“ราชบัณฑิต”วอนสื่อให้เลิกใช้คำว่า “อรหันต์”  เรียกบุคคลทั่วไป

วันที่ 15 สิงหาคม 2567 วานนี้หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 มีคำวินิจฉัย “เศรษฐา ทวีสิน” แต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นการกระทำที่ผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้าม ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีผลให้รัฐมนตรีพ้นตำแหน่งทั้งคณะด้วยนั่น เกิดปรากฎมีสื่อบางแขนงเรียก “ตุลาการ” เหล่านี้ว่า “อรหันต์”

ศาสตราจารย์พิเศษร้อยโท บรรจบ  บรรณรุจิ ราชบัณฑิต ได้โพสต์เฟชบุ๊คส่วนตัว Banjob Bannaruji  มีความว่า  เรียน  สื่อมวลชนทุกสาขาอาชีพ  ตามที่มีสื่อมวลชน ใช้ข้อความว่า ‘เปิดประวัติ 9 อรหันต์ ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดความเป็น นายกฯเศรษฐา’

กระผมเห็นว่า การใช้คำ ‘อรหันต์‘ ไม่เหมาะสม ด้วยเหตุผลที่ว่า  คำว่า ’อรหันต์‘ เป็นคำสูงในพระพุทธศาสนา และใช้เรียกพระอริยะขั้นสูงสุด

อริยะ หมายถึง ผู้ที่ฝึกศีลสมาธิปัญญาตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 จนละกิเลสได้มี 4 ขั้น คือ  โสดาบัน   สกทาคามี  อนาคามี  และ  อรหันต์

อรหันต์ ที่ถือว่า เป็นพระอริยะขั้นสูงสุด เพราะท่านมีจิตใจปราศจากกิเลสที่ทำให้ทำชั่วและไม่มีอคติโดยสิ้นเชิง

จึงไม่สมควรที่จะนำมาใช้เรียกปุถุชนโดยประการใด ๆ แม้จะให้เป็นการยกย่องก็ตาม เพราะว่าปุถุชนจะดีขนาดไหนก็ตามก็คงไม่หนักแน่นพอที่จะไม่มีอคติ เพราะยังมีเชื้อแห่งอคติ คือ รัก (ฉันทะ) เกลียด (โทสะ) หลง (โมหะ) และกลัว (ภยะ) ฝังรากอยู่ในจิตใจ

พระพุทธเจ้าทรงเอาชีวิตปุถุชนประเภทเดียวมาเทียบกับพระอรหันต์ คือ บิดามารดา เพราะทรงเห็นว่า จิตใจรักของพ่อแม่ทีดีที่มีต่อลูกบริสุทธิ์และแท้จริงเปรียบได้กับจิตของพระอรหันต์ที่มีเมตตาต่อสรรพชีวิต  โดยยกให้เป็นอรหันต์ของลูกในเชิงเปรียบเทียบ

สำหรับท่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9  ท่าน อาจจะเทียบกับพระอรหันต์ได้ในฐานะพ่อของลูก  แต่คงจะไม่เหมาะที่จะมาเทียบท่านกับพระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลส ซึ่งมาทำหน้าที่ตัดสินคดีความในสังคมที่เสี่ยงสูงต่อการขาดความเที่ยงธรรม

จึงใคร่ขอวิงวอนสื่อทุกสาขาอาชีพว่า อย่าใช้คำว่า ’อรหันต์’ ไปยกย่องคณะตุลาการหรือคณะบุคคลใด ๆ อีกเลย แม้จะเป็นคณะคนดีหรือทำดีเพียงใด ด้วยเหตุผลพื้นฐานคือยังเป็นปุถุชน (คนมีกิเลสมาก)

และขอให้ “สงวนคำนี้”  ไว้ใช้แต่กับบุคคลที่สมควรยกย่องบูชาในพระพุทธศาสนาเท่านั้น จะดีกว่า เพราะมีกำหนดกฏเกณฑ์ให้พิจารณาได้อยู่แล้วโดยธรรม

Leave a Reply