“ทำไมต้อง Change for Good” ปลัดมหาดไทย มีคำตอบ??

วันที่  12 ก.ย. 2565  เวลา 11.00 น. ณ ห้อง War Room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 79 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายใต้หลักสูตรผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ทำไมต้อง Change for Good” ผ่านระบบ Zoom Meeting ไปยังห้องประชุมเหลืองอินเดีย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เพื่อให้แก่คณะผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 79

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 79 ทุกท่าน ที่ได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อศึกษาอบรมในหลักสูตรที่มีเกียรติอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เป็นหนึ่งในสองหลักสูตรที่ทางสำนักงาน ก.พ. ให้การรับรอง ร่วมกับหลักสูตร นบส. ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับการเตรียมตัวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงต่อไป ผู้เข้าอบรมก็ยิ่งต้องมุ่งมั่นและทุ่มเทในการเข้ารับการศึกษาอบรมอย่างเต็มภาคภูมิ พร้อมเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ทางสถาบันดำรงราชานุภาพจัดสรรให้ได้เรียนรู้อย่างเต็มกำลังความสามารถด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาของการศึกษาอบรมทั้ง 7 วัน ระหว่างวันที่ 12 – 19 กันยายน 2565 นั้น จะได้ช่วยทำให้ทุกท่านได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ ความสามารถและทักษะในการทำงาน ตลอดจนสร้างพื้นที่เพื่อการพบปะและสานสัมพันธ์กับเพื่อนข้าราชการ ทั้งที่อยู่ในกรมเดียวกัน รวมถึงต่างกรมและต่างกระทรวง อันจะนำไปสู่การสร้างมิตรภาพที่ดีเพื่อเป็นกัลยาณมิตรร่วมกันในระยะยาว ซึ่งจะช่วยสนับสนุน ส่งเสริม และเกื้อหนุนการทำงานกันในอนาคต สำหรับหัวข้อบรรยายพิเศษ “ทำไมต้อง Change for Good” ซึ่งสาระสำคัญส่วนนี้คงหนีไม่พ้นการทำในสิ่งที่ดี ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป และในส่วนที่ไม่ดี เราก็ต้องเร่งแก้ไข ปรับปรุง ให้ดีกว่าเก่า ก่อนขยายผลไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีออกสู่สังคม เพื่อให้พี่น้องประชานอยู่ดีมีสุข และประเทศชาติเกิดความมั่นคงปลอดภัย

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญประการหนึ่งที่ข้าราชการทุกคนควรยึดถือให้มั่น นั่นก็คือ การน้อมนำศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” หลักการทรงงาน ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และหลักภูมิสังคม ที่พระองค์ท่านได้เคยพระราชทานไว้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานด้านการพัฒนาด้วย กล่าวคือ ก่อนจะทำอะไรนั้น เราต้องมีความเข้าใจเสียก่อน คือ เข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจผู้คนในหลากหลายปัญหา ทั้งทางด้านกายภาพ ด้านจารีตประเพณี และวัฒนธรรม เป็นต้น การ “เข้าถึง” ก็เช่นกัน เมื่อรู้ปัญหาแล้ว เข้าใจแล้ว จะต้องทำอย่างไรก็ตามเพื่อให้เข้าถึงปัญหา เข้าถึงพื้นที่ และเข้าถึงบุคคล เพื่อให้คนในพื้นที่อยากเข้าถึงเราด้วย ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หลักการดังกล่าวเป็นการสื่อสารทั้งทางไปและกลับ ซึ่งถ้าสามารถทำทั้งสองประการได้สำเร็จแล้ว เรื่อง “การพัฒนา” จะลงเอยได้อย่างดี เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน ต่างฝ่ายอยากจะเข้าถึงกันแล้ว การพัฒนาจะเป็นการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ก็คือ การเรียนรู้กระบวนการคิดบนรากฐานของการเข้าใจมนุษย์ การเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้การสร้างสรรค์นั้นตอบสนองความต้องการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และการพัฒนาด้วยความรู้และภูมิปัญญาที่ไม่จำกัดอยู่แค่ด้านใดด้านหนึ่ง ตลอดจนการทดลองและปรับปรุงจนได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างไม่รู้จบ นอกจากนี้ขอให้ทุกท่านพึงตระหนักไว้อยู่เสมอว่า การพัฒนาใดๆ ก็ตามต้องคำนึงภูมิสังคมด้วย กล่าวคือ ต้องทราบว่าภูมิประเทศของบริเวณนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน และใช้หลักในการปรับตัวให้อยู่กับธรรมชาติให้ได้ ซึ่งหากทุกท่านสามารถทำได้เช่นนี้แล้ว การพัฒนาในระดับพื้นที่ก็จะเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และหลักภูมิสังคม ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ นปส. 79 ทุกคน ในฐานะ “ผู้นำ” จะทำให้บรรลุตามเป้าหมายและอุดมการณ์ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน นั่นก็คือ ต้องดึงเอาความรู้ (Knowledge) ความสามารถ (Ability) และทัศนคติ (Attitude) ที่ดี อันจะทำให้การทำงานสำเร็จได้ (Success) ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ Attitude เพราะถ้า Attitude เป็นลบแล้ว จะทำอะไรก็เกิดแต่เรื่องที่ไม่ดี แต่ถ้าทัศนคติดี ทัศนคติเป็นบวก ทำอะไรก็จะสำเร็จ ซึ่ง “ผู้นำ” ที่ดี ต้องมีโลกทัศน์กว้างไกล และต้องรู้จักปลุกเร้า Passion ให้ตนเองมีไฟอยู่เสมอ อีกทั้งยังต้องรู้จักเลือกใช้คนที่มีความเหมาะสมกับงาน มีใจที่อยากจะทำงานให้ประสบความสำเร็จร่วมกับทีมงานภาคีเครือข่าย (Working Groups) หรือผู้มีจิตอาสา (Volunteer Groups) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการทำงานควบคู่ไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้ ผู้นำที่ดียังต้องกล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า หรือ Change for Good ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ต้อง Change for Good นั้น ก็เพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สร้างคุณค่าต่อสังคม และยกระดับการปฏิบัติงานและการให้บริการแก่ประชาชนด้วย

