“มจร-รพ.ราชธานี – จ.พระนครศรีอยุุธยา” เปิดรพ.สนามรองรับผู้ป่วยโควิด-19

        วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ณ อาคารหอสมุดวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ร่วมกับ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สาธารณสุขพระนครศรีอยุธยา อำเภอวังน้อย อบต.ลำไทร และโรงพยาบาลราชธานี ได้ร่วมกันเปิดโรงพบาบาลสนามขนาดความจุ 537 เตียงภายในตึกสร้างใหม่ 5 ชั้น

       พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)   พระเทพปวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ในฐานะประธานกรรมการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มจร พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ร่วมพิธีเปิดโรงพยาบาลสนามจำนวน 537 เตียง  โดยมี นายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นพ.นครินทร์ อาจหาญ  รองนายแพทย์สาธารณสุขพระนครศรีอยุธยา นพ.ชัชรินทร์ ปิ่นสุวรรณ ผอ.โรงพยาบาลราชธานี พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิธีในครั้งนี้

       พระธรรมวัชรบัณฑิต เปิดเผยว่า คณะสงฆ์และผู้บริหาร มจร มีความยินดีที่จะร่วมด้วยช่วยกันการในฝ่าฟันวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกัน การช่วยเพื่อนร่วมชาติ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ในขณะเดียวกัน โดยพฤตินัย ก็ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยของสงฆ์ไทย ต้องสนองพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ด้วยเช่นกันที่จะให้ร่วมมือกับภาครัฐในการที่จะร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อบรรเทาความความเดือดร้อนของประชาชนทั้งในยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติและไม่ปกติ เรามีเจตนาหวังร่วมกันที่้จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีสุขภาพกายที่ดี

     “ที่สำคัญมาพักที่ มจร แห่งนี้ เราจะเพิ่มการมีสุขภาพใจที่ดีไปด้วย ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยทั้งนายกสภามหาวิทยาลัย พระธรรมปัญญาบดี และอุปนายกสภา พระพรหมบัณฑิต มีความประสงค์ต้องการให้ มจร ช่วยเยียวยาทางใจผู้ป่วยที่มาพักด้วย ซึ่งเรื่องนี้ทั้งสองท่านให้ปรึกษาแพทย์และพยาบาลที่มาดูแลภายในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ว่า พอเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะหาเวลาจัดตารางให้พระมาช่วยเยียวยาทางจิตใจ ให้ดูความเหมาะสมโดยไม่รบกวนตารางการทำงานของนายแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มาดูแล ในขณะเดียวกันให้ดูความปลอดภัยซึ่งกันและกันด้วยเช่นกัน..”

      ในขณะที่นายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาของเราตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ประสบกับภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ทางจังหวัดได้รับความร่วมมือที่ดียิ่งจากคณะสงฆ์ ปีนี้หนักหนาสาหัสมาก คณะสงฆ์ได้ดูแลอย่างดี ทั้งเรื่องอาหาร เรื่องการเยียวยา อุปกรณ์การแพทย์ ร่วมทั้งเงินสนับสนุน ตอนนี้เรามีผู้ป่วยร่วม 3,000 คน โรงพยาบาลแทบไม่มีเตียงเลย วันนี้แม้เราจะเปิดสนามเพิ่มขึ้นมาอีก 500 เตียงก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งเราก็ต้องพยายามทำต่อไป การเกิดขึ้นของ รพ.สนาม ที่ มจร ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะร่วมด้วยช่วยกันได้ฝากให้รพ.ราชธานี ช่วยดูแลประชาชนที่มีสิทธิทุกสิทธิไม่ว่าจะเป็นประกันสังคมหรือไม่มีก็ตาม รวมทั้งต้องดูแลคณะสงฆ์ด้วย

      “ในนามตัวแทนภาครัฐต้องขอบคุณท่านอธิการบดีและผู้บริหาร มจร ทุกรูปที่มีความตั้งใจช่วยเหลือทางฝ่ายบ้านเมืองในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะร่วมกันฝ่าฟันวิกฤติไปในครั้งนี้ไปด้วยกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์พักพิงหรือรพ.สนามที่ มจร นี้จะเป็นที่พึ่งของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงทั้งอำเภอวังน้อย บางประอิน และอำเภอใกล้เคียง รวมทั้งประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือทุกคนด้วย..”

        ทางด้าน พระเทพปวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ในฐานะประธานกรรมการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มจร กล่าวย้ำว่าโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แห่งนี้ สามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง หรือเป็นผู้ป่วยประเภทสีเขียว โดยใช้ทั้งหมด 5 ชั้น รองรับผู้ป่วยทั้งสิ้น 537 เตียง แยกเป็น รองรับผู้ป่วยหญิง จำนวน 305 เตียง รองรับผู้ป่วยชาย จำนวน 178 เตียง และพระภิกษุด้วย จำนวน 54 เตียง

      “วันนี้ภาคบ่าย ทางเจ้าหน้าที่ที่ดูแลแจ้งว่า จะรับคนที่ติดเชื้อมาพักแล้วจำนวน 100 คน ซึ่งในทางปฎิบัติทาง มจร มอบให้ รพ.ราชธานี เป็นผู้ดูแลการจัดการทั้งหมด ทั้งการรับ การดูแล การบริหารจัดการ ซึ่งทาง มจร จะเป็นผู้สนับสนุน ทั้งเรื่องด้านอาหาร เรื่องการเยียวยาด้านอื่น ๆ  ตามความเหมาะสม..”

Leave a Reply