สัมภาษณ์พิเศษ : แรม เชียงกา ปราชญ์ตำบลหนองสาหร่ายประเมินจุดแข็ง-จุดอ่อน “โคก หนอง นา”

         “ใครคิดจะทำเศรษฐกิจพอเพียงอย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการ คือ หนึ่ง ต้องไม่มีหนี้ก้อนโต   สอง  ต้องไม่กลัวเปื้อนขี้โคลน ตากแดดได้ โดนฝนเป็น และบางครั้งต้องกล้าฆ่าสัตว์และ ประการที่สาม ต้องไม่อายทำกิน ต้องกล้าค้าขาย  ตำบลหนองส่าหร่ายของผมนี่ ตอนนี้เรามีเงินวิสาหกิจชุมชนหมุนเวียนปีหนึ่งประมาณ 190 ล้าน ทุกหมู่บ้านมีโรงงานชุมชนที่เป็นของส่วนรวมหมด เช่น ม.1 มีโรงสี ม. 2 มีโรงปุ๋ยอินทรีย์ ม.3.มีธนาคารชุมชน เป็นต้น คนเดินวิถีนี้ไม่มีทางอด แต่จะให้ร่างกายสบายเหมือนคนเมืองไม่ได้ แต่ใจสุขกว่าคนเมืองเยอะ ความสามัคคีมีมากกว่าสังคมเมืองมาก ที่นี่อากาศดี อาหารปลอดสารพิษ คนส่วนใหญ่อารมณ์ดีไม่เครียด..

            โครงการ โคก หนอง นา ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีมากที่รัฐส่งเสริมให้งบประมาณเข้าถึงครัวเรือนโดยตรง ตอนนี้คนนิยมกระจายไปทั่วประเทศ เพราะหลังเกิดโควิด คนเริ่มรู้แล้วว่า ความมั่นคงเรื่องอาหารเป็นสิ่งจำเป็นต่อครอบครัวมาก ”   แรม  เชียงกา ปราชญ์ชุมชนต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จังหวัด กาญจนบุรี

          จังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดใหญ่อันดับสามของประเทศไทย  เป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชผักและแหล่งธรรมชาติเป็นเมืองประวัติศาสตร์และเป็นเมืองท่องเที่ยว มีแม่น้ำ 7 -8 สาย มีเขื่อน 4-5 แห่ง   น้ำดินอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะผลักดันให้เป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เป็นเมืองอู่น้ำ อู่ข้าวของประเทศ

          ในจังหวัดกาญจนบุรีมีปราชญ์เกษตรหลายคนทีมงานเราได้ข้อมูลมาว่า ที่ ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี มีปราชญ์ชุมชนท่านหนึ่งชื่อ “แรม” เชี่ยวชาญเรื่องศาสตร์พระราชา เชี่ยวชาญเรื่อง โคก หนอง นา  มีการขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งเรื่อง “ความพอเพียง” มิใช่ระดับครัวเรือน หมู่บ้านเท่านั้น  แต่ได้สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสู่ระดับตำบล แบบ “ตำบลพึ่งพาตนเอง” โดยผลิต ปลูก กิน และใช้ ในชุมชนตำบลตัวเอง ซื้อขายกันเองในตำบล พึ่งพาตนเองตามแนวศาสตร์ของพระราชา มีเงินหมุนเวียนปีหนึ่งเกือบ 200 ล้านบาท

          เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเราได้เดินทางไปดูพื้นที่ทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์ของพระราชาของ “พี่แรม”  ที่ ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี บนเนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน ที่ประกอบไปด้วยอาคารแหล่งเรียนรู้ บ่อน้ำ บ้านโฮมสเตย์ คอกวัวและแปลงผัก ทุ่งนา

          โดยแบ่งสัดส่วนพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน เหมือนกับการจัดการที่ดินตามศาสตร์ของพระราชาทั่วไป คือ หนึ่ง แหล่งน้ำ 30 เปอร์เซ็นต์ นาข้าว 30 เปอร์เซ็นต์ แปลงผักเกษตรอีก 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นบ้านเรือนและคอกวัว

 

