“ปลัดเก่ง”ลงพื้นที่อำเภอแม่ริม สำรวจพื้นที่จัดทำฝายชะลอน้ำ เน้นย้ำ น้อมนำพระราชปณิธาน “แก้ไขในสิ่งผิด”

วันนี้ (12 ก.พ. 67) เวลา 13.30 น. ณ ที่ว่าการอำเภอแม่ริม จ.เชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานติดตามความก้าวหน้าการสำรวจพื้นที่จัดทำฝายชะลอน้ำสนับสนุนคลองแม่ข่าจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายนักปราชญ์ ไชยานนท์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ นายวัชระ เทพกัน นายอำเภอแม่ริม ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนอำเภอแม่แจ่ม นายสมบูรณ์ ธิจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 นางอำไพวรรณ พัฒนาศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา ผู้แทนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ผู้แทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 นายวัน ม่วงมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแยง นายนพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว นายวิชาญ ธิมาคำ กำนันตำบลโป่งแยง นายปยุต ชัยเลื่อน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 บ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อช่วยกันทำให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นในบ้านเมือง นำไปสู่ความสุขของพี่น้องประชาชน และความมั่นคงของประเทศชาติ ดั่งที่ปรากฏในพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระบรมราชโองการองค์ที่ 2 “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่เป็นการขยายความพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งมีเนื้อหาที่พวกเรายึดถือเป็นแนวปฏิบัติได้ตลอดไป คือ การมุ่งแก้ไขในสิ่งผิด เพื่อทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ด้วยการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดจากการที่เราเคยทำลายทรัพยากรธรรมชาติจนทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำลดลง ด้วยการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพราะน้ำคือชีวิต ดังองค์ความรู้ด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” คือ ป่าเปียก ซึ่งเป็นทฤษฎีการฟื้นฟูป่าไม้โดยสร้างแนวส่งน้ำหรือแนวพืชอุ้มน้ำเพื่อให้ดินเกิดความชุ่มชื้นให้ป่าเขียวสดจึงช่วยลดปัญหาไฟป่า มีตัวอย่างที่วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การนำของพระวีระยุทธ์ อภิวีโร ร่วมกับภาคีเครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีความเข้มแข็ง

“ขอให้นายอำเภอแม่ริม ได้ปลุกพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกับภาคราชการในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา โดยน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “บวร” บ้าน วัด ราชการ หรือภาคีเครือข่ายตามศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีหลักการสำคัญ คือ “การมีส่วนร่วม” ได้แก่ ร่วมกันพูดคุย ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อร่วมกันรับประโยชน์ ทำให้พื้นที่เกิด “ฝายชะลอน้ำ” จะยั่งยืน ดังเช่นที่อำเภอแม่แจ่มได้ร่วมกันขับเคลื่อนทีละเล็กละน้อยจนกระทั่งปัจจุบัน มีจำนวนมากกว่า 100,000 ฝาย โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ไปพูดคุยกับทุกเพศทุกวัยให้ตระหนักถึงแนวทางแก้ไข ทั้งนี้ ในการดำเนินการ เราสามารถทำไป สำรวจไป (Learning by Doing) ชวนภาคีเครือข่ายไปร่วมเอามื้อสามัคคี โดยมีผู้มีประสบการณ์มาเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งเมื่อเราฝึกเพียงไม่กี่ครั้งเราก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง เพราะมีหลักการง่าย ๆ คือ ฝายชะลอหน้า ด้านหน้ามีหลุมขนมครกดักตะกอน 2-3 หลุม โดยใช้จอบ ใช้ชะแลง ใช้แรงงานคนเพื่อทำหลุมขนมขนมครก” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ในเชิงระบบทุกพื้นที่ที่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือกรมป่าไม้ หัวหน่วยงานของกรมที่ประจำในพื้นที่สามารถนำเสนอต่ออธิบดีมอบอำนาจให้หัวหน้าหน่วยในพื้นที่เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้จังหวัด/อำเภอดำเนินการพัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งร่วมดำเนินการในลักษณะความร่วมมือของฝ่ายปกครองและส่วนราชการนั้น ๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อฝ่ายปกครอง หรือส่วนราชการมีโครงการดี ๆ ที่จะเกิดประโยชน์ในพื้นที่ความรับผิดชอบของส่วนราชการ ก็ต้องขออนุญาตเป็นครั้ง ๆ ไป ทำให้การขับเคลื่อนสิ่งที่ดีไม่ได้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที นอกจากนี้ จังหวัด อำเภอ ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องหมั่นสื่อสารสังคม และสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่าสิ่งที่เรากำลังทำนี้ เป็นการขับเคลื่อนโครงการเพื่อสนองพระราชปณิธาน “แก้ไขในสิ่งผิด” สร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชน พูดในสิ่งที่เราทำ ทำในสิ่งที่เราพูด การสื่อสารสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญ ขอให้ช่วยกันสื่อสารสังคมอย่างต่อเนื่อง อะไรที่ทำแล้วประชาชนมีความสุขขอให้อย่ามองข้าม ซึ่งหากเราสามารถบูรณาการสิ่งต่าง ๆ ให้อยู่ในบริเวณดังกล่าวได้ ก็อาจจะสามารถพัฒนากลายเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ได้อีกด้วย

