อาจารย์มธ.แนะ 3 แนวพัฒนา “บัณฑิตวิทยาลัย มจร” ควรเน้นสร้างศาสนทายาทสานสัมพันธ์กับชุมชน

“บัณฑิตวิทยาลัย มจร” จัดโครงการสัมมนาร่วมกับศูนย์บัณฑิตวิทยาลัยภายในประเทศ “ทิศทางแผนพัฒนาบัณฑิตวิทยาลัย” เรื่อง”บทบาทของบัณฑิตศึกษาในยุคดิจิทัล”
“รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร” เสนอคุณภาพอาจารย์ต้องเก่งด้านประชาสัมพันธ์ “พระมหาหรรษา”ศาสตราจารย์ใหม่ มจร แนะบัณฑิตวิทยาลัย มจร ต้องจัดหลักสูตรตามวิสัยทัศน์พระพุทธเจ้า บูรณาการพุทธวิถีใหม่มุ่งพัฒนาจิตใจและสังคม ด้านอาจารย์มธ.ชง 3 แนว ทั้งยุบมอบคณะทำ ดูแลคุณภาพ และทำทั้งดูแลคุณภาพแบะการสอน รวมถึงต้องเน้นสร้างศาสนทายาทสานสัมพันธ์กับชุมชน

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน 2564 บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้จัดโครงการสัมมนาร่วมกับศูนย์บัณฑิตวิทยาลัยภายในประเทศ หัวข้อ “ทิศทางแผนพัฒนาบัณฑิตวิทยาลัย” เรื่อง”บทบาทของบัณฑิตศึกษาในยุคดิจิทัล” เริ่มจากพระเทพปวรเมธี, รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยสลัย กล่าวในประเด็นสำคัญว่า การจัดหลักสูตรในปัจจุบันจะมีความท้าทาย แต่ให้มองเป็นโอกาส มหาจุฬาเรามีข้อได้เปรียบคคือ พระพุทธศาสนา เป้าหมายของการทำแผน 13 จะต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาเทียบเคียงมาตรฐานโลก คือ EdPEx AUNQA ยกระดับคุณภาพเพื่อรับรองอนาคต ยกระดับคุณภาพการทำงานตามหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน จะพัฒนาคุณภาพในการบริหารจัดการ คุณภาพอาจารย์ จะต้องมีความเก่งในการประชาสัมพันธ์

ภาคบ่ายมีการเสวนาในหัวข้อและเรื่องดังกล่าวโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา ประกอบด้วย พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร. สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มจร และพระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร,รศ.ดร. คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร

พระมหาหรรษา กล่าวประเด็นสำคัญคือ เราได้ฟังบุคคลที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันมีความไว ความเร็ว ความแรง จะต้องสามารถตอบสนองผู้บริโภค มีความรู้สึกอารมณ์ที่เห็น การสื่อสารจึงมีความรุนแรงในช่องทางต่างๆ เราจึงอยู่ในโลกเสมือนจริง เราจึงต้องกลับมาหาหลักการทางพระพุทธศาสนา

ยุคปัจจุบันทำให้เราห่างกันทำให้เราอ้างว้างมากขึ้น เพราะมีการปลีกตัว กายห่างใจจึงอ้างว้างมากขึ้น ทำให้ผู้คนมีความทุกข์มากขึ้น เมื่อคนมีความทุกข์พระพุทธศาสนาจะได้เป็นโอกาสในการนำเสนอพุทธปัญญาให้ชาวโลก มหาจุฬาฯจะมีบทบาทอย่างไร บัณฑิตวิทยาลัยจะมีบทบาทอย่างไร ในยุคดิจิทัล จึงขอเสนอต้องมีบทบาท 3 หลัก คือ 1) บทบาทตามพระธรรมวินัย มหาวิทยาลัยสงฆ์คือพระพุทธศาสนา ซึ่งเกณฑ์ในตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้มุ่งเอาเพียงเอกสารแต่มุ่งเอาธรรมะลงไปทำในพื้นที่ต่างๆ บทบาทตามพุทธประสงค์ 2) บทบาทตามกฎหมาย โดยยึดตามรัฐธรรมนูญในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เราสัมพันธ์กับกระทรวง อว. จะทำอย่างไรให้สัมพันธ์สอดคล้องกับแผนพัฒนา 3) บทบาทตามที่ชุมชนสังคมคาดหวัง ยิ่งสังคมมีความทุกข์บัณฑิตวิทยาลัยจะออกแบบหลักสูตรอย่างไร เราต้องสามารถตอบโจทย์ชุมชนสังคมให้ได้ว่าเรามีความสำคัญ รวมถึงกลุ่มคนที่ไม่เอาศาสนาเราจะออกแบบหลักสูตรระยะสั้นระยะยาวอย่างไร ปัจจุบันมีคำถามว่าทำไมจะต้องนับถือศาสนา ถ้าศาสนาไม่มีความจำเป็นต่อชีวิต เราจะต้องสร้างความตระหนักยิ่ง

พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า บัณฑิตวิทยาลัยมีบทบาททั้งควบคุมคุณภาพระดับบัณฑิตวิทยาลัยและจัดการศึกษาเอง บัณฑิตวิทยาลัยจะต้องบูรณาการพุทธวิถีใหม่ เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม แต่เราอย่าลืมวิสัยทัศน์พระพุทธเจ้าคือ นิพพาน เราต้องให้กลุ่มเป้าหมายสามารถรับปริญญานอก และปริญญาใน เราต้องสามารถบูรณาการในด้านปริยัติ ปฏิบัติ จึงนำไปสู่ปฏิเวธ จะต้องพัฒนาคนให้มีวิชายอด จรณะเยี่ยม เราจะเห็นว่าโลกแห่งการปั่นป่วนและการเปลี่ยนแปลง แต่โควิดไม่ใช่ความเสี่ยงเดียวที่เรากำลังเผชิญ เราควรจะรู้อะไรที่จะนำมาออกแบบหลักสูตร เช่น สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ภาวะเศรษฐกิจ สังคมผู้สูงอายุ เราจะไปร่วมมือกับสถาบันใด ทักษะในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ มีการทำโคกหนองนาเพื่อเป็นพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร เราจะจัดหลักสูตรให้มีการตอบโจทย์อย่างไร? เราจึงควรมาออกแบบหลักสูตรร่วมกันทั้งมหาจุฬาเพื่อบูรณาการร่วมกันอย่างจริงจัง มิใช่ต่างคนต่างทำ เราจึงต้องมีกรอบแนวคิดการพัฒนาของแผนแม่บท Resilience : ล้มแล้วลุกไว คือ พร้อมรับ (Cope) ปรับตัว (Adapt) เปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโต (Transform)หลักสูตรจึงต้องออกแบบตามอัตลักษณ์ของภูมิภาคนั้นๆ อย่าเอาส่วนกลางไปครอบงำ แต่จงให้หลักสูตรบูรณาการเข้ากับภูมิภาคนั้นๆ

“การทำแผนจะต้องทำเป็นรายภูมิภาคให้สอดรับกับพื้นที่จะต้องมาคุยกันอย่างจริงจัง ต่างคนต่างทำสุดท้ายเราจะพบ “อ่อนแอก็แพ้ไป” เราจึงต้องทำแผนร่วมกัน เราต้องไม่เล่นในน่านน้ำในสิ่งที่เราไม่ถนัด จึงขอเสนอ “หนึ่งวิทยาลัยเขต-สงฆ์ระดับบัณฑิตศึกษาจะต้อวมีหนึ่งหลักสูตรบูรณาการ” เราจะผลิตหลักสูตรใหม่ๆ ขึ้นมาจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ถ้าเป็นหลักสูตรภูมิภาคจะต้องยึดโยงกับท้องถิ่น แต่หลักสูตรในส่วนกลางจะต้องบูรณาการเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม” พระมหาหรรษา ระบุึ

ศ.ดร.วัชระ กล่าวประเด็นสำคัญว่า บัณฑิตวิทยาลัยมีการจัดการศึกษาและกำกับมาตรฐานแต่ละหลักสูตร ซึ่งในอนาคตนี้จะมีการคืนหลักสูตรต่างๆ ให้กับคณะพุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการ จึงเสนอทางออก 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1) ยุบบัณฑิตวิทยาลัย โดยมอบภาระงานไปที่คณะและหน่วยงานอื่นๆ 2) บัณฑิตวิทยาลัยทำหน้าที่กำกับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาเพียงอย่างเดียว 3) บัณฑิตวิทยาลัยทำหน้าที่กำกับมาตรฐานและจัดการเรียนการสอนบางหลักสูตรที่มีการบูรณาการ เน้นสหสาขาวิชา เป็นพหุวิทยาการ เหมือนกับบางมหาวิทยาลัยภายนอก บัณฑิตวิทยาลัยจะต้องพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาใหม่ เช่น หลักสูตรกรรมฐานเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือ หลักสูตรที่สร้างศาสนทายาท

“จึงมีคำถามจากภายนอกว่า มหาจุฬาฯไม่เน้นศาสนทายาทเป็นประเด็นน่าสนใจ หลักสูตรจะต้องลงพื้นที่จริง รวมถึงจัดหลักสูตรพระพุทธศาสนากับการท่องเที่ยวเชิงพหุวัฒนธรรม จะต้องสร้างหลักสูตรที่สร้างอัตลักษณ์ในพื้นที่นั้นๆ จะต้องเป็นหลักสูตรแบบบูรณาการ บัณฑิตวิทยาลัยจะต้องเน้นพระพุทธศาสนา เพราะมหาจุฬาฯ ถูกจัดในกลุ่มที่ 4 คือ นำศาสนาไปพัฒนาชุมชน สังคม เราจะต้องใช้พระพุทธศาสนาเป็นฐานและนำศาสตร์สมัยใหม่มาเสริม ปัจจุบันเรามีปัญหาทุกมหาวิทยาลัยจำนวนผู้เรียน เราจะต้องออกแบบหลักสูตรที่เป็นสหวิชาบูรณาการ บัณฑิตวิทยาลัยจะต้องร่วมมือกับคณะต่างๆ เพื่อพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ”ศ.ดร.วัชระ กล่าวและว่า