          หลังจากเจ้าของถิ่นพาเดินดูรอบ ๆ แปลงพื้นที่ที่จัดเอาไว้ได้อย่างเป็นสัดส่วนและลงตัว พาไปดูแปลงนาผัก บ่อน้ำเลี้ยงปลา คอกวัว ซึ่งเท่าที่สังเกตมีป้ายหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนหลายแหล่งลงขันมาช่วยเหลือมาพัฒนาพื้นที่เป็น “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียง”  เรียบร้อยได้แล้ว ทีมงานได้สัมภาษณ์พิเศษพี่แรมหรือ คุณแรม  เชียงกา โดยได้เลือกนำมาเผยแพร่บางช่วงบางตอนดังต่อไปนี้

 @ ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มานานแค่ไหนแล้ว

          เข้าร่วมโครงการจริง ๆ ตั้งแต่ปี 58 เนื่องจากตรงนี้เป็นพื้นที่ทำนาก็ทำการเกษตรโดยทั่วไป ไปจับมือกับทางมหาวิทยาลัยรังสิต ทำเป็นคล้าย ๆ เหมือนเป็นแหล่งเรียนรู้แล้วก็สัมมนาเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับประชาชนและเกษตรกรที่สนใจ  ปี 59 ก็ได้พัฒนามาเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของตำบลของอำเภอของจังหวัดตามลำดับ  และก็ปี 60 เข้าร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ทำกิจกรรมหลายอย่างร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ปีนี้ก็พัฒนามาเป็นศูนย์เรียนรู้อีกตัวหนึ่งในเรื่องของการดูแลช่วยเหลือผู้พ้นโทษของกรมราชทัณฑ์ ให้มาอบรมโดยใช้งบของ ป.ป.ส.  เป็นศูนย์อบรมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและต้องการจะกักตัว…พัฒนาต่อเนื่อง

          “ ผมเองไม่มีโอกาสทางการศึกษา  เป็นลูกคนโตของครอบครัว หลังจากที่จบม.3 ก็ต้องออกมาดูแลครอบครัว มาช่วยพ่อแม่ทำงานแล้วก็จะส่งน้องเรียน มีโอกาสดีตอนอายุประมาณเกือบ 21 ปีได้เป็นทหาร แล้วก็มีโอกาสได้ไปขอสอบชิงทุนเพื่อไปฝึกงานในครอบครัวของญี่ปุ่นเมื่อปีพ.ศ. 2534 ก็เลือกสาขาวิชาทำนา เปลี่ยนระบบการทำงานของตำบลหนองสาหร่าย จากที่เคยใช้แรงงานเยอะ ไม่มีเครื่องจักกลเข้ามา ก็มาปรับมาเปลี่ยน เผอิญปี 36-37 ระบบชลประทานเครื่องจักรกลเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมันมีทั้งดีและไม่ดี ที่ดีคือเสร็จเร็ว ทำเร็ว ในส่วนที่ไม่ดีก็คือความเป็นตัวตน ความเป็นสังคมหมู่ก็เลยหายไป ต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้น  ใครมีทุนก็ซื้อเครื่องจักรไว้ทำเองแล้วก็มารับจ้างใคร ไม่มีทุนก็ต้องไปรอคิวนี่คือสิ่งที่ดีและไม่ดี  เราคิดว่าแบบนี้อยู่ต่อไปไม่ได้ละ เพราะต่างคนต่างอยู่ มิใช้รากเหง้าของวิถีชีวิตปู่ยาตายายเรา ในปี พ.ศ. 2549 ก็เริ่มปรับมาเป็นศูนย์ที่ผมบอกอบรมพัฒนาต่อยอดมาเป็น จนทุกวันนี้..”

