คณะอนุกรรมาธิการศาสนาห่วง “กฎหมายลูกการศึกษาสงฆ์..ล่าช้า” เร่งหารือพระสงฆ์ที่เกี่ยวข้อง

            เมื่อวานนี้ ( 8 ก.ค.63) ที่อาคารรัฐสภา ห้อง 301   คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ซึ่งมี ดร.นายเพชรวรรต  วัฒนพงศศิริกุล  ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้อาราธนานิมนต์ พระเทพปรวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา  หรือ คปพ. พระเทพเวที   รก.เจ้าคณะภาค 6 รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยมีคณะอนุกรรมาธิการ ร่วมประชุมหลายท่าน พร้อมด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนใจกิจการด้านพระพุทธศาสนา เช่น พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ดร.นิยม เวชกามา ,นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์,นางพรเพ็ญ  บุญศิริวัฒนกุล เป็นต้นร่วมประชุม

            การอาราธนานิมนต์คณะสงฆ์ในคราวนี้เนื่องจากคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครพนม แล้วได้รับการร้องเรียนให้ช่วยติดตามผลการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาทั้ง 6 ด้านและความคืบหน้าการออกกฎหมายลูกพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562  ที่ล่วงเลยมาแล้ว 1 ปี 2 เดือน ซึ่งการออกกฎหมายลูกที่ล่าช้า ทำให้โรงเรียนพระปริยัติธรรมจำนวน 407 กว่าโรงเรียนทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบด้านงบประมาณในการบริการจัดการ

            พระเทพปรวเมธี ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา  เล่าว่า การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาถือเป็นวาระแห่งชาติ เพราะได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่กำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำการศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ  เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เว้นแม้กระทั้งสถาบันสงฆ์

            สภาการปฎิรูปแห่งชาติ ได้เสนอการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาทั้งหมด  4  ข้อคือ  ข้อ 1. ให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ ข้อ  2. เสนอให้แก้กฎหมายมหาเถรสมาคมฉบับที่ 24 พ.ศ.2541 ว่าด้วย การแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในสาระสำคัญ คือ  การกระจายอำนาจ ในการปกครองคณะสงฆ์   ข้อ 3. ต้องมีกลไกนำหลักปฏิบัติตามพุทธบัญญัติ ที่ทรงไว้ซึ่งความดีอย่างถูกต้องมาปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนหรือแอบอ้างพระธรรมวินัย และ ข้อ 4.ให้ปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันเหตุการณ์ โดยราชการต้องให้ความสำคัญด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยเฉพาะศึกษาปริยัติธรรม แผนกบาลี และแผนกธรรม ไม่ได้ปรับปรุงแก้ไข ทำให้ค่านิยมในหมู่พระภิกษุ สามเณร และเยาวชนลดลง

          ในการนี้มหาเถรสมาคม องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ได้มอบหมายให้กรรมการมหาเถรสมาคม 3 รูปคือ 1. พระพรหมมุนี (ปัจจุบัน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์) 2. พระพรหมบัณฑิต 3. พระพระพรหมโมลี  ร่วมหารือกับรัฐบาล  แล้วจึงได้ข้อสรุปว่าคณะสงฆ์จะปฎิรูปภารกิจเดิมที่คณะสงฆ์ ทำอยู่แล้วทั้ง 6 ด้าน ต่อมา มหาเถรสมาคมจึงแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคม  จากนั้นคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ได้มีการประชุมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ตามภารกิจกรอบ งานคณะสงฆ์  6  ด้าน   ประกอบด้วย  1) ด้านการปกครอง  2) ด้านการศาสนศึกษา  3) ด้านการศึกษาสงเคราะห์ 4) ด้านการเผยแผ่ 5) ด้านการสาธารณูปการ 6) ด้านการสาธารณสงเคราะห์  และบวกด้านการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกด้วย

            และเมื่อวันที่ 10   มกราคม 2560 ได้เสนอแผนแม่บทการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ระยะ 5  ปี พ.ศ. 2560 -2565   ต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา และให้ดำเนินการได้ทันที และรวมทั้งคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบตามมติของมหาเถรสมาคม ซึ่งการจัดทำแผนแม่บทนี้เราทำสอดคล้องกับแผ่นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

            “  มหาเถรสมาคมแต่งตั้งอาตมา เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา รวมทั้งเจ้าคุณพระเทพเวที เพื่อขับเคลื่อน    จากการปฎิรูปสู่การปฎิบัติ คณะสงฆ์เราก็ทำมาเรื่อยมา ภายใต้แผนแม่บทตัวนี้ ประมาณปี 2562 เกิดสะดุด เคยตามและพูดคุยกับสำนักงานพระพุทธศาสนาหลายรอบ แต่ก็ไม่อะไรคืบหน้า จนอาตมาในฐานะผู้ประสานงานเรื่องนี้ก็หยุดอยู่แค่นี้.. ในฐานะพวกท่านดูแลด้านนโยบาย อยากให้ช่วยผลักดันเรื่องการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา และรวมทั้งงบประมาณที่จะทำเรื่องนี้ต่อไป..”

            ในขณะที่ พระเทพเวที  ในฐานะคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม กล่าวว่า “ปัจจุบันการออกกฎหมายลูกกำลังดำเนินการอยู่ ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว 4 ฉบับ คือ เรื่องบาลี -นักธรรม-ปริยัติสามัญและพระศูนย์พระปริยัตินิเทศก์  พระราชบัญญัติฉบับนี้ถือว่าเป็นพระราชบัญญัติฉบับที่ 2 ของคณะสงฆ์ไทยที่เรามี นี่คือพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การศาสนศึกษาของคณะสงฆ์ไทย

            สำหรับงบประมาณ ตอนนี้กฎหมายลูกก็ยังไม่ออก แผนการทำงบก็ยังไม่เกิด ก็พยายามเร่งรัดทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าให้ทันในงบประมาณปี 2565 เพราะงบประมาณปี 2564 ผ่านสภาไปแล้วคงได้มายาก..”

            ต่อจากนั้นที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ ได้มีการพูดคุยและเสนอทางออกหลายประเด็น โดยเฉพาะการออกกฎหมายลูกและด้านงบประมาณ เพื่อตอบสนองโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั่วประเทศประมาณ 407 โรงเรียน ที่ปัจจุบันอยู่ได้ด้วยบารมีเจ้าอาวาสและศรัทธาของชาวบ้าน  คณะอนุกรรมาธิการและ ส.ส.ทุกท่านยินดีที่จะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ฝ่ายรัฐบาล เพื่อเดินหน้าเรื่องนี้ให้บรรลุตามเป้าประสงค์ของการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาคือ พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน ต่อไป

           ********************

Leave a Reply