อดีตหัวหน้าพรรคปฎิรูปมาแล้ว!! “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ฟังธง!! ปมปลด 3 เจ้าคณะจังหวัด เป็นไปตามกฎหมาย ชี้ลูกศิษย์ยื่นสอบท้อเท็จจริง ไม่อยู่ในอำนาจ กมธ.

วันที่ 15 ต.ค. 64 วานนี้ มติชนออนไลน์เสนอข่าวว่า  นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุม กมธ.วาระพิจารณา เรื่อง ขอความเป็นธรรมกรณีพระสังฆาธิการถูกถอดออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด จำนวน 3 รูป ได้แก่ พระธรรมรัตนาภรณ์ (สมศักดิ์ โชตินฺธโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี, พระเทพสารเมธี (บัวศรี ชุตินฺธโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) และพระราชปริยัติสุนทร (อมรภิรักษ์ ปสนฺโน) อดีตเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ว่ามีตัวแทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และฝ่ายเลขาธิการของมหาเถรสมาคม (มส.) เข้าชี้แจง โดยสาระสำคัญคือการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัดทั้ง 3 รูปนั้น ได้ดำเนินการตามกฎหมาย คือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 ในหมวด 3 ว่าด้วยการปกครองคณะสงฆ์ มาตรา 20/2 วรรคแรกกำหนดให้การแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาค หากมีพระราชดำริเป็นประการใด ให้ดำเนินการตามพระราชดำรินั้น ซึ่งโยงถึงกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 พ.ศ.2541 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 พ.ศ.2563 ข้อ 5/1 (2) ซึ่งกำหนดให้การถอดถอน เจ้าคณะจังหวัดให้เสนอต่อมหาเถรสมาคมพิจารณาทุกกรณี

นายไพบูลย์กล่าวว่า จากนั้นให้สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะประธานกรรมการเถรสมาคม เสนอไปยังราชเลขานุการในพระองค์ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อมีพระราชดำริเป็นประการใดให้มหาเถรสมาคมมีมติเห็นชอบโดยอนุวัติตามพระราชดำรินั้น แล้วจึงดำเนินการต่อไปได้ และให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมรายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ทาง กมธ.ได้สอบถามถึงเหตุผลของการดำเนินการถอดถอนนั้น ผู้ที่มาชี้แจงระบุว่าไม่ทราบ เนื่องจากเป็นเรื่องทางปกครองของสงฆ์ และเป็นไปตามอำนาจของเจ้าคณะใหญ่ที่พิจารณา โดยเบื้องต้นคาดว่ามีเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเห็นว่าควรถอดถอน เจ้าคณะใหญ่จึงเสนอให้ มส.พิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและกฎของมหาเถรสมาคม ดังนั้น การพิจารณาเรื่องดังกล่าวในชั้น กมธ.ถือว่ายุติเรื่องแล้ว ส่วนกรณีที่ลูกศิษย์ของเจ้าคณะจังหวัดที่ถูกถอดถอนยื่นของให้ กมธ.ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะมีข้อสงสัยนั้น ไม่อยู่ในอำนาจของ กมธ.

“การถอดถอนเจ้าคณะจังหวัดทั้ง 3 รูป ตามกฎหมายคณะสงฆ์และกฎของมหาเถรสมาคมที่เป็นกฎการปกครองของคณะสงฆ์ จะมีผลแค่ถอดถอนเฉพาะตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเท่านั้น แต่สมศักดิ์ความเป็นภิกษุ เจ้าอาวาสยังคงสถานะเดิม ส่วนที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนการถอดถอนควรสอบอธิกรณ์ให้สิ้นสงสัย ผมมองว่าเป็นคนละเรื่องกัน เพราะการถอดถอนจากเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งเป็นตำแหน่งทางปกครองของสงฆ์ไม่ใช่เรื่องธรรมวินัย การประพฤติผิดพระธรรมวินัย หรือวินัยของสงฆ์” นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์กล่าวด้วยว่า สนับสนุนกฎของคณะสงฆ์และกฎของ มส.ต่อเรื่องดังกล่าว เพราะมองว่าดีต่อการปกครองคณะสงฆ์ที่จะสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและต้องระวัง ในอดีตนั้น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ระบุการถอดถอนไว้ แต่ไม่ชัดเจนเหมือนกับกฎหมายที่แก้ไขล่าสุด จึงถอดถอนไม่ได้ หากตามสายบังคับบัญชาเป็นพวกเดียวกัน อาจอุ้มกันไป จนทำให้ต้องมีการปฏิรูป พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2561 ทำให้เจ้าคณะจังหวัดต้องปฏิบัติหน้าที่ในกรอบความถูกต้อง หากทำไม่ถูกมีสิทธิพิจารณาถอดถอนได้

“แหล่งข่าว” ผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งเปิดเผยกับผู้สื่อข่าว “thebuddh” ว่า ความจริงที่ประชุมใหญ่ขอความร่วมมือสมาชิก “ห้ามให้ข่าว” เกี่ยวกับประเด็นความอ่อนไหวนี้ และได้สั่งให้ฝ่ายเลขาบันทึกประเด็นต่าง ๆ ไว้เป็นหลักฐานแล้วค่อยรวบรวม “พิมพ์เป็นตัวอักษร” แจกให้กับสื่อมวลชนเท่านั้น บรรยากาศที่ประชุมของ กมธ.ศาสนา มีสมาชิกถามตัวแทนของ พศ.ซึ่งส่ง คุณสมบัติ พิมพ์สอน  ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมมาชี้แจง ท่านโยนให้กับ “เจ้าคณะหน” อย่างเดียว ทั้งอ้างว่า “รายชื่อเจ้าคณะหนส่งมาให้”  บางเรื่อง คุณไพบูลย์ นิติตะวัน ก็ตอบแทนสำนักงานพุทธเขา ซึ่งเรื่องนี้ยังชี้แจงไม่ชัด  จะไปบอกว่า “เจ้าคณะหน” มีอำนาจสั่งปลด ตั้งใครก็ได้  “ไม่ได้”  ตามกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเบ็ดเสร็จไว้ขนาดนั้น

       “ พระราชดำริ มันเหมือนกับ ปลายน้ำ แต่ต้นน้ำ คือขบวนการสอบสวนประเด็นเรื่องร้องเรียนมันต้องมี กลางน้ำมหาเถรสมาคม จะต้องรับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นว่ามูลเหตุมาจากอะไร เท่าที่ฟังจากที่ประชุม กมธ.ศาสนา หลายคนก็ยังติดใจ คิดว่าคงยังไม่จบง่าย ๆ..” แหล่งข่าวระบุ

      สำหรับนายไพบูลย์ นิติตะวัน นักการเมืองชาวไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

     อดีตเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ  และหัวหน้าพรรคปฎิรูป ซึ่งในคราวหาเสียงที่ผ่านมาพรรคมีสโลแกนว่า “น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้ามาปฎิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหา “ทุกข์ร้อน” ให้ประชาชนคือ งานหลักของพรรคปฎิรูป”

Leave a Reply