แม้จะยังไม่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการสำหรับว่าผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แต่ก็เป็นที่คาดหมายกันว่าสมรภูมิการเมืองที่ปลายด้ามขวานจะดุเดือดยิ่งกว่าพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ทั้งหมด
เพราะเดิมพันไม่ใช่แค่ชัยชนะ แต่มันคือศักดิ์ศรีพรรค และเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ในพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคงแห่งนี้ด้วย
ย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้งเมื่อปี 54 พรรคประชาธิปัตย์คว้าเก้าอี้ ส.ส.มาได้ถึง 9 ที่นั่งจาก 11 ที่นั่ง แบ่งให้พรรคภูมิใจไทยและมาตุภูมิแค่พรรคละ 1 ที่นั่งเท่านั้น แถมยังอยู่ในปัตตานีทั้งคู่ ขณะที่อีก 2 จังหวัด ปชป.ชนะยกทีม
ส่วน “พรรคเพื่อไทย” สูญพันธุ์ไปอย่างเหนือความคาดหมาย ทั้งๆ ที่ชูนโยบายหาเสียงที่คิดว่าโดนใจสุดๆ อย่าง “นครปัตตานี” หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่พิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กลับพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ไม่ได้ ส.ส.กลับมาเลยแม้แต่คนเดียว
ในอดีตสนามเลือกตั้งชายแดนใต้เป็นการฟาดฟันกันระหว่าง 2 กลุ่มการเมืองเท่านั้น คือ “พรรคประชาธิปัตย์” กับ “กลุ่มวาดะห์” ที่เปลี่ยนพรรคไปเรื่อยๆ ส่วนกลุ่มการเมืองอื่นๆ ทำได้เพียงสอดแทรกเข้ามา 1-2 ที่นั่ง โดยอาศัยคะแนนนิยมจากตัวผู้สมัครล้วนๆ
แต่การเลือกตั้งหนนี้ คาดว่าจะมีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดเลือดพล่านถึง 5 พรรค คือ ประชาธิปัตย์แชมป์เก่า, กลุ่มวาดะห์ที่ตั้งพรรคประชาชาติขึ้นมา, พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มี “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นตัวชูโรง, พรรคพลังประชารัฐที่กุมกลไกอำนาจรัฐ, และพรรคภูมิใจไทยที่เคยเจาะไข่แดงสำเร็จมาแล้ว
เริ่มกันที่ “พรรคประชาธิปัตย์” ในฐานะแชมป์เก่า มีโจทย์ให้ นิพนธ์ บุญญามณี กับ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สองขุนพลภาคใต้ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ต้องปรับยุทธศาสตร์อย่างเร่งด่วน เพราะอดีต ส.ส.ของพรรค 6 คน นำโดย สุรเชษฐ์ แวอาแซ และ เจ๊ะอามิง โตะตาหยง ย้ายไปซบอก “ลุงกำนัน”เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือ รปช.เอง แม้จะเป็นพรรคใหม่ แต่เมื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” คือแม่ทัพ ย่อมประมาทไม่ได้ เพราะเขาคือหนึ่งในผู้วางยุทธศาสตร์ให้ประชาธิปัตย์เคยผงาดในดินแดนด้ามขวานมาแล้ว หนำซ้ำยังได้อดีต ส.ส.จากบ้านเก่ามาเพิ่มต้นทุนให้ รปช.อีกด้วย
ส่วน “พรรคประชาชาติ” ภายใต้การนำของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขวัญใจคนสามจังหวัด เลือกตั้งหนนี้หลอมรวมเอาอดีตแกนนำพรรคมาตุภูมิมาอยู่ร่วมกันในบ้านหลังใหม่ และยังได้อดีต ส.ส.ที่เคยสังกัดพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนามาร่วมทีมด้วย งานนี้จึงถือว่า “พรรคประชาชาติ“ มีคะแนนตุนไว้ในกระเป๋าแล้วมากพอสมควร
ที่สำคัญแกนนำพรรคยังข้ามไปฝั่งมาเลเซีย ขอคะแนนจาก “กลุ่มต้มยำกุ้ง” คือคนจากชายแดนใต้ที่ข้ามไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เสียงจากคนกลุ่มนี้ว่ากันว่ามีมากกว่า 1 แสนคะแนนเลยทีเดียว
