วันที่ 6 กรกฎาคม 2563 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) และผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า การเข้าพรรษา จัดว่ามี 2 เข้า คือ เข้าพรรษาข้างนอก กับเข้าพรรษาข้างใน การเข้าพรรษาข้างนอกจะพูดถึงการอาศัยอยู่ในวัดหรืออาวาสใดอาวาสหนึ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามคำบาลีที่สวดในวันเข้าพรรษาว่า “อิมัสมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าจะจำพรรษาตลอดสามเดือน ในอาวาสแห่งนี้”

เพราะนกยังต้องเก็บตัวอาศัยอยู่ในรังช่วงหน้าฝน กบยังต้องจำศีล ใยสาวกของสมณโคดมยังต้องท่องเที่ยวจาริกธรรม ทั้งฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน ในขณะที่ฤดูฝนเป็นช่วงเวลาแห่งการทำไร่ไถ่นา เพาะปลูกข้าวกล้าของหมู่ชนในยุคเกษตรกรรม และต้นไม้ใบหญ้ากำลังเจริญเติบโต เพื่อมิให้เกิดความกังวลต่อการอุปัฏฐากพระสงฆ์ และเบียดเบียนธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จึงเห็นสมควรที่จะต้องอนุโลมตามข้อสังเกตของชาวบ้าน จนเป็นที่มาของพุทธบัญญัติให้มีการ “เข้าพรรษา” ตลอดช่วงหน้าฝน

การเข้าพรรษาข้างนอกดังกล่าวข้างตน จึงเป็น “โอกาส” แห่งการเข้าพรรษาข้างใน โดยอาศัยการเข้าพรรษานอกมาเป็นฐานให้การเข้าพรรษาในมีคุณค่าแท้และความหมายในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา

1. ช่วงเวลาแห่งการลด ละ เลิก ช่วงนี้จะเป็นจังหวะสำคัญแห่งการละเว้นบาปกรรมทั้งหลาย ที่กระตุ้นกายใจให้เศร้าหมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าไปข้องเกี่ยวกับอบายมุขต่างๆ ที่เป็นช่องทางแห่งการเสื่อมโทรมทางกายใจ การลด ละ เลิกบาปกรรมหรืออบายมุข จึงเป็นการเปิดโอกาสให้กายใจได้รับพลังเชิงบวก ที่กระตุ้นให้เกิดความรู้ตื่นและเบิกบานของชีวิต ชุมชน และสังคมมากยิ่งขึ้น จากบาปให้กลายเป็นบุญ

2. ช่วงเวลาแห่งการสร้างบารมี หลังจากออกพรรษา หลายท่านอาจจะปล่อยตัว เผลอใจ จนจิตอ่อนแอขาดพลัง ทำให้กิเลสชักพาไปลดทอนคุณค่าของตัวเองและคนอื่นในสังคม จึงถึงเวลาแห่งการกลับมาเสริมสร้างบารมีเสียใหม่ ทั้งทานบารมี สีลบารมี เนขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ให้เพิ่มสูงขึ้น

3. ช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนกายใจ ภายหลังที่ได้ใช้เวลา 9 เดือนหลังจากออกพรรษา ไปทำหน้าที่ประกาศศาสนธรรมคำสอนแล้ว รวมถึงอุบาสกอุบาสิกาที่ใช้ชีวิตแสวงหาเรื่องกิน กามเกียรติมาอย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลา 3 เดือน สามารถใช้เวลามานั่งใกล้พระรัตนตรัยมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ชีวิตได้มีโอกาสสัมผัสความสะอาด สงบ และสว่าง

4. ช่วงเวลาแห่งการพัฒนาขันธ์ 5 พุทธบริษัททั้ง 4 จะได้ใช้เวลาในการศึกษาและทบทวนปริยัติทั้งพระธรรมกับพระวินัยให้เข้าใจลึกซึ้ง แล้วนำลงไปสู่การปฏิบัติให้รู้จักปริยัติอย่างแจ่มแจ้งในอรรถะและพยัญชนะ ขันธ์ 5 คือกายใจ จึงจะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะรองรับการพัฒนาธรรมะที่แท้จริงให้เกิดขึ้น จนทำให้เราสามารถเข้าใจชีวิตอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น

Leave a Reply