วันนี้ขอเสนอ ชีวประวัติพระเถราจารย์รามัญแห่งลุ่มน้ำเมืองปทุมธานี พระมหาเถระรามัญผู้ทรงวิทยาคม ผู้สร้างตำนานเหรียญบินเมืองปทุมธานี พระเถระรูปนี้ก็คือ..
“พระสมุห์พะอ๊อก ปุพฺพรมฺโม”
อดีตเจ้าอาวาสวัดฉาง ตำบลบางปรอก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
พระสมุห์พะอ๊อก ปุพฺพรมฺโม หรือที่ชาวบ้านวัดฉางเรียกขานท่านว่า พระอาจารย์ใหญ่ นามเดิมท่านชื่อ พะอ๊อก (เป็นภาษารามัญ หรือที่คนไทยเรียกว่า พ่ออ๊อก นั่นเอง) นามสกุล ควรนิยม ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๒ ที่บ้านฉาง ตำบลบางหลวง แขวงเมืองประทุมธานี (เรียกชื่อตามสมัยนั้น ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองของตำบลบางปรอก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี) ท่านเป็นบุตรชายคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้อง ๖ คน ของ โยมพ่อปาน ควรนิยม และโยมแม่ทองเย็น ควรนิยม ท่านถือกำเนิดในครอบครัวชาวมอญบ้านฉาง ตำบลบางหลวง เมืองประทุมธานี ที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากกรุงหงสาวดี รามัญประเทศ เข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่ริมน้ำเจ้าพระยาในเขตตำบลบ้านฉาง เมืองสามโคก ในอดีต ต่อมาทางการได้แบ่งเขตพื้นที่การปกครองใหม่ได้โอน บ้านฉาง เข้าเป็นเขตการปกครองของ ตำบลบางหลวง แขวงเมืองประทุมธานี (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อการเรียกจาก แขวงเมืองประทุมธานี เป็น อำเภอเมือง และเปลี่ยนการเรียก เมืองประทุมธานี เป็น จังหวัดปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙) และต่อมาได้เปลี่ยนเขตการปกครองใหม่ โดยโอนบ้านฉาง เข้ามาเป็นเขตการปกครองของ ตำบลบางปรอก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
ในวัยเด็ก บิดาท่านได้นำตัวท่านไปฝากเรียนที่สำนักวัดฉาง กับพระอาจารย์บาง ท่านได้เรียนหนังสือไทยและหนังสือมอญจนพออ่านออกเขียนได้ แต่ด้วยที่ท่านมีเชื้อสายรามัญ และบิดามารดาของท่านพูดภาษามอญกัน ท่านจึงซึบซับและถนัดเชี่ยวชาญในภาษารามัญเป็นพิเศษ จนเป็นที่ยกย่องของครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนท่าน เมื่อท่านอายุย่างเข้า ๑๗-๑๘ ปี ท่านได้ลาออกไปช่วยบิดามารดาของท่านทำอาชีพค้าขายทางเรือ แต่ด้วยท่านเป็นคนที่มีใจใฝ่ในทางธรรม ใจบุญศุลทาน เมื่อถึงคราวันพระวันเจ้า ท่านจะติดตามบิดามารดาของท่านไปถือศีลอุโบสถที่วัดฉางอยู่เป็นประจำ จนเมื่ออายุท่านครบเกณฑ์บวช ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดฉาง แขวงเมืองประทุมธานี เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๒ โดยมี พระอธิการเลี๊ยะ วัดมะขามเหนือ เป็นพระอุปัชฌาย์ มี พระอธิการกรุด วัดหงสา (วัดหงส์ปทุมาวาส) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมี พระอธิการเปิง วัดมะขามใต้ (วัดชินวราราม) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยท่านได้ฉายาทางธรรมว่า “ปุพฺพรมฺโม”
