เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา พระมหาเขมานันท์ ปิยสีโล ป.ธ.9 เจ้าอาวาสวัดลาดปลาเค้า เจ้าคณะเขตลาดพร้าว กทม. พร้อมด้วยคณะสงฆ์เขตลาดพร้าว และนางสุภาพร ศรีศาสนวงศ์ ผู้อำนวยการเขตลาดพร้าว ได้นำเจ้าหน้าที่หัวหน้าฝ่ายพัฒนาฯ ได้ระดมร่วมกันจัดรื้อถอนบ้านเก่าที่ทรุดโทรมบริเวณชุมชนสุขทรัพย์ลาดพร้าว จากการร้องขอจากประธานชุมชน ที่แจ้งว่าชาวบ้านขาดทุนทรัพย์ด้วยภาวะโควิด19 ทำให้บริเวณชุมชน มีบ้านเก่าทรุดโทรมทำให้อาจเป็นแหล่งวัยรุ่นมั่วสุมและก่อให้มีการเสพยาเสพติด
พระมหาเขมานันท์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับการร้องขอจากประธานชุมชนสุขทรัพย์ เขตลาดพร้าว อาตมาก็ตัดสินใจตอนนั้นเลยว่า ควรให้การช่วยเหลือ หากจะทำให้งานประสบความสำเร็จ สิ่งที่สำคัญคือ ต้องลงมือทำทันที จึงไ้ด้จัดโครงการสร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ โดยมีพระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานอุปถัมภ์ นางสุภาพร ศรีศาสนวงศ์ ผอ.เขตลาดพร้าว ประธานอุปถัมภ์ฝ่ายฆราวาส หลังจากเริ่มมีโครงการ ก็มีประชาชนที่มีจิตกุศลได้ติดต่อเพื่อร่วมบริจาคเป็นจำนวนมาก ในวันนี้อาตมาโดยความช่วยเหลือจาก ผอ.สุภาพร จึงได้เข้ามารื้อถอนบ้านเก่าทรุดโทรมบริเวณชุมชนสุขทรัพย์ดังกล่าว
เบื้องต้นหลังจากสร้างบ้านใหม่ให้กับชุมชนแล้ว อาตมามีแนวคิดตามที่ได้หารือ กับดร.ณพลเดช มณีลังกา เลขานุการอนุกรรมการการป้องกันประเทศ คลังสมอง วปอ.ฯ ว่าจะนำแนวคิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะทำข้อตกลงระหว่างชุมชนกับวัด(MOU) โดยยึดหลักปฏิบัติตามแก่นของพระพุทธศาสนา ชื่อโครงการ “ชุมชุน 3+4” โดยส่วนประกอบของ MOU ชุมชน 3+4 ประกอบด้วย
1.ทาน
2.ศีล
3.ภาวนา
4.สะอาดเป็นระเบียบ
5.วินัยและอดทน
6.เคารพและซื่อสัตย์
7.พอเพียง
โดย 3 ข้อแรก คือ “แก่นของพระพุทธศาสนา” คือ “ทาน-ศีล-ภาวนา” ส่วนข้อที่ 4-6 เป็นปรัชญาที่ทั่วโลกนิยมใช้ จะนำมาของผลให้ประชาชนเข้มแข็งด้วยตนเองอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และข้อ 7 จะปลูกฝัง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 เพื่อให้เข้าใจถึงปรัชญาความพอเพียงอาตมาขออธิบายให้เห็นภาพดังนี้
“ทาน” แน่นอนในส่วนของทาน เป็นต้นทางแห่งความอยู่ดีมีสุขหากขาดทานแล้วคนก็จะไม่ทำมาหากิน ก็อยู่เฉยๆ แต่หากจะมีเหตุคือต้องทำทาน บุคคลมีความจำเป็นต้องทำมาหากินที่ซื่อสัตย์สุจริต ผลก็คือ เราได้มีการแบ่งปัน สังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จะนำมาซึ่งความโอบอ้อมอารีย์ หากไปดูสังคมไทยในอดีตก็จะมีการแบ่งปันอาหารสำหรับเพื่อนบ้านข้างเคียง การตักบาตรในปัจจุบันคนไทยเราทำทานน้อยมาก