“อ.สันติศึกษา มจร”เผยเล็งหนุนนิสิต ทำวิจัยสร้างความมั่นทางอาหารและจิตใจ ตามแนวพุทธสันติวิธี บูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล”
วันที่ 7 ก.ค.2563 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ตามที่ได้ร่วมคณะหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเดินทางไปดู”โคก หนอง นาโมเดล” ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติจังหวัดสุรินทร์ เพราะตระหนักในแนวทางรอดของชีวิตของเพื่อนมนุษย์ จึงมุ่งเน้นการวิจัยด้านความมั่นคงทางด้านอาหารและความมั่นคงทางด้านจิตใจ อันจะให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“โดยตั้งคำถามว่า อะไรคือจุดแข็งของประเทศไทย หลายท่านต่างให้คำตอบว่า คือเกษตรกรรมการใช้ชีวิตที่พอเพียง เป็นจุดแข็งของคนไทย อย่าลืมว่า ความหิวโหยนำมาซึ่งความทุกข์ ถ้าปากท้องยังหิวอยู่สันติภาพก็เกิดขึ้นได้ยากมาก ปากท้องจึงต้องมาก่อน พระพุทธเจ้ายังไม่แสดงธรรมแก่บุคคลที่กำลังหิวท้องยังไม่อิ่ม แสดงว่าพระองค์ให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะในภาวะโควิดทำให้เราได้เรียนรู้ครั้งยิ่งใหญ่ของความต้องการของมนุษย์ที่แท้จริงว่า เราต้องการอาหาร ทำให้มีการตระหนักถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ทรงย้ำกับคนไทยเรื่อง ความเพียงพอ ใครที่เดินทางตามแนวทางของพระองค์จึงอยู่รอดอย่างมีความมั่นคงและเกิดสันติสุข” อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวและว่า
เพราะชีวิตของมนุษย์ที่ผ่านมาเราฝากชีวิตไว้กับห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ฝากชีวิตไว้กับคนอื่นซึ่งควบคุมไม่ได้ แต่พอเกิดภาวะวิกฤตแล้วไม่ค่อยจะสะดวกด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่สามารถมีอาหารให้เราได้ตลอดเวลา ชีวิตเราฝากปากท้องไว้กับไว้กับชั้นวางสินค้าของห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อต่างๆ พอเกิดวิกฤตขึ้นมาเราไม่สามารถพึ่งพาได้ เพราะอาหารเป็นสิ่งที่ต้องเพาะต้องปลูกต้องทำ ในอดีตไทยเราได้รับฉายาว่า อู่ข้าวอู่น้ำ แต่พอเกิดวิกฤตเราห่างไกลอาหาร เราทานอาหารทุกวัน มองว่าอาหารมีมากมายทุกหัวมุม โดยไม่ได้มองว่า การจัดการอาหารที่แท้จริงเป็นอย่างไร??? จึงนำอาหารไปฝากไว้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ถือว่าเป็นความประมาทยิ่งนักในการบริหารจัดการชีวิต ในภาวะโควิดจึงทำให้เราตระหนักรู้ พร้อมจะลุกขึ้นมาสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร
ปัจจุบันเรามีความมั่นใจอาหารในระบบเดียว คือ ระบบที่เป็นการค้าโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เรามั่นใจว่ากลุ่มทุนระบบใหญ่จะสามารถจัดการอาหารให้เราได้ตลอดเวลา เรามีความมั่นใจสูงเกินไป เราเลยขาดความมั่นคงในภาวะวิกฤต เราปล่อยให้ทุนขนาดใหญ่เป็นผู้ควบคุมระบบการค้าปลีกขนาดใหญ่ มีการผูกขาดอย่างชัดเจน บทเรียนจากภาวะวิกฤตในการจัดการภายใต้ภาวะวิกฤต จะเป็นตัวแบบในการจัดการในอนาคต เพราะโควิดคงไม่ใช่วิกฤตสุดท้ายของมวลมนุษย์อย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะเกิดวิกฤตลักษณะแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุดหรืออาจจะเกิดรุนแรงกว่านี้ จึงต้องเตรียมตัวก่อนจะสายเกินไป
ความมั่นคงทางด้านอาหาร หมายถึง เราต้องมีอาหารอยู่ในมือ มีอาหารใกล้ตัว ที่เราจะสามารถเข้าถึงอาหารได้โดยไม่มีข้อจำกัดมากมาย ด้วยการพึ่งตนเองได้ อาหารที่ปลอดสารพิษ เรามักจะปล่อยให้อาหารห่างจากตัวเรา ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ในยามปกติและในยามวิกฤต ภาวะนี้คงเตือนสติผู้คนได้เป็นอย่างมากว่าอะไรสำคัญที่สุด แม้ขนาดว่าเรามีเงินยังไม่สามารถซื้ออาหารได้เลย จึงต้องตระหนักว่า เราควรสร้างความมั่นคงทางอาหาร สามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งในยามปกติสุขและในยามวิกฤติ ในวิกฤตนี้เป็นช่วงเวลาที่หลายคนตกงาน ถูกเลิกจ้าง จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร บริหารจัดการอาหารของตนเองได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในวิถีแห่งความพอเพียง
ในโอกาสเดินทางมาเรียนรู้การทำโคกหนองนาโมเดล ทำให้เราได้ตระหนักว่า เราต้องกลับมาทบทวนว่าเราจะต้องสามารถพึ่งตนเองได้แม้จะเจอภาวะวิกฤตของโลก ประเทศไทยนับว่าโชคดียิ่งที่มีฐานของเกษตรกรรม พืชผักอาหารมีความอุดมสมบูรณ์ มีความเป็นสัปปายะในการใช้ชีวิต เราจึงควรดำเนินชีวิตที่ไม่ประมาท เพราะไวรัสสามารถหยุดทุกกิจกรรมของโลก เราจึงควรสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารเพื่อความอยู่รอดของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมุมมองด้านเศรษฐกิจ การเงิน ด้านการตลาด และอาหาร วิธีรับมือกับ New Normal ที่ดีที่สุดคือ การเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พึงตระหนักว่า ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลาแบบหักศอก จงดำเนินชีวิตที่มีสติเป็นฐานและสร้างความมั่นคงทางด้านจิตใจและความมั่นคงทางด้านอาหาร
อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวด้วยว่า ดังนั้น หลักสูตรสันติศึกษา มหาจุฬา จึงมุ่งให้มวลนิสิตมหาบัณฑิต ดุษฏีบัณฑิตลงพื้นที่ทำวิจัยกับชุมชนผ่าน 4 ภาพ คือ กายภาพ พฤติภาพ จิตภาพ และปัญญาภาพ เพื่อให้ชุมชน องค์กร สังคม ประเทศ เกิดสันติสุขสืบไป
Leave a Reply