สัมภาษณ์พิเศษ : แกนนำยุวสงฆ์ปลดแอก (คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่) โดย อุทัย มณี
เมื่อปีพุทธศักราช 2477 มีพระหนุ่มเณรน้อยจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันในชื่อ “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา” ข้อเรียกร้องของคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนามี 3 ประเด็นหลัก คือ
1.การปกครองคณะสงฆ์ไม่เสมอภาคเจ้าคณะที่เป็นธรรมยุตปกครองสงฆ์ฝ่ายมหานิกายได้ แต่เจ้าคณะที่เป็นมหานิกายปกครองสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตไม่ได้
2.เพื่อให้ได้มีการร่วมสมานสังวาสระหว่างสงฆ์มหานิกายและธรรมยุติกนิกาย
3.ให้คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายมีสิทธิในตำแหน่งทางการศึกษา,การปกครอง,หรืออำนาจสูงสุดในการปกครองสังฆมณฑลด้วย
ในปี 2563 เกิด “คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ข้อเรียกร้องของคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ มิได้หยุดอยู่แค่ “ความเท่าเทียม ความไม่เป็นธรรม” ระหว่างนิกายเท่านั้น ยังพุ่งเป้ายังภายนอกคือ รัฐ ด้วย
อาทิ ให้แยกศาสนาออกจากจากรัฐ เพราะคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่มองว่า คณะสงฆ์ไทยปัจจุบันอยู่ภายใต้ “การบ่งการ” ของรัฐให้หยุดใช้ศาสนาเป็นเครื่องในการสร้างความแตกแยกและหยุดใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือชวนเชื่อ พร้อมกับเรียกร้องให้ปฎิรูปโครงการคณะสงฆ์ที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย
ผู้สัมภาษณ์ คิดอยู่หลายครั้งที่ต้องการ “เปิดแนวคิด-ปมในใจ-รวมทั้งความต้องการที่แท้จริง” คืออะไรกันแน่ ของแกนนำคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ และทั้งแคลงใจอยู่ว่า “แกนนำที่จริงคือใคร” มีกี่รูป และเครือข่ายมีมากน้อยแค่ไหน
ปัจจุบันแกนนำคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ ค่อนข้าง “เก็บตัว” ไม่กล้าแสดงออกอะไรที่สู่สาธารณะมาก เนื่องจาก “ถูกจับตาและกดดัน” ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ,เจ้าคณะปกครองและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
สัปดาห์ก่อนได้ติดต่อผ่านพระภิกษุรูปหนึ่งที่มี “คอนเนคชั่น” กับแกนนำคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ เพื่อขอสัมภาษณ์ แนวคิด -ปมในใจและความต้องการที่แท้จริง
แกนนำคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ ยินดีแต่ขอไม่เปิดเผยชื่อจริงและรูปภาพและขอตอบเป็นลายลักษณ์อักษรแทน
ต่อจากนี้ไป..คือ คำถามและคำตอบ
@ อะไร คือ เหตุจูงใจ ทางการเมืองหรือทางศาสนา ที่ต้องออกมาร่วมกันขับเคลื่อนกับคณะราษฎร