หากมาเป็นพระลองเดินบิณฑบาตรตอนเช้าดู เดินผ่านหน้าบ้านโยมอาจจะมีไม่ถึง 10% ที่มีโยมยืนอยู่รอตักบาตรพระอยู่หน้าบ้านส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้สูงอายุ แต่กลับกันยกตัวอย่างในอเมริกามีการทำทานเป็นอันมาก นอกจากผู้ที่เคร่งศาสนาจะบริจาคให้กับศาสนาของตน 10% ของรายได้ของตนแล้ว การวางมาตรฐานเช่นการไปกินข้าวตามร้านอาหารจะมีธรรมเนียมปฏิบัติโดยทุกคนจะบริจาคโดยการมอบทริปให้กับผู้เสริฟ อย่างน้อย 10% สิ่งนี้ไม่แปลกใจเลยว่าประเทศเขาทำไมเจริญอยู่แม้มีผู้ถือพุทธศาสนาอยู่น้อย ซึ่งจริงๆแล้ว แม้ไม่นับถือพุทธศาสนาแต่เขามีหลักธรรมของพุทธศาสนาปลูกฝังอยู่ในใจเขา
“ศีล” เราเคยได้ยินพระให้พรว่า “สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสทะเย” แล้วเราก็ยกมือรับว่า สาธุ…สาธุ…สาธุ ส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกว่าหมายถึงอะไร อาตมาขออธิบายความหมายคือ สีเลนะ สุคะติง ยันติ = ศีลเป็นเหตุให้ถึงสุคติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา = ศีลเป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์ สีเลนะ นิพพุติง ยันติ = ศีลเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน ตัสมา สีลัง วิโสทะเย = เพราะเหตุนั้น พึงชำระศีลให้หมดจด จะเห็นว่าความสำคัญของศีลเป็นเบื้องต้นให้ก่อนเกิดคุณธรรมที่ดีติดตามมา อย่างน้อยในชุมชนควรเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านรักษาและโรงเรียนรักษาศีล 5 ตามโครงการของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
“ภาวนา” หลายคนอาจไม่ทราบว่า ภาวนานั้นมีถึง 40 วิธี หรือ 40 กอง ทุกวิธีจะเป็นการทำให้จิตใจสงบ ทำให้มองเห็นของปัญหาต่างๆ รอบข้าง มีกระบวนการที่จะไตร่ตรองเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหานั้นๆ หรือเรียกว่า ปัญญา เมื่อสั่งสมปัญญามากขึ้นจะนำไปสู่ Wisdom ในพระไตรปิฎกได้อธิบายการบรรลุธรรมถึงขั้นนเป็นพระอรหัตด้วยการใช้ภาวนาเป็นพื้นฐาน พระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในประเทศเราและในต่างประเทศ ท่านถือสิ่งหลักที่จะต้องดำเนินคือ “ภาวนา” นี่แหละ แต่สำหรับโยมเมื่อภาวนาเป็นพื้นฐานปกติ อย่างน้อยโรคเคลียดก็จะลดลง หากมากกว่านั้นจิตใจก็จะแจ่มใส ร่างกายก็จะมีสุขภาพที่ดีตามมาด้วย มีงานวิจัยหลายงานที่สรุปได้ว่า การทำสมาธิ หรือการภาวนาสามารถทำให้สุขภาพดีขึ้น สังคมดีขึ้น นำไปสู่โลกแห่งความสันติสุข
