บอร์ดใหญ่..กก.พระปริยัติธรรมเห็นชอบชงคลัง”ขออนุมัติงบปี’65”

             วันนี้ (2 ก.พ. 2564)  ณ ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ 100 ปี สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม ครั้งที่ 1/2564 ที่ประชุมมีมติ  “เห็นชอบ” ประกาศมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของเจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม และประกาศว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม โดยทุกฝ่ายต่างเร่งดำเนินงานเพื่อให้ การดำเนินการให้รัฐ อุดหนุนงบประมาณแผ่นดินในการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมคณะสงฆ์ ตาม พ.ร.บ. การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562 เพื่อให้ทันเริ่มเป็นปีแรก ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564

            พระมหาสมเกียรติ สิริอรุโณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนเป็นพระอยู่ต่างจังหวัดต่างรอความหวังจากพระผู้ใหญ่ ในการประชุม พ.ร.บ. การศึกษาพระปริยัติธรรม สำหรับแผนกปริยัติสามัญที่เชียงใหม่นั้นจะมีสามเณรที่อยู่ต่างวัดที่มี 50-55 วัด ซึ่งอยู่คนละที่กัน มีความแตกต่างระหว่างโรงเรียนแบบกินนอนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่นักเรียนจะได้รับเงินอุดหนุนทั้งชุดนักเรียน รองเท้า อาหาร ค่าน้ำไฟ ที่นอนหมอนมุ้ง พร้อมที่พัก อย่างครบครัน

           “..แต่สำหรับโรงเรียนพระปริยัติสามัญ ลูกเณรต้องไปอยู่ตามวัดและจะได้ค่าไตรจีวรต่อหัวต่อรูปเพียง 1,200 รูปต่อปี ทั้งนี้เป็นหากมองตามความเป็นจริง ผ้าไตรจีวรต่อชุดหากไปซื้อจริงๆ ก็ 1,500 บาทไปแล้ว แต่ลูกเณรจะต้องใช้อย่างน้อย 2 ชุดในการสับเปลี่ยน อีกทั้งต้องซื้อที่นอน หมอนมุ้ง รองเท้า ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ส่วนค่าอาหารจะได้รับการสนับสนุนค่าอาหารเพียงมือละ 20 บาท รวมมื้อเช้า 20 บาทและมื้อกลางวัน 20 บาทก็เพียง 40 บาทต่อวัน โดยให้ 220 วันต่อหนึ่งปี ซึ่งอาตมาอยากจะอธิบายว่าเงินจำนวนเงิน 40 บาทต่อวันในโลกสมัยปัจจุบันมันซื้ออะไรไม่ได้เลย งบนี้ได้มาตั้งแต่ พ.ศ.2549 ถึงตอนนี้ พ.ศ.2563 ผ่านมา 14 ปีก็ได้เพียง 40 บาทดังเดิม..”

            อีกประเด็น ครูผู้สอนได้ตั้งเกณฑ์งบประมาณจากสำนักพุทธฯ สามเณร 20 รูปต่อครู 1 คนหมายความว่าสามเณร 100 รูปจะได้ครูเพียง 5 คน ในความเป็นจริงหลักสูตรแกนกลางต้องใช้ครู 8 คนเพราะมี 8 กลุ่มสาระ อีกทั้งมีวิชาพุทธศาสนาอีก 4 วิชา ทั้งนี้ต้องมี ผู้อำนวยการ , ผู้จัดการ , เจ้าหน้าที่อีก 1 คน รวมแล้วจะต้องใช้บุคลากรทั้งหมดถึง 15 คน หากหารแบบเท่ากันก็จะได้เพียงคนละ 5,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ทั้งนี้ยังไม่พอ ตัวเลขเงินเดือนที่ 15,000 บาท/เดือน ตั้งแต่ปี 2549 และไม่มีการขึ้นเงินเดือน ไม่มีการประเมิน ไม่มีการพัฒนา แม้ครูจะอยู่อีก 20 ปี ก็อยู่เหมือนเดิม ไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ สิ่งนี้จึงเกิดสมองไหล หากใครสอบบรรจุที่ใหม่ได้ก็ต้องย้ายไป แล้วเราจะมีครูดีๆ สอนลูกเณรกันอย่างไร

           ทางด้าน พระครูเมธีศาสนธำรง ผอ.โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระซองวิทยา อ.นาแก จ.นครพนม เผยว่า อาตมาก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พ.ร.บ. การศึกษาพระปริยัติธรรม จะเริ่มได้งบในปีแรก ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 นี้ ความยากลำบากของชีวิตสามเณรที่ต้องมาเรียนต้องตื่นแต่เช้าเพื่อรีบมาเรียน โรงเรียนจะเริ่มเข้าแถวสวดมนต์เวลา 08.00 น. ซึ่งก็เป็นความยากลำบากของนักเรียนเณรที่จะไปบิณฑบาตโดยส่วนใหญ่จะไม่ทันจึงต้องอดภัตตาหารเช้าไปโดยปริยาย ต้องมาฉันอีกทีก็ตอนเพลแน่นอนสามเณรไม่สามารถฉันมือเย็นได้ ทำให้สามเณรก็ต้องฉันเพียงมือเดียวต่อวัน สิ่งนี้เด็กเณรก็ขาดสารอาหารไป

           “..อีกประเด็นค่ารถก็ได้รับการอุดหนุนจากสำนักพุทธฯ เพียง 10-15 บาทต่อหัว ซึ่งก็ต้องใช้ความสามารถของเจ้าอาวาส ที่จะต้องหาเงินมาสนับสนุน หากสำนักไหน เจ้าอาวาสหาทุนทรัพย์ไม่เก่ง ลูกเณรก็ต้องอยู่อย่างยากลำบาก อาตมาและพระต่างจังหวัดจึงมีความหวังจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้พ.ร.บ.นี้..”

          พระเทพเวที รก.เจ้าคณะภาค 6 หนึ่งในคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมชุดนี้ ซึ่งเป็นบุคคลที่ริ่เริ่มมาตั้งแต่ต้น กล่าวว่า

          ” พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นพ.ร.บ.ฉบับที่ 2 ของคณะสงฆ์ไทย เป็นพระราชบัญญัติการศึกษาของคณะสงฆ์ที่รัฐจะต้องมาสนับสนุบงบประมาณ ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้มันจะครอบคลุมการศึกษาของคณะสงฆ์ทั้งหมด  ทั้งนักธรรม,บาลี,ปริยัติธรรม และพระนิเทศก์ เดิมท่านเจ้าอาวาส ต้องดิ้นรนหางบมาบริหารเอง อาตมาคาดว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นปีงบประมาณใหม่ ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 8 เดือน การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยอาจปรับโฉมใหม่ มีงบประมาณเป็นของตนเอง มีอัตรากำลัง โครงสร้างการบริหารจัดการที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นระบบมากยิ่งขึ้น หวังว่าสิ่งนี้จะนำมาซึ่งความมั่นคงและความเจริญของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย โดยเฉพาะการสร้างศาสนทายาท..”

Leave a Reply