การกดขี่ การบังคับขู่เข็ญ การเลือกปฏิบัติและการปกครองอย่างไม่เป็นธรรมของคณะสงฆ์ ไร้วี่แววของความเจริญก้าวหน้า อันเนื่องมาจากการถูกกดทับภายใต้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์มาอย่างยาวนาน การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีความหวังอย่างต่ำสุด คือ การปรับปรุงแก้ไขการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามธรรมวินัยและสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และมีความหวังอันสูงสุด คือ การแยกอำนาจรัฐออกจากศาสนา ไม่ให้มาครอบงำคณะสงฆ์อีกต่อไป การเผยแผ่พระศาสนาจะเป็นไปโดยอิสระเสรี โดยที่คณะสงฆ์ไม่ต้องถวายตัวรับใช้รัฐ
@ ที่มาที่ไปของชื่อกลุ่ม ที่ไปสอดคล้องกับชื่อกลุ่มเหมือนกับกลุ่มยุวสงฆ์เมื่อปี 2477
แรงบันดาลใจมาจากการเคลื่อนไหวของยุวสงฆ์ ปี 2477 เรารู้สึกว่าปัญหาของคณะสงฆ์มันวนกลับไปที่เดิม การกดขี่ระหว่างนิกาย การใช้อำนาจกลั่นแกล้งหรือทำลายกัน การออกกฎหมายคณะสงฆ์ไม่เป็นธรรมและที่สำคัญ คือ พระระดับปกครอง ไม่ได้มีที่มายึดโยงกับผู้ใต้ปกครองอย่างพวกพระหนุ่มเณรน้อย เป็นต้น
ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้ในสมัยก่อน อย่างยุวสงฆ์ ปี 2477 หรือ มหาสังฆสันนิบาต ณ ลานอโศก ปี 2518 มีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่ออกมาเรียกร้องความถูกต้อง ไม่ได้เกรงกลัวต่ออำนาจมืดใด ๆ ยืนหยัดในหลักการที่ควรจะเป็น เราจึงใช้ชื่อว่า “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา ใหม่” เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้และสดุดีในความกล้าหาญของท่านเหล่านั้น
@ คิดอย่างไรจึงเข้าไปร่วมชุมชุมกับกลุ่มการเมือง
ทางกลุ่มของเราตระหนักดีว่า “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้พัดพามาถึงแล้ว” จึงได้เข้าร่วมขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยกับคณะราษฎร ปี 2563 เพื่อทวงคืนความเป็นธรรมกลับสู่คณะสงฆ์ ประเทศเรามีการแก้ไขกฎหมายหลายครั้ง แก้เป็นเผด็จการก็เยอะ แก้เป็นประชาธิปไตยก็มี เช่น รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ยอมรับกันว่าประชาธิปไตยที่สุด แต่เมื่อมองดูพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แล้ว พบว่าเป็นเผด็จการโดยส่วนมาก ไม่มีการแก้ไขในยุคที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเลย เช่น แก้ไขปี 2505 สมัยจอมพลสฤษดิ์ (จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ )แก้ไขปี 2535 สมัยอานันท์ ( นายอานันท์ ปันยารชุน) ก็เป็นรัฐบาลมาจากเผด็จการทหาร, แก้ไขปี 2561-2562 สมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นเผด็จการทหารเช่นกัน เราจึงมองว่าหากเราไม่ออกมารณรงค์แก้ไขเอง คงไม่มีหนทางที่จะแก้ไขแล้ว เพราะภายใต้การกดทับกันของระบบสงฆ์ในตอนนี้ พระเณรแสดงความเห็นทางการเมืองยังเป็นเรื่องที่ผิดเลย
@ ประเด็นข้อเรียกร้องเราคิดกันเองหรือมาจากกลุ่มการเมือง
