บันทึกการเดินทางของ “อ็องรี มูโอต์” กล่าวถึง พระสงฆ์ในสังคมไทย พ.ศ. 2401-2404 (ค.ศ.1858 -1861)

อ็องรี มูโอต์ (ค.ศ. 1826-1861) นักโบราณคดี นักสำรวจ นักธรรมชาติชาวฝรั่งเศส ที่ออกเดินทางสำรวจราชอาณาจักรสยาม, กัมพูชา และลาว ถึง 4 ครั้ง ระหว่างตุลาคม ค.ศ. 1858 – ตุลาคม ค.ศ.1861 ข้อมูลในการเดินทางครั้งนั้นมูโอต์ยังรวบรวมเขียนเป็นหนังสือชื่อ บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ”   (สนพ. มติชน, พิมพ์ครั้งแรก, ตุลาคม 2558)

ตอนหนึ่งใน“บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ฯ” กล่าวถึง พระสงฆ์ไทยในสังคมไทยไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


ชาวยุโรปเรียกพระสงฆ์ในพุทธศาสนาที่เมืองสยามว่า ตาลาปวง (talapoins) ซึ่งคงแผลงมาจากคําว่า ตาลปัตร (talapat) พัดใบตาลที่พระสงฆ์มักถือติดมือ ส่วนชาวสยามตลอดทั่วสองฟากฝั่งแม่น้ำเรียกสงฆ์ว่า พระ ซึ่งยังคงความหมายเดิมที่ใช้กันตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำไนล์ ในอดีต คือหมายถึงผู้ยิ่งใหญ่ ศักดิ์สิทธิ์ และสว่างไสว

หากเอาแนวคิดทางเราไปอธิบายสถานะของพระที่เป็นคณะสงฆ์ในสังคม คงจะให้นิยามได้ยากนัก ด้วยว่านี่ไม่ใช่ชนชั้นทางสังคมเพราะ ใครๆ ก็บวชเป็นพระได้ แม้แต่พวกทาสที่ได้รับอนุญาตจากเจ้านายแล้ว จนอาจกล่าวได้ว่าพระสงฆ์เป็นชนกลุ่มเดียวที่ยังคงเจริญรอยตามแนวคิดดั้งเดิมของศาสดาผู้ก่อตั้ง…

พวกเขาให้การยอมรับนับถือ [พระสงฆ์]อย่างสูงสุด อีกทั้งมอบสถานภาพอภิสิทธิ์หรูเลิศและชั้นยศสูงสุดให้ แม้เมื่ออยู่กลางถนน ชาวบ้านสามัญพากันหมอบกราบเมื่อเจอพระสงฆ์อยู่ต่อหน้าโดยยกมือขึ้นจรดหน้าผากแสดงความเคารพ แม้เหล่าขุนนางและบรรดาเชื้อพระวงศ์ก็ประนมสองมือไหว้ ส่วนพระมหากษัตริย์แม้จะทําความเคารพเพียงครั้งเดียว แต่ก็โปรดให้นั่งใกล้ๆ กับที่ประทับ ในแต่ละวันพระองค์ถวายทานแก่พระสงฆ์นับร้อยๆ รูปเป็นแบบอย่างให้พระราชินีและพระ สนมชั้นเอกในพระราชวังกระทําตามด้วยศรัทธา

ทั้งนี้ แม้ว่าวินัยเข้มงวดพิสดาร 227 ประการของพระสงฆ์ จะมีข้อบัญญัติ อาทิ

“ห้ามมองสตรี”

“ห้ามคิดถึงสตรีทั้งในยามหลับและยามตื่น”

“ห้ามสนทนาวิสาสะกับสตรีสองต่อสอง”

“ห้ามรับของถวายมือต่อมือจากสตรี”

“ห้ามแตะต้องชายผ้าสตรี หรือแม้แต่เด็กหญิงตัวน้อยที่ยังนอนเปล”

“ห้ามนั่งเสื่อผืนเดียวกับสตรี”

“ห้ามขึ้นเรือที่อาจมีสตรีโดยสารด้วย” ฯลฯ

หากข้อเท็จจริงกลับกลายเป็นว่า สตรีเพศอันเป็นกึ่งหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์นี่เองที่เป็นฐานค้ำจุนสนับสนุนสถาบันสงฆ์อย่างแน่นแฟ้น มั่นคงที่สุด