หลังที่ท่านได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านก็ได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดฉางมาตามลำดับ ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจากสำนักวัดฉาง โดยมีพระอาจารย์กรุด วัดบางหลวงไหว้พระ แขวงเมืองประทุมธานี เป็นผู้สอน จนท่านสอบไล่ได้นักธรรมชั้น ตรี-โท-เอก ตามลำดับ และท่านยังได้ไปศึกษาวิชาอาคมเวทย์จากพระอาจารย์มอญเมืองปทุมและจังหวัดใกล้เคียงยุคเก่าที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น อาทิเช่น พระอธิการเปิง วัดมะขามใต้(วัดชินวราราม) พระครูรอด วัดเจตวงศ์ พระครูรอด วัดบางน้ำวน เป็นต้น จนท่านมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก ในสมัยที่ พระครูปทุมเถรสถาน(พระอาจารย์บุญมี) เป็นเจ้าอาวาสวัดฉาง ท่านจึงแต่งตั้งให้ พระอาจารย์พะอ๊อก เป็นรองเจ้าอาวาสวัดฉาง และท่านยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นครูสอนนักธรรมประจำสำนักวัดฉางด้วย และต่อมา ท่านพระครูปทุมเถรสถาน ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงสามโคก สามารถตั้งฐานานุกรมให้กับพระสงฆ์ที่มีความรู้ ความสามารถในงานกิจคณะสงฆ์ได้ จึงแต่งตั้งให้ พระอาจารย์พะอ๊อก เป็น พระสมุห์ เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๕๓ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านพระครูปทุมเถรสถาน(บุญมี) เจ้าอาวาสวัดฉางในขณะนั้น ได้ถึงกาลมรณภาพลง พระสมุห์พะอ๊อก จึงได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการเจ้าอาวาส และเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๐ ท่านจึงได้รับตราตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดฉาง สืบต่อมา และในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระกรรมวาจาจารย์
ในสมัยที่ท่านพระสมุห์พะอ๊อก เป็นเจ้าอาวาสวัดฉางนั้น ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลวัดเป็นอย่างดี ท่านได้ทำนุบำรุงซ่อมแซมและสร้างเสนาสนะต่างๆภายในวัดไว้เป็นจำนวนมาก และยังได้อบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรในอาวาสของท่านและชาวบ้านฉางให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ตั้งตนอยู่ในทางธรรม ประกอบสัมมาชีพด้วยความสุจริต และท่านยังได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาอาคมเวทย์ให้กับลูกศิษย์ลูกหาทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ไว้เป็นจำนวนมาก อาทิเช่น พระอาจารย์แฉล้ม นนฺทิโย (ต่อมาได้เป็น พระครูเมตตาธรรมคุณ และเป็นสมภารวัดโพธิ์เลื่อน),พระอาจารย์เทิ้ม ฐิตจาโร(ต่อมาได้เป็น พระครูอนุกูลสาสนการ และเป็นสมภารวัดฉาง),พระอาจารย์บุญถึง(พระอาจารย์จั๊บ วัดฉาง) เป็นต้น ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระวินัยตามแบบพระสงฆ์มอญเป็นอย่างมาก และท่านยังมีความรู้ความสามารถในด้านยาสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ ใครเจ็บไข้ได้ป่วย จะต้องมาให้ท่านรักษาให้เสมอ ท่านยังได้ส่งเสริมทางด้านการศึกษาให้กับบุตรหลานของชาวบ้านให้ได้มีที่เรียนที่ศึกษากัน โดยท่านได้จัดตั้งโรงเรียนประชาบาลวัดฉาง ขึ้น เพื่อเปิดสอนให้กับบุตรหลานของชาวบ้านให้ได้มีความรู้กัน ท่านจึงเป็นที่รักเคารพเลื่อมใสแก่ชาวบ้านฉางและชาวบ้านใกล้เคียงเป็นอย่างมาก