มีทั้งข้อเรียกร้องที่ตกลงกันเองและเสนอสนับสนุนระบอบเสรีประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องของเราอย่างต่ำที่สุด คือ แก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด อันนี้เป็นข้อเรียกร้องแรก ๆ ที่ตั้งกลุ่มเลย ส่วนอย่างสูงที่สุด คือ secula state หรือ รัฐโลกวิสัย แยกอำนาจรัฐออกจากศาสนาให้ชัดเจนเลย ไม่ให้โอกาสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครอบงำอีกฝ่ายได้ อันนี้เราคิดว่าถ้าไทยอยากเป็นเสรีประชาธิปไตย ศาสนาก็ต้องไม่ถูกครอบงำรัฐ รัฐก็ต้องไม่ครอบงำศาสนาเช่นกัน เป็นข้อเรียกร้องที่เราตกลงกันภายหลัง
@ เป้าหมายจริงของคณะปฎิสังขรณ์ คืออะไร แค่ต้องการแยกอำนาจรัฐออกจากศาสนา ปรับปรุง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ใหม่ หรือมากกว่านั้น
เป้าหมายยังไม่แตกประเด็นไปมากกว่าที่ทางเพจคณะปฏิสังขรณ์ฯ เสนอเท่าไหร่ เราประเมินความเป็นไปได้ด้วย ดูบริบทสังคมไทยเวลานี้ด้วย สิ่งที่พวกเราคาดหวังในการเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างน้อยที่สุด คือ แก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ให้ได้ หรือถ้าจะดีกว่านั้น คือ เสนอรัฐโลกวิสัยไปเลย เพราะถ้าศาสนายังแยกไม่ขาดจากรัฐ วันข้างหน้าก็อาจจะหวนกลับมาเป็นปัญหาให้พระเณรรุ่นต่อไปเขาอีก สู้แยกออกจากกันเลย จะได้ไม่ต้องมาระแวงกัน
@ ทำไมจึงรณรงค์ ให้หยุดศาสนาสร้างความแตกแยก หรือหยุดใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ
ประเด็นมันมีอยู่ว่า มีคนบางกลุ่มพยายามใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยก เช่น “อิสลามจะมาทำลายพุทธ” หรือคำว่า “อิสลามจะมายึดประเทศของคนพุทธ” หรือแม้คำว่า “อิสลามคือคนที่สร้างความวุ่นวายให้แก่ประเทศเรา” สารพัดวาทกรรมที่เขาสร้างขึ้น การกระทำอย่างนี้ นับวันแต่จะสร้างความแตกแยกให้กับพี่น้องชาวพุทธและชาวมุสลิม ปลูกฝังความเกลียดชังให้กับสังคม ไม่มีทางที่จะเกิดความสามัคคีแก่คนในชาติ ทางเดียวที่เราจะยุติแนวคือนี้ คือ รณรงค์ให้หยุดใช้ศาสนาเป็นเครื่องสร้างความแตกแยก
ส่วนโฆษณาชวนเชื่อ คือ การใช้ศาสนารับใช้อุดมการณ์รัฐ หรือชนชั้นสูง ซึ่งหลาย ๆ ศาสนา ไม่ได้ให้คุณค่ามากนัก แต่ก็คนบางพวกที่พยายามตีความคำสอนทางศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรมและป่าวประกาศว่า “ฉันเป็นคนดี” หรือ “สิ่งที่ฉันทำมันดีที่สุดแล้ว” ประมาณนี้
@ หากแยกศาสนาออกจากรัฐ มันส่งผลดีอย่างไรต่อพุทธศาสนาในไทย อย่างไร
ความเป็นอิสระของพุทธศาสนา พระเณรและชาวพุทธ เราจะไม่ถูกกดขี่ภายใต้กฎหมายอุบาทว์ที่ชื่อว่า “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์” อีกต่อไป กลับไปใช้พระธรรมวินัยและกฎหมายปกติเหมือนประชาชนธรรมดา เปิดโอกาสให้คณะสงฆ์ได้ปกครองกันเองตามแนวทางศาสนา ไม่ต้องใช้อำนาจรัฐมาบังคับขู่เข็ญกัน ไม่ต้องรับใช้อำนาจรัฐหรือชนชั้นปกครอง มีอิสระในการประกาศศาสนา