@  การที่เราทำแบบนี้เราอยู่รอดได้ไห

          ถ้าไม่มีหนี้มีสินเราอยู่ได้สบายเลย วันนี้ก็เลยต้องบอกว่าใครจะใช้ศาสตร์พระราชา หากยังมีหนี้สินอยู่ยังใช้ได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากคนเริ่มต้น มันไม่สามารถมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เราต้องกินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กินได้  โครงการนี้คือต้องเริ่มจากการปรับตัว สรุปคือ หนึ่ง คือต้องไม่มีหนี้มีสินก้อนโต สอง คุณต้องทำใจให้ได้ว่าบาปเนี่ยคุณอย่าไปคิดใช้ชีวิตแบบปู่ย่าตายายเรา ใครมาเยี่ยมมาเยือนก็เชือดไก่ เชือดหมู จับปลาเลี้ยงดูปูเสือ   สาม ตัวเราต้องเป็นนักขายเป็น เราต้องกล้าค้าขาย เราต้องใช้ตัวเราเป็นตลาด ใช้คนรอบข้างเป็นตลาด สาม ใช้เครือข่ายเป็นตลาดคือบอกต่อ

@  ตำบาลหนองสาหร่ายมีรายได้และเงินหมุนเวียนเกือบ 200 ล้านบาท

           ใช่ครับ!! ทั้งตำบลเลยมี 9 หมู่บ้าน  3,000 กว่าคน กว่าคน มีรายได้ 198 ล้าน มีรายจ่าย 123 ล้านพวกเราทำงานกันเป็นเครือข่ายชุมชนเป็นวิสาหกิจระดับตำบล แต่ละหมู่มีโรงงานของกลุ่มทุกหมู่  หมู่ 1 ทำโรงงานปุ๋ยอินทรีย์  อัดเม็ด แต่ไม่ได้เป็นของหมู่ 1 เป็นของทั้งตำบลทั้งตลาดนะ หมู่ที่ 2 ทำโรงงานน้ำดื่มให้หมู่ 2 รับผิดชอบดูแล แต่ไม่ได้เป็นของหมู่ 2 เป็นของทั้งตำบล หมู่ที่ 3 จัดการขยะ  หมู่ที่ 4 เรื่องของสถาบันการเงิน เรื่องของธนาคารความดี เรื่องของสวัสดิการชุมชนและเรื่องศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตำบลของพัฒนาชุมชน อันนี้คือในส่วนของหมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 เป็นโรงงานผลิตน้ำยาอเนกประสงค์ กับโรงงานน้ำดื่มนะครับ ของผมอยู่หมู่ที่ 6 จะมีเรื่องตลาดการข้าว มีโรงสีข้าว มีกลุ่มพริกแกง มีกลุ่มทอผ้า มีกลุ่มจักสาน มีกลุ่มทอพรมเช็ดเท้า มีกลุ่มเลี้ยงไส้เดือนดิน มีกลุ่มทำขนมทองม้วน มีกลุ่มทำขนมนางเล็ด  เรากระจายเป็นเครือข่ายนะครับ ส่วนหมู่ที่ 7 เป็นเรื่องน้ำหมักอินทรีย์กันน้ำ หมู่ที่ 8 เป็นโรงงานขนมขบเคี้ยว เน้นหนักเรื่องของกล้วย แปรรูปกล้วยจากไร่ปลายนามาเป็นกล้วยรสบาร์บีคิวแล้วหมู่ที่ 9 เป็นโรงสีข้าวชุมชนกับปั๊มน้ำมันอันนี้คือทุกหมู่บ้านนะครับ ไม่ได้เป็นของหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง เป็นของคนทั้งตำบลใครอยากถือหุ้นโรงสีไหนก็ไปถือเอา

@ โคก หนอง นา เข้ามามีบทบาท ตรงไหน

          ทีแรกผมสมัครโคกหนองนาแปลง 5 ไร่ ที่แรกเขาบอกว่ามีสระน้ำแล้วไม่ต้องขุด สุดท้ายคือมันมีแปลนแบบพิมพ์เขียวมาเสร็จสับเลย เห็นภาพแล้วผมก็หวั่นใจกับคนที่ทำ เนื่องจากเราไปยึดพิมพ์เขียวเป็นหลัก แล้วเราไม่ได้ดูศักยภาพพื้นที่ดินของเรา สระน้ำมันต้องอยู่แถบเดียวทั้งหมดเลยอย่างนี้ ปกติแล้วสระน้ำต้องอยู่ทางทิศใต้เพราะที่มันสูงมันไหลตรงนี่ แต่ตรงนี้ไม่ไหล มันคือปัญหาอยู่สุดท้ายไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็เลยถอนตัวออก แต่ผมก็ยังเป็นคณะกรรมการดูแลนะครับ ผมเป็นที่ปรึกษาพัฒนาการจังหวัดตั้งแต่หัวหน้าคนก่อนแล้ว