“สะอาดเป็นระเบียบ” ความสะอาด จากงานวิจัยเมื่อมีความสะอาดและมีความเป็นระเบียบ จะส่งผลให้ บุคคลคนนั้น มีระบบความคิดที่มีลำดับ มีความใฝ่ดี รักในความก้าวหน้า ชีวิตจะเจริญรุ่งเรือง ด้วยแค่เพียงแค่ความสะอาด ทั้งนี้หากสังเกตุเมื่อมีการแถลงข่าวจับผู้เสพยาเสพติด จะเห็นพื้นที่นั้นจะรกลุงลัง เป็นที่มืดเสมอ ทั้งนี้จะรวมถึงแหล่งมั่วสุมต่างๆ ก็จะมีพื้นฐานคือแหล่งไม่สะอาดเป็นพื้นฐาน ความสะอาดยังทำให้สังคมมีความสุข ยกตัวอย่างประเทศที่เจริญแล้วเช่นในยุโรปและอเมริกา แม้หน้าบ้านในหมู่บ้านของเขาก็มีกฎหมายควบคุม ต้องมีพื้นสนามหญ้าหน้าบ้าน มีต้นไม้ มีรูปแบบหน้าบ้านที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากหญ้ารกหน้าบ้านรก จะมีเทศกิจ หรือชาวบ้านเรียกว่า City เขามาทำความสะอาดให้พร้อมมีบทปรับค่าหน้าบ้านรก หากไม่จ่ายก็จะมัดค่าปรับไว้ในโฉนดและบวกดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ จะไปรู้ตัวอีกทีหากไม่จ่ายก็ตอนขายบ้าน
“วินัยและอดทน” คำว่า “วินัย” และคำว่า “อดทน” ดูเหมือนจะไม่เหมือนกันแต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อสังคมมีวินัย จะส่งผลให้มีการสร้างความอดทนโดยอัตโนมัติและเมื่อมีความ “อดทน” จะส่งผลให้มีการสร้างความมีวินัย โดยอัตโนมัติ นั้นเพราะเหตุใด ขอยกตัวอย่างเช่น การที่จะไปเดินเข้าคิวเพื่อต่อแถว ถามยึดถือวินัยจะต้องใช้ความอดทนต่อการเข้าแถว เมื่อใช้ความอดทนในการเข้าแถวก็จะทำให้ได้ผลคือความมีวินัย ฉันใดก็ฉันนั้น สิ่งนี้จะส่งผลดีต่อตนเองและจะส่งผลให้ดีต่อสังคม ทั้งนี้ยังจะส่งผลให้มีการเคารพสิทธิ์ ในสังคมปัจจุบันวินัยเขาเราน้อยลง บางทีแม้เพียงแค่นัดหมายมาทำงานก็เบี้ยวไม่มาทำงาน องค์กรก็เสียหายสังคมก็เสียหายส่งผลถึงประเทศชาติก็เสียหาย เพราะด้วยแม้ความอดทนที่จะต่อสู้งาน ต่อสู้ความเกียจคร้านต่อสู้กับความลำบากของบุคคลลดลง ผลเสียก็จะส่งผลเสียโดยมวลรวม
“เคารพและซื่อสัตย์” เช่นเดียวกันเหมือนว่า เคารพและซื่อสัตย์ เป็นคนละคำกัน แต่ในความเป็นจริง ผลถึงกันอย่างลึกซึ้ง ชาวจีนโพ้นทะเลจะให้ความสำคัญมากสำหรับความซื่อสัตย์ จะเห็นว่าการประกอบธุรกิจของคนจีนโพนทะเลเจริญรุ่งเรือง เพราะเขายึดถือความซื่อสัตว์เป็นสำคัญ ทั้งนี้อาตมาเห็นถึงความสำคัญของความซื่อสัตย์ ยกตัวอย่างในญี่ปุ่นเขายึดถือเครดิตของตนและองค์กรของตนเป็นสำคัญ จะเห็นว่าธนาคารของญี่ปุ่นพร้อมที่จะให้สินเชื่ออย่างเต็มที่ โดยคิดดอกเบี้ยเพียง 1 %ต่อปี เมื่อผู้ให้กู้มั่นใจความ ”ซื่อสัตย์” ของผู้กู้ และผู้กู้ก็มีความ “เคารพ” ในสิทธิ์ผู้ให้กู้และเคารพในความเป็นตัวตนของตนที่จะไม่ทำให้ตนเสียเครดิต ผลก็ทำให้ความก้าวหน้าของการดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แซงประเทศอื่น ๆ ก็เพียงด้วยคุณธรรม “เคารพและซื่อสัตย์”
“พอเพียง” ถือเป็นปรัชญา ที่มีชื่อว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า 30 ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง
Leave a Reply