“อธิการบดีม.สงฆ์ มจร”จัดรายการพบ “ประชาคมมหาจุฬาฯสู้ภัยโควิด-19” ย้ำใช้ระบบออนไลน์เต็มรูปแบบ สร้างภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพจิตใจเป็นฐาน สนองนโยบายของกระทรวงและฝ่ายบ้านเมืองป้องกันเข้ม สอดรับแนวคิด “อธิการบดี สจล.” แนะสถาบันการศึกษาปรับตัวแบบหักศอก
วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 พระราชปริยัติกวี, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา จัดรายการพบประชาคมชาวมหาจุฬาฯ ในแนวทางการบริหารงานในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดระบาดไวรัสโควิด-19 ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ โดยมุ่งให้ผู้บริหาร คณาจารณ์ เจ้าหน้าที่ของมหาจุฬาฯ ใช้ระบบออนไลน์เต็มรูปแบบในการทำงานประจำและการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เพื่อสนองนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และนโยบายของบ้านเมืองภาครัฐบาล เป็นการรับผิดชอบต่อสังคมในการป้องกันโควิด-19
พระราชปริยัติกวี กล่าวว่า มหาจุฬาฯให้ความสำคัญมากเริ่มต้นจากการคัดกรองบุคคลเข้าสู่มหาจุฬาฯโดยมีการคัดกรองอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีการพ่นยาเพื่อป้องกันโควิดตามอาคารต่างๆ ในมหาจุฬาฯ ซึ่งมหาจุฬาฯ งดทุกกิจกรรมที่มีผู้คนมารวมกันเป็นจำนวนมาก แต่ด้านโภชนาการอาหารของนิสิตมหาจุฬาฯยังให้บริการบุคลากรและนิสิตเหมือนเดิม เพราะมหาจุฬาฯมีนิสิตจากนานาชาติมาเรียนเป็นจำนวนมาก แต่มีระบบการดูแลคัดกรองเป็นอย่างดีตามกฎระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้นมหาจุฬาฯได้ตั้งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดโควิด-19 เป็นการเฉพาะ เพื่อติดตามข่าวสารและดูแลประสานงานความเรียบร้อยทุกอย่างในสถานการณ์ปัจจุบัน และมีการขยายผลไปถึงวิทยาลัยเขต วิทยาลัยสงฆ์ไปทั่วประเทศ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ย้ำเรื่องการรับปริญญาบัตรที่ประกาศเลื่อนออกไปจนกว่าสถานการณ์จะปกติ แต่นิสิตที่สำเร็จการศึกษาในปีนี้ สามารถจบตามกำหนดเป็นพุทธศาสตรบัณฑิต พุทธศาสตรมหาบัณฑิต และพุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิต ตามปกติ มีศักดิ์และสิทธิ์ในปริญญาทุกประการ ส่วนด้านการรับข้อมูลข่าวสารอยากให้ประชาคมมหาจุฬาฯ รับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวง อว. และภาครัฐบาล เราต้องตระหนักให้ดี ส่วนการสื่อสารภายในมหาจุฬาฯให้เน้นกองการสื่อสารของมหาจุฬาฯเป็นหลัก โดยมีฝ่ายประชาสัมพันธ์และการเผยแผ่ เป็นผู้ดูแล
พร้อมกันนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้เน้นย้ำเรื่องการดูแลความเป็นอยู่ของบุคลากรมหาจุฬาฯ เช่น เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย อาหาร มหาจุฬาฯให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่วนวิทยาลัยเขตวิทยาลัยสงฆ์ฝากดูแลสภาพจิตใจของคนในสังคมในภาวะในปัจจุบัน ด้วยการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ด้านจิตใจถือว่ามีความสำคัญ แต่สิ่งสำคัญทุกคนต้องดูแลตนเองให้ดีที่สุด สร้างภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพใจ จึงฝากชาวมหาจุฬาให้มีสติปัญญาเป็นฐาน มีความคิดที่เป็นสัมมาทิฐิ ผ่านพ้นอุปสรรคนี้ไปด้วยกัน
ทั้งนี้การชี้แจงของอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) สอดรับกับแนวคิดของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โควิดระเบิด การเรียนรู้แบบเก่า กำเนิดการเรียนรู้ยุคของดิสรัปชั่น!” ใครจะเชื่อ มหาวิทยาลัยไทยประกาศหยุดการเรียนการสอนวิธีปกติ แล้วเปิดการเรียนการสอนออนไลน์ได้เพียงชั่วข้ามคืนทั้งที่มีความพยายามผลักดันเรื่องนี้มาหลายปี แต่แทบไม่มีความคืบหน้า พิสูจน์ จะทำ ก็ทำได้ ความจริง ยิ่งกว่าจริง ยังสะท้อน คนไทยปรับตัวเก่ง มีศักยภาพ(แฝง)สูง ไม่แพ้ใครในโลก แต่การดึงศักยภาพออกมา และการจุดติดการเปลี่ยนแปลง แบบหักศอก ต้องถูกบังคับต้องพบวิกฤตก่อน ถึงจะลงมือทำ