 @ ในฐานะปราชญ์ชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียงมองจุดแข็ง โคก หนอง นา  มีอะไรบ้าง

           จุดแข็ง โคกหนองนา สิ่งที่เห็นคือ หนึ่ง การเติมพลังองค์ความรู้ให้คนเข้าร่วมโครงการก่อน  อย่างน้อยคุณได้มีการอบรม ได้มีการเรียนรู้ คุณได้มีการแลกเปลี่ยนได้เข้าใจหลักทฤษฎีพระองค์ท่าน อันนี้คือสิ่งที่เป็นจุดแข็งทุกคนทีไม่เคยรู้เลย ก็ได้รู้แหละศาสตร์พระราชามันคืออะไร ทฤษฎีใหม่มันคืออะไร แล้วโคกหนองนาโมเดลมันคืออะไร แล้วธรรมชีวิตคืออะไร มันคือจุดแข็งที่ทุกคนได้ตลอด 4 คืน  5 วันที่มาอบรม อันนี้จุดแข็งตัวที่ 1  ส่วนจุดแข็งตัวที่ 2 ไม่รู้ว่าโครงการโคก หนอง นา นี่มันจะเดินไปได้ไกลหรือไม่ แต่ตั้งแต่เกิดมาจนผมอายุย่าง 54 ปีแล้ว มันไม่เคยมีงบประมาณที่สามารถให้ชาวบ้าน control อย่างนี้ได้ เมื่อก่อนต้องให้เป็นกลุ่มใช่ไหม ให้เป็นกองทุนใช่ไหม ให้เป็นวัสดุอุปกรณ์ใช่ไหม แต่ตรงนี้งบโคก หนอง นา มันให้คุณสามารถทำอะไรก็ได้  เป็นการใช้จ่ายงบประมาณออกมาอย่างชัดเจนให้สามารถโยนให้กับใครก็ได้กับคนที่มีที่ดินอันนี้คือจุดแข็ง สำหรับจุดแข็งที่ 3 ถ้าเกิดมันรอดได้มันผ่านไปได้ ผมเชื่อว่ามันเกิดความมั่นคงด้านอาหาร ถ้าเกิดเราย้อนกลับไปสักเดือนที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปเดินตระเวนพบปะกับคนหนองสาหร่าย ทุกที่เหมือนกันหมดคือ ราคาพืชผักมันถูก ผักชีถูก แตงกวาถูก ต้นหอมถูก ใบกระเพาถูก ก็ย้อนกลับมาดูสาเหตุที่มันถูกเพราะเรามีโครงการของพัฒนาชุมชน ที่บอกว่า 90 วันเราก็ปลูกผักสวนครัวกัน ผักก็มีทุกบ้านไม่มีคนซื้อ ตลาดก็เลยตัน  หากเกิดมีศูนย์เรียนรู้สัก 2-3 หมื่นแปลงทั่วประเทศ  จ้างคนตกงานและมีค่าตอบแทนอีก 9,000 บาท นี้จุดแข็ง ของโคก หนอง นา กรมพัฒนาชุมชน

 @ อะไรคือจุดอ่อน โคก หนอง นา

           ส่วนจุดอ่อนตัวแรก ก็คือเราใช้แปลงโมเดลตัวเดียวกันทั้งประเทศ จะทำอะไรต้องใช้แปลงโมเดลเป็นหลัก  เชื่อว่าตรงเนี่ยมันยังมีการทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่พอสมควรโดยเฉพาะเรื่องของการวางผังแปลง ที่จริงแล้วแต่ละแปลงต้องมาถามชาวบ้านที่คุณลุ่มแบบนี้ฝนตกน้ำมันไหลทางไหน ขุดบ่อดักน้ำตรงไหน คลองไส้ไก่เอาน้ำลงตรงไหน แต่ถ้าเกิดเอาแผ่นสี่เหลี่ยมมาวางที่ตรงนี้มันไม่เท่ากระดาษเอสี่ที่คุณวาดให้ คือเป็นปัญหาที่เราต้องประชุมกันอยู่