หลวงปู่พะอ๊อก ปุพฺพรมฺโม ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้จำนวนหนึ่ง มีทั้งเหรียญ และรูปถ่ายของท่านอัดกระจก และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ในขณะที่หลวงปู่พะอ๊อก มีอายุครบ ๘๔ ปี ทางคณะศิษยานุศิษย์ ซึ่งนำโดย พระอาจารย์แฉล้ม และพระอาจารย์เทิ้ม ได้จัดงานทำบุญฉลองอายุครบ ๗ รอบ ๘๔ ปี ให้กับหลวงปู่พะอ๊อก จึงได้จัดสร้างเหรียญขึ้นเพื่อนำมาแจกแก่คนที่มางานทำบุญฉลองอายุของหลวงปู่ โดยจัดสร้างเป็นเหรียญรูปเหมือนตัวท่าน มีลักษณะเหมือนโคมจีน มีเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง และเนื้อทองแดงผิวไฟ ,จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนตัวท่าน ทรงสามเหลี่ยมเนื้อเมฆพัตร์ ,และรูปถ่ายตัวท่าน อัดกระจก โดยได้นำไปให้หลวงปู่พะอ๊อกอธิฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวภายในกุฏิของท่านี่ปิดประตูอยู่ จากคำบอกเล่าของลูกศิษย์ที่ทันเห็นและอยู่ในเหตุการณ์ได้เล่าว่า…”ตอนที่เอาเหรียญไปให้หลวงปู่เสก ท่านปิดประตูหน้าต่างหมดเลย ไอ้เราก็ยืนรอกันอยู่หน้ากุฏิ ได้ยินเสียง ฮึ่งๆ เหมือนผึ่งบิน อยู่ในกุฏิท่าน สักพักก็มีเสียงดังขึ้นอีกเหมือนแผ่นดินสะเทือน ดังอยู่อย่างงั้น วนๆอยู่รอบกุฏิท่านล่ะ ทุกคนก็แตกตื่นกันสิ จะวิ่งหนีกัน แต่พอดีอาจารย์แฉล้ม แกบอกไม่ต้องหนี ก็เลยอยู่กันต่อ…” ซึ่งในปัจจุบันนี้วัตถุมงคลของท่านพบเจอกันได้น้อย และเป็นที่สนใจของนักสะสม ส่วนใครที่มีไว้ก็หวงแหนเป็นอย่างยิ่ง สนนราคาเช่าหากันหลักพันปลายๆ ถึงหลักหมื่นกลางๆ
ในช่วงหลังเมื่อท่านมีอายุเข้าสู่วัยชราภาพมากแล้ว ท่านจะอยู่แต่ภายในกุฏิของท่าน แต่ถ้ามีใครเดินขึ้นกุฏิมาท่านจะทราบทันทีว่าเป็นใคร เมื่อประมาณวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านได้เริ่มมีอาการอาพาธ เช่น เหนื่อย หอบ และเป็นไข้ อยู่บ่อยครั้ง ฉันอาหารก็น้อยลงไป ทำให้สังขารธาตุของท่านซูบผอมมีอาการทรุดลงตามลำดับ ลูกศิษย์ใกล้ชิดจึงได้นำหมอมาทำการรักษาที่วัด แต่อาการของท่านก็ไม่ดีขึ้น จนกระทั่งวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๗ หลวงปู่พะอ๊อก ก็ได้ละสังขารลงอย่างสงบ ในเวลาประมาณเที่ยงคืน ท่ามกลางความโศกเศร้าอาลัยของบรรดาศิษยานุศิษย์ของท่านที่มาร่วมเฝ้าไข้เป็นอย่างมาก สิริรวมอายุของท่านได้ ๙๖ ปี พรรษา ๗๕
เมื่อหลวงปู่พะอ๊อก ปุพฺพรมฺโม ได้มรณภาพแล้ว ทางคณะสงฆ์พร้อมทั้งชาวบ้านวัดฉางและเหล่าลูกศิษย์ลูกหาจากที่ต่างได้ร่วมใจกันจัดงานศพให้ท่านอย่างสมเกียรติ และได้มีพิธีฌาปนกิจศพ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ณ เมรุวัดฉาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
****************************
เรียบเรียงโดย : ขุนแผน แดนรามัญ
ขอขอบพระคุณแหล่งข้อมูล
ข้อมูลประวัติโดย วัดฉาง ต.บางปรอก อ.เมือง จ.ปทุมธานี,หนังสือ ประวัติ พระอธิการพะอ๊อก ผุพฺพรมฺโม วัดฉาง โดย คุณอำนวย ควรนิยม,
สมุดบันทึกเหตุการณ์วัดในอำเภอเมืองปทุมธานี วัดฉาง ปทุมธานี, และจากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุของวัดฉาง
ข้อมูลภาพโดย กลุ่มอนุรักษ์วัตถุมงคลวัดฉาง ปทุมธานี,ผู้ใหญ่ธีรชัย ศิลาขาว,จ่าสิบเอกหนึ่ง จำปาศรี,คุณอ้น หลอดทอง
Leave a Reply