“แต่ทำไมต้องรอการบังคับทำไมต้องรอวิกฤติคำถาม จะทำอย่างไรให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ให้ประเทศไทยปรับตัวในยุคดิสรัปชั่น โดยไม่ต้องรอวิกฤติใดๆ ซึ่งมีการผลักดันเรื่องการปรับตัวแบบหักศอกของมหาวิทยาลัยไทยมาโดยตลอด ยิ่งทำ ยิ่งเจ็บ การบริหารมหาวิทยาลัยยาก และท้าทายยิ่งกว่าองค์กรใดๆ วิกฤติโควิด พิสูจน์ชัดว่ามาถูกทาง การปรับตัวแบบหักศอก ในยุคดิสรัปชั่นจำเป็น! ใครไม่เปลี่ยน สูญพันธุ์!!! และ ที่ว่า คนเปลี่ยนยาก จริง แต่ก็เปลี่ยนได้ หากเปิดใจ ณ วันนี้คณาจารย์ อาจารย์ รู้จักโปรแกรม Google Classroom Microsoft Team Zoom Scopia และโปรแกรมเรียนออนไลน์อื่นๆ แบบชั่วข้ามคืน และใช้เป็นอย่างคล่องแคล่วแบบชั่วข้ามวันเพราะคนเก่ง คนฉลาด เรียนรู้เร็ว หากตั้งใจจะเรียนรู้
โปรแกรมเรียนออนไลน์ ยังทำลายความเชื่อโบราณที่ว่า เรียนออนไลน์ยังไงก็สู้เรียนแบบในห้องเดียวกันไม่ได้ ไม่จริงเสมอไป อาจารย์จากที่ไม่เคยมองเห็น เด็กหลังห้องว่า ไม่สนใจเรียน สนุกกับเล่นเกมส์มือถือเพราะมัวแต่สบตา สนใจเด็กหน้าห้อง ที่อยู่ในพิกัดสายตาแต่ในโลกออนไลน์ ไม่มีเด็กหน้าห้องและไม่มีเด็กหลังห้อง อีกต่อไป เพราะในระบบออนไลน์เด็กทุกคนอยู่บนหน้าจอ ชัดเจนเท่าเทียมกันทุกคน ไม่มีใครหลบสายตาอาจารย์ได้ แถมยังโต้ตอบกันได้ทันที พร้อมยังแสดงผลงานของตนขึ้นหน้าจอให้เพื่อนเห็นโดยทั่วกัน แบบ Real-time แม้ว่ายังมีบางเสียง สงสัย ถามเรียนปฏิบัติ อย่างต้องคงอยู่ ตอบใช่ แต่คงไม่เหมือนเดิม!
วันนี้การฝึกนักบินพาณิชย์ก็ใช้ระบบ Simulation ไม่ได้ไปบินจริง เพราะสิ้นเปลืองมหาศาล การฝึกทหาร ตำรวจ ก็ใช้ระบบ AR (Augmented reality) และ VR (Virtual reality) ใส่แว่นตาสร้างภาพดิจิตอล สร้างสถานการณ์จำลอง สมจริง แต่ไม่ต้องเสี่ยงกับกระสุนจริง! ระบบแบบนี้ยังใช้ในการฝึกฝนช่างฝีมือได้แทบทุกวิชาชีพ ทั้งช่างเชื่อม ช่างอิเล็คทรอนิกส์ ช่างเครื่องยนต์ แม้แต่ การฝึกบุคคลากรทางการแพทย์ การผ่าตัดเสมือนจริง ถูกนำมาใช้ ประสบความสำเร็จ มานานแล้ว การเรียนรู้ในโลกเสมือนสมจริงโลกออนไลน์ ยังประเมินผลได้ทันที แก้ไขได้ทันที ประหยัด ปลอดภัย โลกการเรียนรู้จึงไม่เหมือนเดิม และจะไม่กลับไปเหมือนเดิม อีกต่อไป แน่นอน ย้ำ! การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย จะยังคงไม่สูญพันธุ์ (วันนี้) แต่จะเกิดเป็นการผสมผสานการเรียนรู้ ที่ไม่หยุดอยู่กับที่ แต่จะปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่น ตลอดเวลา ผลักดันเกิดการแข่งขัน เป็นทางเลือกให้แก่ผู้เรียน
“ดังนั้น ปัญหาการเรียนการสอนยุคดิสรัปชั่นจึงไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิค อีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีไปไกลเกินพอ แต่คือปัญหาทางหัวใจของคน ว่าจะเปิดรับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากโควิด-19 ได้ทำลายหรือดิสรัปความเชื่อและการปฏิบัติการเรียนการสอนแบบโบราณ สู่การถือกำเนิด ของการพัฒนาโลกการเรียนรู้แบบใหม่ หนทางข้างหน้าของการศึกษาไทย อาจมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ศ.ดร.สุชัชวีร์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวไว้ ทำให้มหาจุฬาฯ ใช้ออนไลน์เต็มรูปแบบในการทำงานและการเรียนการสอนในยุคแห่งภาวะปัจจุบันและตลอดไป
Leave a Reply