เมื่อวันอังคารที่ 27 กันยายน 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกิจกรรมมหาดไทยปันสุขของกระทรวงมหาดไทย ในงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 มหกรรมความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ในแนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) สร้างสมดุลที่ดีเพื่อโลกที่ดีกว่า จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2565 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า ขณะนี้ได้รับผลิตผลจากแปลง โคก หนอง นา และผลผลิตอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากมาจากภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ
จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงาน Sustainability EXPO 2022 หรือ SX 2022 ในระหว่างวันที่ 26 ก.ย. – 2 ต.ค. 65 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเชิญรับน้ำใจในกิจกรรม “มหาดไทยปันสุข” จากพี่น้องภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด “Our Loss is Our Gain ขาดทุน คือ กำไร ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา” เพื่อให้ทุกคนที่เข้าเยี่ยมชมงานสามารถนำไปบริโภค รับประทาน หรือนำไปฝากพี่ ๆ น้อง ๆ ญาติผู้ใหญ่ ได้โดยไม่ต้องซื้อ เพียงร่วมบริจาคตามกำลังศรัทธาแทน
“ทั้งนี้ขอให้พกถุงผ้ามาด้วย เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก โดยจะนำรายได้จากการร่วมบริจาคทั้งหมด ไปสมทบทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปี พ.ศ. 2565 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรียกได้ว่า อิ่มทั้งกายและอิ่มทั้งใจ ทั้งจากเครือข่ายผู้ให้ และผู้รับที่เข้าร่วมเยี่ยมชมงาน” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทย ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมมหาดไทยปันสุขเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 โดยได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” มาเผยแพร่ข่าวสารเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและองค์กรต่าง ๆ มาร่วมใจกันสานต่อแนวพระราชดำริให้เป็นรูปธรรมต่อไป นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศไว้
โดยชาวอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมนำผลิตผลทางเกษตรนอกจากที่ใช้ในการบริโภคภายในครัวเรือน จากพี่น้องเครือข่าย “ทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่โคกหนองนาโมเดล” อำเภอแม่เเจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (Househole Lab Model for quality of life : HLM) ทั้งหมด 558 แปลง และชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตำบล (Community Lab. Model for quality of life : CLM) ทั้ง 7 แห่ง ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งผลิตผลทางการเกษตรร่วมกับ “โครงการมหาดไทยปันสุข” ในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2022 โดยส่งผลิตผลทางการเกษตรเข้าร่วมโครงการมหาดไทยปันสุข ดังนี้ 1.ข้าวสารจากดอยแม่แจ่ม 2.กะหล่ำปลี 3. ซาโยเต้ (ฟักแม้ว) 4. กล้วยน้ำว้า 5. มะเขือเทศ 6. อะโวคาโด และผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากมาจากภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ ซึ่งโครงการมหาดไทยปันสุขได้รับความสนใจจากพี่น้องประชนผู้เข้าชมงาน SUSTAINABILITY EXPO 2022 เป็นจำนวนมาก
ขณะที่ชั้น LG ฮออล์ 5-8 โซน Food Festival ภายในมีการจัดกิจกรรม Panel Discussion ในหัวข้อ Good Citizen : การเงินชุมชนที่เกื้อกูลกัน โดยพระอาจารย์มนัส ขันติธัมโม เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง และประธานกลุ่มเครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์ จ.จันทบุรี ร่วมพูดคุยกับ นายศิวโรฒ จิตนิยม ประธานธนาคารความดีชุมชนตำบลหนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการองค์กรการเงินชุมชน ภาคประชาชน ที่มีการดำเนินการในการส่งเสริมการออมทรัพย์และให้บริการทางการเงินแก่ชุมชน และการจัดสวัสดิการของชุมชนในพื้นที่ โดยอาศัยความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมภายในชุมชน
โดยพระอาจารย์มนัส กล่าวว่า ตนเองได้ทำการศึกษาระบบการออมทรัพย์และนำมาประยุกต์ใช้ในจังหวัดจันทบุรี โดยบอกให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเราต้องรวมตัวกันและทำอย่างไรเราจึงจะออมเงินได้ อย่างน้อยเดือนละ 50-100 บาท จึงได้คิดและทดลองทำที่บ้านเกิดของตนเองที่อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี จากที่ปกติคนในชุมชนจะต้องนำเงินไปฝากธนาคาร จึงได้คุยกับชาวบ้านว่าให้มารวมตัวกันนำเงินมาออม ใครที่เดือดร้อนก็มายืมไปใช้อย่างเป็นระบบ โดยเป้าหมายหลักคือทำอย่างไรถึงจะทำให้คนออมได้และยามเดือดร้อยยืมไปใช้ได้ กำไรที่ได้มาแทนที่จะไปเป็นของนายทุนก็นำมาเป็นกองกลางเอาไว้ช่วยคนเจ็บป่วยในชุมชนของเรากันเอง และได้ความสามัคคีช่วยเหลือกันอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้กลุ่มสัจจะเราใช้วัดเป็นหลักในการเป็นสำนักงาน เราไม่ต้องไปตั้งสำนักงานใหม่ ตนจึงไปคุยให้ชาวบ้านฟังว่าเราไม่ต้องฝากธนาคาร โดยทดลองทำในปี 2539 เมื่อมีผลลัพธ์ที่ดีก็เริ่มมีกาาขยายผลด้วยการไปชวนชาวบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากทำมา 26 ปี มีชาวบ้านเอาเงินมาออมเดือนละ 100 บาท 100,000 คน ตอนนี้ทำให้ชาวบ้านออมเงินได้กว่า 11,000,000 บาท และได้นำมาจัดเป็นระบบการออมและการยืมให้กับชาวบ้าน
Leave a Reply