฤติ ในการอุดช่องโหว่ลดช่องว่างของข้อมูลข่าวสาร การรายงานต้องมีเนื้อหาครบตามทฤษฎี 5W1H คือจะเน้นที่ 5W ไม่เพียงพอ เนื้อหาที่ไม่เป็นการตอกย้ำในเหตุการณ์แต่ควรเป็นเนื้อหาที่เน้นความถูกต้องมากกว่าถูกใจ
ทั้งนี้มีการเก็บข้อมูลพบว่าเนื้อหาจากเฟซบุ๊กได้รับความนิยมเป็นอันดับสองโดยได้แสดงความเห็นอกเห็นใจกันมีเป้าหมายเดียวกันเพื่อให้สังคมดีขึ้น ประกอบกับหลังจากเดือน พฤษภาคม พ.ศ.2563 นี้เป็นต้นไป ก็จะมีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะคุ้มครองการนำวีดิโอจากช่องทางออนไลน์เหล่านี้ไปเสนอเป็นสื่อออนไลน์ แล้วทำให้ผู้ที่อยู่ในวิดิโอเสื่อมเสีย ผู้ที่เสียหายก็สามารถฟ้องร้องต่อสื่อออนไลน์ที่ทำหน้าที่ได้ โดยจะมีการลงโทษกันในต่างกรณีเช่นเอาไปโพสต์ทั้งเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ ผู้เสียหายก็จะสามารถฟ้องร้องได้ทั้ง 2 ช่องทางคือเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ช่องทางละ 5 แสนบาทเป็นต้นจะเป็นการเพิ่มระดับให้สื่อออนไลน์ได้มีความรับผิดชอบมากกว่านี้ และจะเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อป้องกันและกำกับไม่ให้ใครก็ไม่รู้แต่มาอ้างตัวว่าจะเปิดสื่อออนไลน์ได้
และจากบทคัดย่อขงอการทำดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ของผู้เขียนนั้น ได้ตั้งวัตถุประสงค์ ประการแรกเพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาการสื่อสารออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กของพระสงฆ์ไทยในยุคปัจจุบันและกระบวนการสื่อสารเพื่อสันติภาพประการที่สอง เพื่อศึกษาพุทธสันติวิธีที่ส่งเสริมกระบวนการการสื่อสารออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กของพระสงฆ์ไทยประการที่สาม เพื่อนำเสนอกระบวนการการสื่อสารออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กเพื่อส่งเสริมสันติภาพของพระสงฆ์โดยพุทธสันติวิธีโดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพเน้นการค้นคว้าเอกสารและการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้านพระพุทธศาสนาและพุทธสันติวิธี นักวิชาการด้านสันติวิธี นักวิชาการด้านสังคม และนักสื่อสารมวลชน
โดยผลการศึกษาวิจัย พบว่า ประการแรกสภาพปัญหาการสื่อสารออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กของพระสงฆ์ไทยในยุคปัจจุบันขัดต่อหลักวาจาสุภาษิตเจือด้วยเฟกนิวส์ ใช้คำส่อเสียดก่อให้เกิดความเกลียดชัง ใช้วาจาเชือดเฉือนคำหยาบโพสต์ไร้ค่าเลียนแบบฆราวาสวิสัยสาเหตุเกิดจากขาดสติไม่ปรับทัศนคติกรอบความคิดเท่าทันสถานการณ์ ไม่เปลี่ยนแปลงแสวงหาองค์ความรู้รองรับสื่อใหม่ ไม่ปรับทักษะประกอบเนื้อหาโดนใจให้เหมาะกาลเครือข่ายไม่ประสานพัฒนาการทำงานเป็นภาพรวม จึงมีความจำเป็นที่พระสงฆ์ไทยต้องปรับทัศนคติแสวงหาองค์ความรู้ใหม่อย่างเช่นทฤษฎีการสื่อสารพื้นฐานSMCR ของเดวิด เค. เบอร์โล (David K.Berlo) เป็นเครื่องมือ
