ย้อนความเป็นมา “หน่วยอบรมประชาชน อ.ป.ต.” หลังมีกระแสว่า “ยุบรวม” กับ โครงการ วัด ประชารัฐ สร้างสุข

วันที่ 15 สิงหาคม 2567 หลังจากมีกระแสข่าวว่า หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) จะมีการยุบรวมกับโครงการ “วัดประชารัฐ สร้างสุข” ก่อให้เกิดเสียวิพากษ์ในหมู่คณะสงฆ์อย่างกว้างขวาง มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าเป็นหน่วยงานเก่าแก่ที่พระมหาเถระฝ่ายมหานิกายตั้งเอาไว้เพื่อดูแลชาวพุทธทั่วประเทศ ในขณะบางคนมองว่ายุบดีแล้ว เพราะภารกิจซับซ้อนยากลำบากต่อพระภิกษุในพื้นที่ ส่วนมีอีกหลายท่านมองว่าควรยุบไปทั้ง อ.ป.ต.และโครงการวัดประชารัฐ สร้างสุข ให้มหาเถรสมาคมมีภารกิจ 6 ด้านเพียงพอแล้ว

เว็บไซต์ข่าว “Thebuddh” จะพาไปรู้จักความเป็นมาของน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล หรือ “อ.ป.ต.” และโครงการ “วัดประชารัฐ สร้างสุข” โดยย่อ ดังนี้

หน่วยงาน อ.ป.ต. เป็นชื่อย่อมาจากหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล เป็นความริเริ่มของคณะสงฆ์  ซึ่งมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์   (ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถร ป.ธ. ๙ )วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ได้ก่อตั้งขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 5 ประการ คือ

1.เพื่อสงเคราะห์และอนุเคราะห์ประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในตำบลที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลตั้งอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ช่วยเหลือตนเองได้และพัฒนาตนเองไปในทิศทางที่ถูกต้องตามสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้น ๆ

2. เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างวัด บ้าน และหน่วยงานในการที่จะร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าในทุก  ด้าน เช่น

 – ช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเจริญก้าวหน้าตามสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น นั้น ๆ  ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นหรือไปขายแรงงานที่อื่น

 – ช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นให้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับภูมิปัญญาของตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยกันปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนมีศีลธรรม ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาด้านอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

– ช่วยกันพัฒนาอาชีพโดยเฉพาะอาชีพที่ถูกต้องตามกฏหมายที่เราเรียกกันว่าสัมมาชีพทั้งนี้เพื่อที่จะหารายได้มาพัฒนาครอบครัว หมู่บ้าน และสังคมที่ตนอาศัยอยู่โดยไม่เลือกงานหนักเอาเบาสู้ยึดคติว่า คนขยันย่อมหาทรัพย์ได้

3. เพื่อเป็นศูนย์รวมความคิดของประชาชนทุกหมู่เหล่า กล่าวคือ ใครมีความคิดอะไรที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์ที่จะนำมาพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญรุ่งเรืองให้มาแสดงออกที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล เข้าทำนองที่ว่า ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ จะนำชาติให้เจริญ

4. เพื่อเป็นศูนย์รวมพลังในการป้องกันหมู่บ้านให้เกิดสันติสุขช่วยกันปกป้องพิทักษ์รักษาชีวิต และทรัพย์สินของทุกคนในหมู่บ้านให้เกิดความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นโจรภัย อัคคีภัยอุทกภัย วาตภัย หรือภัยอื่นๆ ให้ทุกคนนอนตาหลับ เข้าทำนองว่า ถึงคราวมีทุกข์ ช่วยกันแก้ไข ถึงคราวสุขสบายก็ไม่ตกอยู่ในความประมาท และ

5. เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารของทางราชการจำเป็นจะต้อง  รับทราบอย่างทันท่วงทีตรงไปตรงมายุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ของบ้านเมืองไม่ถูกต้องและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาไม่ถูกต้อง