ทางด้านพรรคภูมิใจไทย แม้ สมมุติ เบ็ญจลักษณ์ อดีต ส.ส.ปัตตานีหนึ่งเดียวของพรรค ตัดสินใจย้ายค่ายไปอยู่กับพรรคประชาชาติ แต่ว่ากันว่าแกนนำพรรคตัวจริงอย่าง เนวิน ชิดชอบ แห่งบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ยังไม่ถอดใจ ล่าสุดมีข่าวทาบทาม “หมอเพชรดาว โต๊ะมีนา” ลูกสาวของอดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่าง “เด่น โต๊ะมีนา” ไปร่วมงานด้วย ทำให้เลือกตั้งหนนี้ พรรคภูมิใจไทยยังคงอยู่ในสปอตไลท์
ปิดท้ายที่พรรคน้องใหม่อย่าง “พลังประชารัฐ” ดูจะมีต้นทุนต่ำที่สุด เพราะอดีต ส.ส.ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะคว้ามาเข้าพรรค หลุดมือไปเกือบทั้งหมด ทำให้ พปชร.คงเหลือจุดแข็งอย่างเดียว คือ การมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ผู้กุมกลไกอำนาจรัฐที่สามารถใช้พลังแฝงช่วยเหลือ และขณะเดียวกันก็ตัดกำลังคู่แข่งได้ แม้วันนี้ “ผู้นำทัพตัวจริง” ของ พปชร.ที่ชายแดนใต้จะยังไม่เปิดตัวต่อสาธารณะก็ตาม
ปัจจัยชี้ขาดผลเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ วันนี้ ใครที่บอกว่า “กระสุน” ซึ่งในทางการเมืองหมายถึง “เม็ดเงิน” ไม่มีความสำคัญ คงต้องคิดใหม่ เพราะคนวงในรู้กันดีว่า “กระสุนดินดำ”ที่ใช้ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง มากมายไม่แพ้กระสุนปืนจากสถานการณ์ความไม่สงบเลยทีเดียว
ส่วน “กระแสผู้สมัคร” ที่เป็นจุดแข็งมาตลอด เพราะเชื่อกันว่าคนชายแดนใต้นิยม “เลือกคน” ไม่ค่อยสนใจ “เลือกพรรค” นั้น เลือกตั้งหนนี้ต้องรอดูว่าค่านิยมเดิมๆ จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
แต่พรรคไหนที่หวังกระแสคนรุ่นใหม่ อาจต้องเตรียมใจผิดหวัง เพราะระบบหัวคะแนนจัดตั้งและการชี้นำจากผู้นำทางความคิด โดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่นกับผู้นำศาสนา ยังขลังยิ่งกว่าทุกกระแสในดินแดนปลายด้ามขวาน
ทีมข่าว “thebuddh.com” ได้มีโอกาสคุยกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า “ในพื้นที่ภาคใต้ถือว่าเป็นพื้นที่ที่เราคาดหวังว่าจะได้ ส.ส.ไม่แพ้พรรคอื่น และทางพรรคเองก็ชูนโยบาย “สังคมพหุวัฒนธรรม” คือ มิได้มุ่งเน้นดูแลเฉพาะคนในพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิมเท่านั้น เราจะดูแลทุกคนให้เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ ชาวคริสต์ หรือแม้กระทั้งกลุ่มคนชาวซิกข์ เพราะเราถือว่าทุกคนคือคนไทยเหมือนกัน และรวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศที่มีจำนวนมากด้วย อย่างผมนี้บรรพบุรุษมาจากจีนนับถือศาสนาพุทธ และผมเองก็นับถือศาสนาพุทธ 100% และในกรรมการบริหารพรรคหลายท่านเป็นคนพุทธ แต่แน่นอนว่าหัวหน้าพรรคคืออาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งเป็นคนมุสลิมและมีประสบการณ์ทางการเมืองมากมาย เราคาดหวังว่าพรรคประชาชาติจะได้ ส.ส.ทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 20 คน “
ก่อนกลับคุณทวี ยังย้ำต่อว่า “พรรคประชาชาติ มิใช่พรรคท้องถิ่น พรรคประชาชาติไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พรรคประชาชาติไมได้เป็นพรรคของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่พรรคประชาชาติเป็นพรรคของทุกชาติพันธุ์ พรรคพระชาชาติเป็นพรรคชองคนไทยทั้งประเทศ ด้วยบทบาทของผมในพื้นที่ตอนดำรงตำแหน่งเลขาศอ.บต. เป็นหลักฐานยืนยันว่าผมดูแลทุกศาสนาเท่าเทียมกัน พระสงฆ์ในพื้่นที่จะเข้าใจผมดีจากผลงานของผม..”
/////////////////////////////////////////
ขอบคุณ : บทวิเคราะห์โดย สมชาย สามารถ บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ เครือเนชั่น
ขอบคุณ : สำนักข่าวอิสรา ศูนย์ข่าวภาคใต้
Leave a Reply