วันที่ 30 กรกฏาคม 2562 ที่วัดบ่าว ทั่ง เมืองฮอยอัน ประเทศเวียดนาม พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ได้รับนิมนต์จากภิกษุณีหั่น เจิง เจ้าอาวาส อายุ 81 ปี บรรยายธรรมโปรดภิกษุณีและฆราวาสญาติโยมที่มาร่วมรับฟังกว่า 200 รูป/คน ที่ศาลาปฏิบัติธรรมของวัด ก่อนที่จะเตรียมตัวออกพรรษาตามแนวทางของพระพุทธศาสนามหายาน
พระภิกษุและภิกษุณีในเวียดนามได้เข้าพรรษา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ตามวิถีปฏิบัตินั้นภิกษุณีทั้งฮอยอันจะมาเข้าพรรษา ณ วัดแห่งนี้ หลังจากออกพรรษาจึงจะแยกย้ายกลับไปปฏิบัติศาสนกิจตามพื้นที่ต่างๆ โดยวัดแห่งนี้มีภิกษุณี 2 รูป จาก 30 กว่ารูปที่เดินทางไปศึกษาที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาจุฬาฯ
ตลอด 3 เดือนของการเข้าพรรษานั้น ภิกษุณี ณ วัดแห่งนี้ มุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติตัวและดำรงตนอยู่วิถีแห่งสติ และสมาธิอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสวดมนต์ไหว้พระ และบำเพ็ญสติสมาธิภาวนา ตั้งแต่ 3 นาฬิกา รวมไปถึงการฟังการบรรยายเพื่อพัฒนาปัญญาจากพระมหาเถระที่เวียนมาแสดงธรรม และพาปฏิบัติธรรม เพื่อเพิ่มพลังจิตให้มีสติ สมาธิ และปัญญา
จากการเดินทางมาเวียดนามในหลายโอกาส ทำให้พบว่า แม้ประเทศเวียดนามจะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ แต่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติศาสนกิจอย่างมีเสรีภาพ และนับวันจะสนับสนุนและให้ความสำคัญพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเวียดนาม ดังจะเห็นจากการจัดงานวิสาขบูชาโลกใน 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการพัฒนาถนนสายจิตวิญญาณ (Spiritual Road) ครอบคลุม 5 จังหวัดโดยเริ่มจากฮานอยไปฮานัมจนไปจบที่ไบดิง
วิถีชีวิตของชาวเวียดนามในยุคปัจจุบันจึงมีสองภาพเคียงคู่กัน กล่าวคือ ภาพแห่งการไฝ่การศึกษา ขยันทำมาหากิน สู้ชีวิตพัฒนาเศรษฐกิจ จนทำให้จีดีพีเติบโตแซงหน้าประเทศไทยมากว่า 10 ปี และอีกภาพหนึ่งคือ จำนวนของพุทธศาสนิกชน กลุ่มคนที่บวชเป็นภิกษุณี รวมไปถึงคนที่มุ่งมั่นตั้งใจใฝ่ในการปฏิบัติธรรมตามเทศกาล และตามวัดวาอารามต่างๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ยิ่งไปกว่านั้นภาพของผู้นำทางการเมืองของประเทศโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและเหล่ารัฐมนตรี มองเห็นโอกาสดังกล่าวจึงได้กระตุ้นให้สังคมกลับไปหาภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สร้างเวียดนามมา จึงได้ทุ่มสรรพกำลังจัดงานวิสาขบูชาโลก จัดแผนที่การท่องเที่ยวเชิงพุทธ และสนับสนุนให้ตั้งสถาบันตรัน ฮัง ตง โดยใช้ชื่อกษัตริย์ที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาแล้วเปิดปริญญาโท และเอก สาขาพุทธศาสนาในสถาบันแห่งนี้ อีกทั้งเป็นแบบอย่างของนักการเมืองที่เปี่ยมด้วยธรรมาภิบาล
เมื่อใจรักษากาย และกายรักษาใจ จึงเป็นห่วงโซ่แห่งการปฏิสัมพันธ์พัฒนาคู่ขนานกันอย่างแยกไม่ออก แม้จะมุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก แต่จิตใจก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่ โดยมีสติสมาธิ และปัญญาหล่อเลี้ยงให้ชุ่มชื่นด้วยพลังแห่งความสุขอยู่ตลอดเวลา
“จะเห็นว่า เศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา เทคโนโลยี และสังคม จึงมีจุดเริ่มที่แดนกลาง นั่นคือ #มนุษย์ สังคมที่เคยฆ่ากันด้วยเหตุแห่งสงครามและความรุนแรง จึงมองเห็นคุณค่าของสันติสุขเสมอ สันติสุขที่มีสติ และสมาธิเป็นฐาน” ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร กล่าวและว่า
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกและตื่นเต้น หากรัฐบาล และชาวเวียดนามจะหันมาพัฒนาประเทศทั้งวัตถุและจิตใจให้เจริญไปด้วยกัน สอดรับกับทิศทางของยูเอ็นที่เน้นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนว Sustainable Development Goals หรือ SDGs ทั้งหมดจึงเป็นการเดินตามแผนที่ที่โฮจิมินท์ ได้วางไว้ว่า “ปลูกต้นไม้ 10 ได้ร่มเงา ปลูกคน 100 ปี ได้อาศัย”
Leave a Reply