กฏระเบียบศีลธรรมก็จะไม่มีการออกเป็นกฎหมายบังคับใช้แก่ประชาชนทุกคน เช่น การห้ามขายเหล้าในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็เพื่อความเป็นธรรมและเห็นอกเห็นเห็นใจแก่ผู้นับถือศาสนาอื่นและผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนา ทั้งยังไม่เป็นภาระแก่ชาวพุทธ คือ ไม่ต้องใช้อำนาจรัฐมาบังคับให้ทำประพฤติศีลธรรมนั่นเอง
@ หากไม่มีรัฐ คณะสงฆ์ จะไปรอดได้อย่างไร
ถ้าพูดกันตรง ๆ แล้ว คณะสงฆ์ตอนนี้ถูกรัฐอุ้มจนแทบเป็นง่อย มองไม่ออกว่าจะเดินต่อไปอย่างไรหากเราแยกศาสนาออกจากรัฐแล้ว มันเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะคณะสงฆ์ชอบพูดว่า “เมืองไทย คือ เมืองพุทธ” “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” จริง ๆ ถ้าเราพูดแบบนี้ได้ ก็ยิ่งไม่ต้องเดือดร้อนอะไรที่จะขับเคลื่อนศาสนาพุทธโดยไม่พึ่งพารัฐอีกต่อไปเลย จะแยกตัวออกมาตั้งเป็นองค์กรเอกชนก็ได้ รับบริจาคเพื่ออุปถัมภ์องค์กร คืออยู่ด้วยลำแข้งของตัวเอง เว้นเสียแต่ว่ายังอาลัยในงบประมาณ (ซึ่งไม่ใช่ทุกวัดและทุกรูปจะได้รับ) อาลัยในสมณศักดิ์ ยศตำแหน่ง อำนาจวาสนาบารมี (ซึ่งไม่ใช่ทุกวัดและทุกรูปจะมีเช่นกัน)
@ พวกเราในฐานะนักบวช เราเชื่อหรือถูกสอนจากพระผู้ใหญ่มาตลอด เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันสงฆ์ มีความเกื้อกูลต่อกัน แนวคิดนี้ของกลุ่มยังเหมือนเดิมหรือไม่
ต่อจากนี้ถ้าคณะสงฆ์ยังอยากอยู่รอดในโลกสมัยใหม่ จงเกื้อกูลประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์โดยไม่เลือกหน้าและต้องไม่เจาะจงเกื้อกูลใครเป็นพิเศษทั้งสิ้น
@ ในสังคมคณะสงฆ์ ในทัศนะของพวกท่าน มีอะไรต้องปรับปรุง แก้ไขหรือต้องยกเลิก
ยกเลิกอำนาจเผด็จการ คือ อำนาจทั้งปวงจะต้องไม่อยู่ที่เจ้าคณะปกครอง การตัดสินใจใด ๆ จะต้องไม่อยู่ที่คน ๆ เดียวอีกต่อไป ไม่อยู่ที่พระผู้ใหญ่หรือพระที่มีสมณศักดิ์ แต่จะต้องคืนอำนาจทั้งปวงกลับสู่คณะสงฆ์ ทุกอย่างต้องมาจากมติเห็นชอบจากสงฆ์ จะทำอะไร จะเคลื่อนไหวอย่างไร ต้องมีมติเห็นชอบ คณะสงฆ์ต้องรับรู้ ถึงจะเรียกว่าปกครองกันตามพระธรรมวินัย
@ บทบาทคณะสงฆ์ ที่อยากเห็น และอยากให้เป็น
ระดมสมองช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของคณะสงฆ์ อย่างทิ้งไว้ให้เรื้อรัง เราเสียเวลามามากพอแล้ว ถ้ายังอยู่กับระบบเละเทะแบบนี้ ยังเห็นแก่มี เห็นแก่ได้ เห็นแก่อำนาจวาสนาบารมีและยศถาบรรดาศักดิ์ มัวแต่อิจฉาริษยาดูถูกดูแคลนกันสักวันจะล้มไม่เป็นท่า
@ ปัจจุบันพวกท่านอยู่กันอย่างไร ท่ามกลางความกดดันทั้งจากเจ้าคณะปกครองและเจ้าหน้าที่รัฐ
ความเป็นอยู่อาจจะต้องเซฟตัวเองมากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าคนที่เราพบเจอในแต่ละวัน เขามาดีหรือมาร้าย ส่วนเจ้าคณะปกครองนั้นส่วนมากท่านไม่มีอะไรกับพวกเราอยู่แล้ว เว้นไว้แต่จะโดน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มาบงการอีกที อย่างนี้ก็ไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่ เหมือนไม่กล้าเปิดหน้าชก จึงมาใช้พระผู้ใหญ่จัดการเราอีกที