ทุกๆ เช้าในครอบครัวจนๆ ภรรยาหรือบุตรสาวคนที่นั่งคุกเข่า นอบน้อมอยู่หน้าประตูบ้านเพื่อรอถวายทาน (ใส่บาตร) แก่พระผู้เดิน บิณฑบาตมาจากวัดใกล้บ้าน อาหารที่ดีที่สุดเท่าที่สามารถจัดหามาได้จากรายการอาหารของคนยากจนถูกบรรจงหย่อนอย่างนิ่มนวลลงในบาตรที่เปิดฝาอยู่เสมอ ไม่เพียงเท่านี้ พวกนางยังนําดอกไม้ไปบูชาพระพุทธรูปที่วัดดังกล่าวเดือนละ 3-4 ครั้งและนําข้าวของไปถวายแทบเท้าพระสงฆ์ เป็นประจําพลางนั่งร้องสาธุ! สาธุ สาธุ! (บราโว! บราโว!) ไปด้วยระหว่างพระสงฆ์ผู้มีหน้าที่เทศน์ประจําวันพร่ำบ่นอะไรต่างๆ ที่ฟังไม่รู้เรื่องหรือ น่าเบื่อชวนง่วงเป็นที่สุดนานเป็นชั่วโมงๆ

ส่วนในครอบครัวรวยๆ นายหญิงเจ้าบ้านถือว่าการนิมนต์พระมาเทศน์ให้บรรดาญาติมิตรฟังเป็นกิจกรรมเชิดหน้าชูตา เหมือนๆ กับที่พวกนายหญิงทางบ้านเราจัดงานบอลรูมหรืองานคอนเสิร์ตเพื่ออวดรวย หรืออวดยศศักดิ์ ในวาระโอกาสนี้ นายหญิงชาวสยามพิถีพิถันเลือกเฟ้น ของที่จะถวายพระนักเทศน์และประจงจัดวางไว้ในห้องรับรอง มีตั้งแต่ รองเท้า ผอบราคาแพงใบหนึ่งใส่เหรียญทอง ใบหนึ่งใส่เหรียญเงิน สิริรวมมูลค่ามากกว่าเงินรายรับประจําปีของขุนนาง อีกทั้งจีวรสีเหลืองทําจากผ้าไหมและผ้าฝ้าย แล้วก็หมากพลูหรือยาเส้น ห่อชา ท็อฟฟี่ เทียน ข้าว ผลไม้ และของกินนานาชนิด เอาเป็นว่าของสารพัดสารพัน…

จึงไม่ต้องประหลาดใจเลยที่ชาวสยามใช้ชีวิตด้วยการเคารพนับถือ ผ้าเหลืองโดยเชื่อว่าถ้าได้ถวายจีวรให้พระห่มก็จะได้บุญใหญ่ ไม่เฉพาะแต่กับตัวเอง หากบุญนั้นยังส่งผลต่อวิญญาณของบรรพบุรุษด้วย อนึ่ง พวกคนมีฐานะทั้งหลายมักขอให้ลูกชายเข้าพิธีบวชอย่างน้อยก็สักช่วงเวลาหนึ่ง ต่อจากนั้นก็ไม่มีอะไรจะง่ายเท่านี้อีกแล้ว

ชุมชนสงฆ์เปิดกว้างสําหรับบุคคลใดก็ตามที่ปวารณาตัวขอบวชต่อคณะพระอุปัชฌาย์ของแต่ละวัด โดยนุ่งขาวห่มขาว ตามด้วยขบวนแห่ของพ่อแม่ญาติพี่น้อง มิตรสหายและนักดนตรี พร้อมเครื่องปัจจัยไทยทาน ผ้าขาว (นาค) พร้อมเครื่อง สบง จีวร ผ้าคาด ผ้าสังฆาฏิ ผ้าไตรสีเหลือง และบาตรตีด้วยเหล็ก เพียงขานนาคต่อพระอุปัชฌาย์ว่า ตนไม่เคยเป็นโรคเรื้อน ไม่เคยเป็นบ้า ไม่เคย ต้องคุณไสย ไม่มีหนี้สิน และได้รับฉันทานุมัติจากพ่อแม่ โดยที่มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์

เมื่อเอ่ยข้อความดังกล่าวให้ได้ยินกันถ้วนทั่ว คณะสงฆ์จึงให้ผู้ขอบวชรับฟังกฎระเบียบของคณะสงฆ์ และแล้วสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ก็ได้รับการยกสถานะจากฆราวาสผู้ต่ำต้อยเป็นพระสงฆ์โดยสมบูรณ์ด้วยประการฉะนี้ และต้องครองผ้าเหลืองเป็นอย่างน้อย 3 เดือน พอครบกําหนด ก็สามารถสึกจากความเป็นพระกลับไปนุ่งห่มอย่างคนธรรมดาและแต่งงานได้ เท่านี้ก็เป็นอันได้ทดแทนคุณผู้ให้กําเนิดเรียบร้อยแล้ว

หลังจําพรรษา 3 เดือนช่วงหน้าฝนผ่านพ้นไป พระสงฆ์น้อยราย เท่านั้นที่ต้องประจําอยู่ที่วัดเดิมแม้แต่ในหมู่พระสงฆ์ที่ครองเพศบรรพชิตตลอดชีวิต หลังจากนั้นเขาอาจจาริกไปทั่วราชอาณาจักรจากเหนือจรดใต้

 

ที่มา https://www.silpa-mag.com

Leave a Reply