           ตัวที่ 2 คือการขุด มันถูกควบคุมด้วยพระราชบัญญัติ ตอนนี้ทราบว่า อนุโลมให้แล้ว เนื่องจากเดิม ถ้าเป็นเขตเทศบาลหรือ อบต.ขุดเกิน 4 เมตรไม่ได้  พอแก้แล้วก็มีปัญหาอีกว่า คนทำโคก หนอง นา ขุดเกิน 4 เมตรได้ แล้วคนไม่ได้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ทำไมขุดไม่ได้ คนในท้องถิ่นก็อาจมีคำถามแบบนี้   นี่คือจุดอ่อนข้อที่สอง ที่ทุกหน่วยงานไม่ได้บูรณาการกัน

          จุดอ่อนข้อที่ 3 สิ่งที่เจอตอนนี้คือมันล่าช้าจริง ๆ แล้วโครงการนี้เขาต้องการทำถวายตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาเมื่อปีที่แล้ว สุดท้ายก็ยืดเยื้อมาตอนนี้จนอบรมเงินก้อนแรกอบรมหมดแล้ว ก้อนที่สองจะเติมมายังไม่เข้ามาเลย ตอนนี้จังหวัดกาญจนบุรียังขุดแทบไม่ถึง 10%

         ที่ตำบลหนองสาหร่ายนะมีขุดบ้างแล้ว อบรมหมดแล้ว ความจริงเรื่องนี้พระเจ้าแผ่นดินท่านลงมือเอง ทุกหน่วยงานก็ต้องบูรณาการกันมากว่านี้ อย่าให้พัฒนาชุมชนเป็นเจ้ามืออย่างเดียวมันต้องมีเกษตรเข้ามาด้วย เพราะพัฒนาชุมชนจะไปซื้อพันธุ์ไม้ คุณก็ไม่รู้ไซต์เท่าไร พันธุ์อะไร  สหกรณ์ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ฝ่ายบัญชีก็เข้ามาเกี่ยวข้อง ตอนนี้พัฒนาชุมชนเป็นพระเอกคนเดียว ทั้งต้นไม้ ทั้ง ๆไม่มีความรู้เรื่องต้นไม้ ต้องมาจัดซื้อจัดจ้างต้องมาดูแลเขา ปลูกยังไงเวลาปลูกปลูกกันไม่เป็นเลยบัญชีต้องทำระบบบัญชี มันเกี่ยวข้องหลายงานที่ต้องบูรณาการกัน

         จุดอ่อนตัวที่ 4 ต้องมีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง พาณิชย์ เข้ามาเกี่ยวข้องบ้างได้ไหม ถ้าเกิดของผม ปลูกผักอย่างเดียว ปลูกแค่ 1 ไร่มันก็กินพอใช้แล้ว  อีก 8 ไร่ การตลาดต้องมาแหละ การแปรรูปต้องเข้ามาแหละ อุตสาหกรรมต้องมา มันจะได้จบ อันนี้เป็นข้ออ่อนที่ผมคิดว่าหน่วยงานรัฐเขายังไม่ได้บูรณาการกัน..แรม เชียงกา ได้วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โครงการโคก หนอง นา ปิดท้ายในท้ายของการสนทนา

        สำหรับศูนย์เรียนรู้ต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่นี่มีนักศึกษามาอบรมต่อเนื่องทั้งจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน จ.นครปฐม มหาวิทยาลัยรังสิต รวมทั้งสถาบันการศึกษาอื่น ๆ   นอกจากนี้ก็มีหลักสูตรระยะสั้นสำหรับประชาชนทั่วไป มีที่พักโฮมสเตย์ทั้งในระดับประเทศและอาเซียน ตามมาตรการของกรมการท่องเที่ยว

      หากท่านใดสนใจอยากจะไปเที่ยวดูศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ สามารถไปดูศึกษาได้ทุกวัน ตั้งอยู่ หมู่ที่ 6 ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี  โทร   089-830-7688

 

Leave a Reply