มจร เปิดอบรมหลักสูตรไกล่เกลี่ย “พระธรรมวัชรบัณฑิต” ย้ำ คนกลางสำคัญทุกยุคสมัย

วันนี้ 20  ธันวาคม 2566  พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  เป็นประธานการฝึกอบรมหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รุ่น 12  โอกาสนี้ พันตำรวจโท ดร. พงษ์ธร ธัญญสิริ  ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม  กระทรวงยุติธรรม  ได้ถวายเข็มเครื่องหมายยุติธรรมธำรง ชั้นที่ 4  แก่ พระธรรมวัชรบัณฑิต

ในขณะที่พระธรรมวัชรบัณฑิตได้มอบโล่รางวัลผู้ทำงานด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้กับนายเรืองศักดิ์ สุวารี  อธิบดีกรมประพฤติ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และ ดร.มยุรี  จำจรัส ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดชลบุรี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระธรรมวัชรบัณฑิต กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยขอขอบคุณทีมงานสันติศึกษา มจร ที่มีการต่อยอดการบริการด้านพระพุทธศาสนาในสังคม  โดยย้ำเรื่องเป็นคนกลางเป็นบุคคลที่มีความสำคัญทุกยุคสมัย เป็นบทบาทที่มีความเป็นจิตอาสาถือว่าทำได้ยาก เพราะต้องบริหารความสัมพันธ์สามเศร้า แต่ถ้าสามารถทำได้จะมีรสหวานยิ่งนัก เพราะคดีความที่ฟ้องกันมีแต่แพ้ไม่มีคำว่าชนะ  ซึ่งหลักการในการไกล่เกลี่ยจึงมีความสำคัญยิ่ง

“หลักการในทางพระพุทธศาสนาในการทำงานจะต้องมี 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1)ศึกษาปริยัติทางทฤษฎี  ให้มีความเข้าใจทางวิชาการ  2)ปฏิบัติ ปฏิบัติให้เกิดความลึกซึ้ง 3)เกิดผลในการศึกษา โดยต้องยึดสัปปุริสธรรม 7 ในทางพระพุทธศาสนา โดยผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องมีคุณลักษณะจะต้องมีความน่าเคารพความเป็นต้นแบบ มีความเป็นปูชนียบุคคล จะต้องมีความเด่นในด้านต่างๆ จะต้องค้นหาจุดเด่นของตนเองให้เจอ โดยผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องทำใจเป็นกลางมีความเป็นกลาง  โดยผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องวิเคราะห์คู่ขัดแย้ง ศึกษาวัฒนธรรมของคู่ขัดแย้งให้ดี ทำให้อย่างให้คลายมิจฉาทิฐิก่อนจึงจะไกล่เกลี่ยได้จึงจะนำไปสู่สัมมาทิฐิ โดยมองบัว 4 เหล่า บางพวกไม่เสียเวลาไปไกล่เกลี่ยข้อพิพาท..”

ด้าน พระเมธีวัชรบัณฑิต ผอ.สันติศึกษา มจร ในฐานะประธานฝึกอบรมหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เปิดเผยว่า เรื่องไกล่เกลี่ยเป็นข้อพิพาทเป็นเรื่องสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งอาจมีความเข้าใจผิดซึ่งกันและกันได้ เรื่องแบบนี้ในอดีตมันเป็นบทบาทของพระภิกษุสงฆ์อยู่แล้ว โดยเฉพาะท่านเจ้าอาวาสในฐานะผู้นำจิตวิญญาณ ผู้เป็นที่พึ่งของชุมชนหมู่บ้าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยดำเนินการเรื่องมาร่วมกับกระทรวงยุติธรรมมาตั้งแต่ปี 2563 ต่อมามหาเถรสมาคมก็มีมติเรื่องนี้ โดยให้คณะสงฆ์เจ้าคณะปกครองดำเนินการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระดับตำบลขึ้นให้ครบทุกตำบลเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้ลดความขัดแย้งลงได้

 “สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี  กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ท่านให้นโยบายไว้ว่า ก่อนใช้ทนายฟ้องร้องดำเนินคดีให้ทุกวัดพูดคุยกันก่อน ซึ่งตรงกันหลักการศูนย์ไกล่เกลี่ยที่เรากำลังทำอยู่นี้ และ มจร จับเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว  ท่านอธิการบดี พระธรรมวัชรบัณฑิต ท่านมีนโยบายให้ มจร ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทุกแห่งต้องมีศูนย์ไกล่เกลี่ย เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน  ซึ่งตอนนี้เราอบรมไปแล้ว 11 รุ่น ๆ หนึ่งมีคนมาร่วมอบรมประมาณ 50 -60 ท่าน มีทั้งคนในและคนนอก หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนี้จะช่วยให้สังคมไทยสงบสุขลดความขัดแย้งในชุมชนได้อย่างยั่งยืน..”

Leave a Reply