การบูรณาการข้ามศาสตร์ในการจัดหลักสูตร จะต้องใช้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงานมาร่วมมือกัน การสร้างหลักสูตรบูรณาการจึงต้องพิจารณาหลายด้าน เราควรจะจัดหลักสูตรอย่างไรให้มีความเป็นพระพุทธศาสนาเป็นฐานแล้วนำศาสตร์สมัยใหม่มาบูรณาการ เราจึงต้องดูปริมาณผู้เรียนจัดหลักสูตรให้มีคุณภาพ บัณฑิตวิทยาลัยจะต้องมีมาตรฐานและคุณภาพในด้านอาจารย์ประจำหลักสูตรจะต้องมีคุณภาพมาตรฐานเป็นสำคัญ แม้แต่การเรียนออนไลน์ในปัจจุบันมีข้อจำกัดมากพอสมควร

รศ.ดร.สุรพล กล่าวประเด็นสำคัญว่า คนไทยมีอายุยืนมากขึ้น ทำหลักสูตรอย่างไรให้ตอบโจทย์ เราต้องดูเทรนด์ของโลก ดูเทรนด์ของประเทศ จะต้องสามารถตอบความสนองผู้คนในสังคมในปัจจุบัน คนที่อายุยืนจึงสนใจมาเรียนแต่ต้องสามารถตอบสนองความต้องการได้ จะต้องบูรณาการหลักสูตรให้มีอัตลักษณ์ตามพื้นที่นั้นๆ เราต้องเอาเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นตัวตั้ง จึงขอชื่นศาสตราจารย์ใหม่ของ มจร คือ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ศาสตราจารย์ ดร. ในการทำหน้าที่ปฏิรูปการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในระดับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นสิ่งสำคัญมาก บัณฑิตวิทยาลัยจะต้องออกแบบการสอนวิชาพระพุทธศาสนาให้มีความเข้มเเข็ง ปัจจุบันคนมาเรียนมหาจุฬาฯ เพราะพระพุทธศาสนาเป็นฐาน เพราะคนข้างนอกต้องการเรียนรู้พระพุทธศาสนา ซึ่งบัณฑิตวิทยาลัยไม่สามารถยุบได้เพราะมีกฎหมายรับรอง แต่จะต้องจัดหลักสูตรให้มีความเข้มแข็งในทางพระพุทธศาสนา หลักสูตรการจัดการศึกษาจะต้องมี 2 เรื่อง ประกอบด้วย “เทคโนโลยี และ นวัตกรรม”

พระมหาสมบูรณ์ กล่าวประเด็นสำคัญว่า เราได้เห็นทิศทางอนาคตของบัณฑิตวิทยาลัย ภาพแห่งอนาคตของบัณฑิตวิทยาลัย ถือว่าผลงานบัณฑิตศึกษาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของมหาวิทยาลัย จึงนำไปสู่การวางแผนพัฒนาว่า เราเป็นใคร เรายืนอยู่ตรงไหน จะเดินไปข้างหน้าอย่างไร จุดที่เราเก่งที่สุด ถนัดที่สุด มีความเป็นอัตลักษณ์ที่สุด เราเก่งในด้านพระพุทธศาสนาเด่นชัดที่สุดในฐานมหาวิทยาลัยสงฆ์ จึงต้องสามารถตอบคำถามตนเองว่า ตอนนี้เรายืนที่ไหน คำตอบคือ เราเป็นมหาวิทยาลัยด้านพระพุทธศาสนาพัฒนาด้านจิตใจของคนในสังคม นำสามารถนำศาสตร์ต่างๆ มาบูรณาการกับพระพุทธศาสนา โดยยึดว่าผู้ตั้งมหาจุฬาฯ มีความประสงค์อะไร จากนั้นถามว่าเราต้องการจะไปที่ไหน โดยมีเป้าหมายว่าเราจะไปไหน เช่น สังคมคนแก่ สถานการณ์โควิด ประชากรลดลง จำนวนคนเรียนน้อยลง บวชเรียนน้อยลง ซึ่งคนที่อิ่มในทางโลกจึงหันมาศึกษาในทางพระพุทธศาสนา คำถามสุดท้ายคือ เราจะไปให้บรรลุเป้าหมายนั้นอย่างไร ถือว่าเป็นโจทย์สำคัญของบัณฑิตวิทยาลัย แต่จงสอดคล้องกับความเป็นอัตลักษณ์ของมหาจุฬาฯในการออกแบบหลักสูตรใหม่ๆเพื่อให้ตอบโจทยสังคมต่อไป

Leave a Reply