“ชีวิตการทำงานของข้าราชการมีโครงสร้างการทำงานที่ใหญ่ๆ อยู่ 3 สิ่ง คือ (1) ต้องเป็นคนที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่องานประจำ (Routine Job) ด้วยการทำงานในหน้าที่ให้ดี อันเป็นผลงานขั้นต้นของทุกคน (2) ใช้ความกล้าที่จะระดมสรรพกำลังของทีมงานมาช่วยกันขับเคลื่อนงานพิเศษนอกเหนือจากงานประจำ (Extra job) อันจะเสริมทำให้งานบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้สำเร็จ และ (3) ต้องทำให้สังคมรับรู้ ด้วยการรายงาน สื่อสาร สร้างการรับรู้กับผู้คน (Report) โดยทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนที่เป็นทางการ คือ รายงานผู้บังคับบัญชา รายงานพี่น้องประชาชน และสื่อที่ไม่เป็นทางการ คือ ใช้ช่องทางสื่อสารในชีวิตประจำวันของตนเองสื่อสิ่งที่ทำ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ และช่องทางที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงประโยชน์จากงานที่เราทำให้มากที่สุด พร้อมกันนี้ยังต้อง “ปลุกไฟในตัวให้ลุกโชนขึ้นมา และสร้าง Passion การเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการสร้างทีมงาน เพื่อให้ทีมงานช่วยสนับสนุนการ Change for Good ให้กับสังคมในวงกว้าง จนกลายเป็นลูกโซ่แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน อันส่งจะส่งผลทำให้ความตั้งใจในการรับราชการของทุกคน คือ “การได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ได้มีผลสัมฤทธิ์ที่เพิ่มทวีขึ้นกว่าที่เราทำมา เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ขจัดความยากจน ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ความทุกข์ลดน้อยลงจนหมดไป ด้วยการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่เป้าหมายการพัฒนาชีวิตของประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน” นั่นเอง ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้เน้นย้ำให้ข้าราชการทุกท่านที่เข้ารับการอบรมในวันนี้ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของงานราชการ และพึงปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อความอยู่ดีมีสุขของพี่น้องประชาชนคนไทย และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ สมดังพระปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของชาวสยาม” และพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ซึ่งนี่คือหัวใจสำคัญที่สุดที่ข้าราชการทุกคนต้องดำเนินรอยตาม เพื่อประโยชน์สุขต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืนสืบไป และให้น้อมนำกลไกขับเคลื่อนงานสืบสานพระราชาเพื่อการปฏิรูปประเทศ กลไก 3 5 7 อันหมายถึง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นที่/ชุมชน ระดับจังหวัด ระดับประเทศ 5 กลไก ได้แก่ การประสานงานภาคีเครือข่าย การบูรณาการแผนงานและยุทธศาสตร์ การติดตามประเมินผล การจัดการความรู้ และการสื่อสารสังคม และ 7 ภาคี ได้แก่ ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาคเอกชน ภาคสื่อสารมวลชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม มาใช้ในการทำงานเพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ความทุกข์ลดลงจนหมดไปด้วย

ท้ายนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้หยิบยกแนวทางการทำงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ความว่า “การเป็นผู้นำนั้น ต้องให้รองเท้าขาดก่อนกางเกง คือ ออกตรวจจนรองเท้าขาด ไม่ใช่นั่งเก้าอี้จนกางเกงขาด” เพราะหลักโบราณก็มีอยู่ว่า “จงคิด จงสั่ง จงตรวจ” เพื่อให้ข้าราชการผู้เข้ารับการอบรมศึกษาทุกท่านได้มีไว้เป็นเครื่องเตือนใจในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนสืบไปตราบนานเท่านาน..

Leave a Reply