พร้อมบูรณาการกับทฤษฎีการสื่อสารเพื่อสันติภาพของโยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) ทฤษฎีการสื่อสารเพื่อสันติของมาร์แชล โรเซนเบิร์ก (Marshall Rosenberg) ที่ระบุถึงมีหลักธรรมว่าด้วยกรุณา ขันติธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติของพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารผ่านเฟซบุ๊ก ใช้หลักการวิเคราะห์สังเกตก่อนตัดสินข้อมูลตามข้อเท็จริง ตามความรู้สึก เกิดประโยชน์ตรงตามความต้องการแล้วประกอบสารมีเนื้อหาที่จริง ประสานประโยชน์ ตามลักษณณะ “4N” การสื่อสารเพื่อสันติภาพ และ “NVC”คือ การสื่อสารเพื่อสันติ สามารถสร้างสติสุขให้กับผู้รับสาร หลังจากนั้นส่งสารในช่องทางคือเฟซบุ๊กในเวลาที่เหมาะสม และทุกขั้นตอนไร้อคติ ถึงจะเกิดสติสุขสากลต่อสังคม เฉกเช่น พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธัมมจิตโต) กรรมการมหาเถรสมาคม ที่เป็นพระผู้เป็นต้นแบบพระผู้นำพระมหาหรรษา ธฺมมหาโสพระผู้เป็นต้นแบบพระสงฆ์สร้างกระบวนการพระปราโมทย์ วาทโกวิโท พระผู้เป็นต้นแบบสร้างทักษะ และพระเมธีวชิโรดม(วุฒิชัย วชิรเมธี) พระผู้เป็นต้นแบบพระสงฆ์สร้างเครือข่ายสงฆ์ส่งสารสื่อสติสุขสากล
ประการที่สอง หลักพุทธวิธีเสริมคือหลักวาจาสุภาษิต สนับสนุนการประกอบสารให้มีเนื้อหาที่จริง ไพเราะ เหมาะกาล ประสานประโยชน์ โดยมีสติเป็นแห่งปัญญาและเมตตากรุณาสากล ถึงจะเกิดสันติสุขต่อสังคม
ประการที่สาม กระบวนการการสื่อสารออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กเพื่อส่งเสริมสันติภาพของพระสงฆ์โดยพุทธสันติวิธี ภายใต้กรอบทฤษฎีการสื่อสาร SMCR ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 พระสงฆ์ในฐานะผู้ส่งสาร (S) ต้องมีคุณสมบัติคือ สติ เมตตากรุณาต่อคนอื่น โยนิโสมนสิการ มีขันติเคารพความเห็นต่าง
ขั้นตอนที่ 2 ดำเนินการวิเคราะห์ประเมินผู้รับสาร (R) มีสติรู้เท่าทัน ยึดหลักตามหลัก NVC สังเกต ความรู้สึก ความต้องการ มีศรัทธา
ขั้นตอนที่ 3 ประกอบสาร (M) ดูเนื้อสารใหัมีองค์ประกอบตามหลักวาจาสุภาษิตคือ จริง ไพเราะ เหมาะกาล ประสานผลประโยชน์ ตามหลักการสื่อสารเพื่อสันติภาพ และตามหลักการสื่อสารเพื่อสันติ
ขั้นตอนที่ 4 ออกแบบเนื้อหา(M) เรียบเรียงให้สั้น กระชับ มีน้ำหนักเหมาะกับการเป็นสื่อสารสันติภาพตามรูปแบบของเฟซบุ๊ก
ขั้นตอนที่ 5 ผู้ส่งสาร (S) ตัดสินใจส่งสาร(M)ผ่านเฟซบุ๊ก ในเวลาที่เหมาะสมและลักษณะเชิงขอร้อง
ทั้งนี้ต้องตรวจสอบกับตัวเองตลอดเวลาว่าขั้นตอนต่างๆนั้นมีสติอยู่หรือไม่ มีอคติหรือไม่ มีความรักเมตตาหรือไม่ จะเป็นวงจรอยู่เช่นนี้ และมีการทวนกลับจากผู้รับสารไปสู่ผู้ส่งสารเป็นการสื่อสารสองทาง จึงจะทำให้การสื่อสารออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กเพื่อส่งเสริมสันติภาพของพระสงฆ์โดยพุทธสันติวิธีก็จะเข้าลักษณะสงฆ์ส่งสารสื่อสติสุขสากล
จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการวิจัยของดุษฎีนิพนธ์ในครั้งนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดการสื่อสารเพื่อสันติกับทุกคนที่ประสบภาววิกฤติไวรัสโควิด19 อยู่ขณะนี้ เพื่อช่วยให้คนไทยจะผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน
Leave a Reply