“ขอให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ทราบ และดำเนินการหนุนเสริมทำให้การสร้างสิ่งที่ดีในพื้นที่อำเภอแม่ริมประสบความสำเร็จเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งนำสิ่งดี ๆ ที่อำเภอแม่แจ่มได้ขับเคลื่อนจนประสบผลสำเร็จไปขยายผลในทุกอำเภอ ทำให้พื้นที่ของทุกอำเภอเป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน โดยมีนายอำเภอเป็นผู้นำการบูรณาการทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยหมั่นลงพื้นที่และกำกับติดตามให้ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบลนำทีมส่วนราชการ อาทิเช่น เกษตร พัฒนากร สาธารณสุขของตำบลลงพื้นที่ไปกระตุ้นทำให้ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่นได้ทำให้พี่น้องประชาชนลุกขึ้นมารวมตัวรวมกลุ่มในการที่จะดูแลช่วยเหลือคนในหมู่บ้านด้วยกันเอง และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน ดังแนวทางขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) อันจะยังผลทำให้เกิดความรัก ความศรัทธา ความเลื่อมใสของพี่น้องประชาชนที่จะทำให้พวกเราในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีกำลังกาย กำลังใจที่เข้มแข็ง ซึ่งเมื่อเราเข้าไปนั่งในหัวใจประชาชน ก็จะมีความรัก ความศรัทธาของประชาชนเป็นเกราะกำบังทำให้ระบบราชการมีความเข้มแข็งเป็นที่พึ่งของประชาชนตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

จากนั้น ในเวลา 15.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดพิกัดทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่โครงการเกษตรวิชญา หมู่ 4 บ้านกองแหะ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่  นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มุ่งมั่นในการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “แก้ไขในสิ่งผิด” ดังพระราชดำรัสความว่า ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้อัญเชิญ พระราชดำรัสองค์ดังกล่าว ประดิษฐานไว้เป็นเครื่องเตือนใจข้าราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดและที่ว่าการอำเภอ ทั้ง 25 แห่ง ขณะเดียวกันได้ร่วมกับทุกอำเภอ ทุกส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ระดมสรรพกำลังในการขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษาในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งการดำเนินการขับเคลื่อนฝ่ายชะลอน้ำต้นน้ำแม่สาเพื่อสนับสนุนคลองแม่ข่า ของอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลดังกล่าว และได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างสิ่งที่ดีทั้งในมิติคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

นายวัชระ เทพกัน นายอำเภอแม่ริม กล่าวว่า อำเภอแม่ริมได้ดำเนินการขับเคลื่อนฝายชะลอน้ำต้นน้ำแม่สาสนับสนุนคลองแม่ข่า โดยจัดการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายอำเภอแม่ริม ปลัดอำเภอ หัวหน้าโครงการหลวง ผู้แทนจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.10 (ห้วยทราย) หน่วยจัดการต้นน้ำแม่สา ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแยง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่โครงการเกษตรวิชญา และผู้แทนจาก SCG ณ โครงการเกษตรวิชญา เพื่อวางแผนการสำรวจพิกัดทำฝายให้แล้วเสร็จภายในห้วงเวลาที่กำหนด โดยกำหนดพิ้นที่ต้นน้ำแม่สา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตำบลโป่งแยง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 32,625 ไร่ ประกอบไปด้วย 10 หมู่บ้าน 3,476 ครัวเรือน ประชากร 11,339 คน ตำบลโป้งแยงมีสภาพทั่วไปเป็นภูเขา สลับกับที่ราบเชิงเขา ประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม เกษตรบนพื้นที่สูง เป็นที่ตั้งของโครงการหลวง ได้แก่ โครงการหลวงแม่สาใหม่ โครงการหลวงทุ่งเรา และโครงการเกษตรวิชญา ทั้งนี้ ได้ทำการสำรวจข้อมูลพิกัดทำฝายชะลอน้ำบริเวณต้นน้ำแม่สา เพื่อสนับสนุนเป็นน้ำต้นทุนให้กับคลองแม่ข่าของอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งสิ้น 603 ฝาย ในพื้นที่บ้านโป่งแยงใน บ้านโป่งแยงนอก บ้านม่วงคำ บ้านกองแหะ บ้านปงไคร้ บ้านแม่สาใหม่ บ้านบวกจั่น บ้านปางลุง-บวกเต๋ย บ้านผานกกก และบ้านแม่สาน้อย โดยในจำนวนนี้ เป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 343 ฝาย เขตป่าสงวนแห่งชาติ 248 ฝาย และเขตโครงการเกษตรวิชญา 12 ฝาย

Leave a Reply