เพื่อให้วัตถุประสงค์หลักทั้ง 5 ประการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลบังเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างแท้จริงหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลจำเป็นจะต้องปรับบทบาทของหน่วยให้มีความคล่องตัว โดยการจัดตั้งองค์กรในรูปของคณะกรรมการตามระเบียบว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พุทธศักราช 2546  หลักธรรมสำหรับใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรืองที่กล่าวไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. 2546  มีทั้งหมด 8 ประการได้แก่ 1.ศีลธรรมและวัฒธรรม  2. สุขภาพอนามัย 3. สัมมาชีพ  4. สันติสุข  5. ศึกษาสงเคราะห์ 6.สาธารณสงเคราะห์ 7. กตัญญูกตเวทีตาธรรม (สนองคุณ)  และ 8. สามัคคีธรรม

ปัจจุบันหน่วยงานอบรมประชาชนประจำตำบล มีจำนวน 5,401  หน่วย ทั่วประเทศ และมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์  ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.)

ส่วน โครงการ “วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” เป็นหนึ่งในงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นเมื่อปี 2563 โดยมุ่งพัฒนาให้เรียบร้อยรื่นรมย์ เป็นศูนย์การเรียนรู้ และการพัฒนาจิตใจของประชาชน มีแผนการดำเนินงานเป็นระบบและระยะอย่างชัดเจน บัดนี้ถึงระยะซึ่งคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรมีภารธุระที่จะยังให้เกิดผลสัมฤทธิผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นอย่างครอบคลุมทุกวัดทั่วประเทศ

หัวใจของโครงการนี้ คือ กลไกการสร้างสายสัมพันธ์ความร่วมแรงร่วมใจกันของวัด ชุมชน และภาคเครือข่ายในท้องถิ่น ด้วยอุดมการณ์ร่วมกัน คือ ศรัทธาปสาทะในบวรพระพุทธศาสนา และเจตจำนงให้วัดเป็นสถานสัปปายะ ภายใต้ 5 ส. อำนวยสันติรสแก่ผู้เข้ามาพึ่งพาบำบัดทุกข์ และเสริมสร้างความสุขทั้งแก่กายและใจ อันจะนำไปสู่ความวัฒนาสถาวรของชาติ และสถาบันพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ ทุกท่านทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องเพิ่มพูนสามัคคีธรรมให้งอกงามไพบูลย์ขึ้นในใจตน ในชุมชน และในประเทศชาติ

ดัง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ยกนำพระสังฆราโชบายของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ประทานไว้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560  ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ดังพระโอวาทความตอนหนึ่งว่า

ขอมอบภาษิตนี้ให้ท่านทั้งหลายไปปฏิบัติดู ภาษิตนั้นเป็นภาษาบาลี คำว่า สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ คำนี้ใช้ได้ทุกกาลเวลา ทุกรัชสมัย จนในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบันก็ทำได้ เราทั้งหลายในฐานะที่เป็นประชาชนชาวไทยสืบมา บางท่านก็หลายรัชกาล บางท่านก็สองรัชกาล บางท่านก็หนึ่งรัชกาล จงรักษาคำนี้ไว้ ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความวุฑฺฒิสาธิกา ยังความเจริญรุ่งเรืองให้สำเร็จได้ ขณะนี้เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า ประเทศของเรากำลังต้องการพัฒนา ต้องการให้ชาติของเรา ประเทศของเราพัฒนาเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ก็ขอให้ท่านทั้งหลายนำธรรมภาษิตนี้ไปนึกดู ไปคิดดู แล้วไปกระทำร่วมกับความปกติกาย ความปกติวาจา ความตั้งใจทำงานในสิ่งที่เรากระทำ และมีปัญญาควบคุมรวมอยู่ในนี้เสร็จหมด เพราะฉะนั้นหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจ และยึดถือคำสอนของพระพุทธองค์ ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน เมื่อมีหลักศีล หลักสมาธิ หลักปัญญา และความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็จะทรงอยู่ได้ตลอดกาลนาน”

ปัจจุบันมี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์  เป็นประธานกรรมการโครงการวัด ประชารัฐ สร้างสุข

Leave a Reply