@ เมื่อเราก้าวมาสู่จุดนี้ รู้สึกอย่างไรต่อปฎิกิริยาทั้งจากคณะสงฆ์และสังคมไทย ผิดหวังไหม หรือรู้สึกโดดเดี่ยวหรือไม่ หรือคิดว่ามาถูกทางแล้ว
จากที่ได้คุยกับพระเณรหลายรูป ส่วนใหญ่ก็บ่นถึงปัญหาภายในของคณะสงฆ์ มันควรแก้ไขอย่างยิ่ง ควรปฏิรูประบบให้ดีขึ้น แต่ด้วยความที่มีอะไรบางอย่างทำให้พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะพูดไปก็ไม่รู้ว่าจะโดนไล่ออกจากวัดรึเปล่า ไม่รู้จะโดนจับสึกรึเปล่า รู้มั้ยว่าวาทกรรม “พระเณรห้ามยุ่งการเมือง” ที่ปลูกฝังกันมาอย่างยาวนาน ตามหลอกหลอนพระเณรหลาย ๆ รูป ทำให้ไม่กล้าออกความเห็นในที่สาธารณะหรือแบบโจ่งแจ้ง ล่าสุดที่เราไปทำโพลสำรวจความเห็นที่ มจร (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) พระเณรหลายรูปยังกล้า ๆ กลัว ๆ ขนาดให้แปะสติ๊กเกอร์เฉย ๆ เพราะท่านกลัวนั่นเอง ส่วนฝั่งโยมที่หัวสมัยใหม่หน่อย เจนY เจนZ ก็สนับสนุนเต็มที่ว่าคณะสงฆ์ก็ควรปรับปรุงตัวเองได้แล้ว มีเพียงส่วนน้อยที่ยังติดในวาทกรรม “พระห้ามยุ่งการเมือง” จึงออกมาคัดค้านบ่อย ๆ นั่นเอง
@ ช่วงนี้ที่เงียบหายไป เพราะอะไร หยุดอยู่แค่นี้ หรือจะเดินหน้าต่อไป เพราะดูเหมือนไร้การตอบสนองจากสังคมยุวสงฆ์ทั้ง มจร และ มมร (มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย)
การปฏิรูปพึ่งจะเริ่มขึ้น เมื่อเทียบการเรียกร้องประชาธิปไตยของคณะราษฎร ปี 2563 แล้ว เหล่ายุวสงฆ์ยังห่างไกลมาก เพราะหลายปีที่ผ่านมาเราแทบไม่มีคนปลุกกระแสเพื่อความเปลี่ยนแปลงเลย ซึ่งเราเข้าใจว่า อำนาจกดทับ ทำให้พระเณรไม่กล้าพูดอะไรมาก ทุกอย่างเหมือนเริ่มต้นใหม่ หนทางยังอีกยาวไกล การต่อสู้คงไม่สำเร็จในวันนี้พรุ่งนี้ แต่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาสุขงอมของอุดมการณ์แล้ว พระเณรจะตื่นตัวเยอะกว่านี้แน่นอน ขบวนการเคลื่อนไหวจึงจะเข้มข้นขึ้น
@ อนาคตวางเป้าหมายของตนเองไว้อย่างไรบ้าง
ถ้าเป้าหมายของคณะปฏิสังขรณ์ฯ เอาพ.ร.บ.สงฆ์ให้ผ่านพ้นไปก่อน ก็ถือว่าสำเร็จอีกขั้น ส่วนรัฐโลกวิสัยอาจต้องเสนอต่อไปยาว ๆ เพราะเราเชื่อว่าถ้าปลูกฝังแนวคิดรัฐโลกวิสัยตั้งแต่ตอนนี้ให้กับสังคม ในวันข้างหน้าต้องสำเร็จแน่นอน
@ มีอะไรอยากจะฝากถึงสังคมสงฆ์และประชาชนคนไทยบ้าง
ฝากประเด็นเดียว คือ “ความยุติธรรม คือ สิ่งเดียวที่จะทำให้สังคมสงบสุข”
ทั้งหมดคือคำถามและคำตอบระหว่างผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ในฐานะแกนนำคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ มีหลายคำที่ถูกตัดออกและหลายคำถามที่ผู้สัมภาษณ์เลือกที่จะไม่ตอบ ซึ่งข้อความที่ปรากฎอยู่ในบทสัมภาษณ์ทั้งหมด หวังเป็นอย่างยิ่งกว่าสังคมไทยจะเข้าใจจุดยืนของกลุ่มยุวสงฆ์กลุ่มหนึ่งที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมบนฐานแห่งความรับผิดชอบ ซึ่งไม่มีใครผิดและใครถูก หากพวกเราเคารพซึ่งกันและกันในฐานะพุทธบริษัทและพลเมืองของประเทศนี้…
—————————
Leave a Reply