“เพชรวรรต” ฟาดมติ มส. ห้ามพระเป็น “ที่ปรึกษากรรมาธิการฯ” อัปยศเหมือน  “แยกพระออกจากชาวบ้าน”  เสียมากกว่าได้??

วันที่ 12 พ.ค. 65  หลังจากมหาเถรสมาคมมีมติห้าม พระภิกษุไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง  โดยมีรายละเอียดมติดังกล่าวว่า

1.กรณีพระภิกษุไปเป็นกรรมาธิการ,อนุกรรมาธิการ,ที่ปรึกษากรรมาธิการ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของบ้านเมือง ซึ่งดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มอบให้ประธานฝ่ายปกครองที่ มหาเถรสมาคมแต่งตั้งไปพิจารณาเพื่อกำหนดแนวทาง วิธีการหรือวิธีการที่ชัดเจนตำหนิโทษหรือป้องปรามเป็นลายลักษณ์อักษร

2.กรณีที่หน่อยงานราชการที่ขอให้กรรมการมหาเถรสมาคมหรือพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการผู้ทรงวุฒิให้เสนอผ่านมหาเถรสมาคมเป็นผู้พิจารณา

3.กรณีรัฐสภาขอให้มหาเถรสมาคมเป็นกรรมาธิการ, อนุกรรมาธิการหรือที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการมอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้แทนมหาเถรสมาคมและเมื่อดำเนินการในนามมหาเถรสมาคมเรียบร้อยแล้ว ให้รายงานมหาเถรสมาคมทราบ

4.กรณีรัฐสภาขอพระภิกษุรายรูปติดต่อพระภิกษุโดยตรง ให้ปฎิบัติภารกิจฝ่ายการเมือง ให้พระภิกษุรูปนั่นแจ้งผู้บังคับบัญชาผู้ใกล้ชิดทราบและให้ผู้บังคับบัญชารายงานตามลำดับชั้น จนถึงมหาเถรสมาคมเป็นผู้พิจารณา

หลังจากเว็บไซต์ข่าว “Thebuddh” ได้เสนอเผยแพร่มติมหาเถรสมาคมดังกล่าว ออกไป มีคนวิพากษ์วิจารณ์ “มหาเถรสมาคม” อย่างกว้างขวาง เนื่องจากพระภิกษุที่เข้าไปร่วมเป็นกรรมาธิการในรัฐสภา ถือว่าเป็น ตัวแทนของคณะสงฆ์ เป็นปากเป็นเสียงในการที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ รวมทั้ง หากมีผู้เสนอกฎหมายที่ไม่เป็นคุณกับพระพุทธศาสนาหรือคณะสงฆ์พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้คือตัวแทนที่ดีได้สำหรับกิจการพระพุทธศาสนา

และล่าสุดวันนี้ พระเมธีธรรมาจารย์ (เจ้าคุณประสาร) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และ พระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณ (พระครูปลัดธีรวิทย์) รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นพระภิกษุที่ได้รับนิมนต์จากคณะอนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ได้ออกแถลงการณ์ ลาออกจากอนุกรรมาธิการและที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น  ในกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร

ในขณะที่ นายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล รองประธานคณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยเรื่องนี้ว่า มตินี้ถือเหมือนแยกพระออกจากชาวบ้าน เป็นมติอัปยศมาก  ในคณะกรรมาธิการศาสนา มีตัวแทนทั้งศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม การที่มหาเถรสมาคมมีมติแบบนี้ ทำให้กิจการพระพุทธศาสนาไปสู่เป้าหมายไม่ได้ ที่คณะกรรมาธิการเราไม่เคยคุยเรื่องการเมือง เรามุ่งแก้ปัญหาคณะสงฆ์ ทำอย่างไรให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยยั่งยืนและมั่นคง ทำอย่างไรพระพุทธศาสนาในบ้านเรานำหลัก “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียนนำมาเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศชาติได้อย่างเต็มที่ การที่มหาเถรสมาคมมีมติแบบนี้เหมือนทำลายคณะสงฆ์เอง พระที่มาเป็นที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการตลอด 3 ปีที่ผ่านมาช่วยเราเต็มที่ได้เยอะด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง วัดอยู่ในป่าเป็นหมื่นวัดเราก็ทำให้ถูกต้อง สำนักสงฆ์ ที่พักสงฆ์เข้าไปอยู่ในป่าไม้ของรัฐ เราก็พยายามแก้ให้ บางวัดตั้งอยู่ในที่ดินของรัฐหลายสิบปีเราก็ไปทำให้มันถูกต้อง  เรื่อง พ.ร.บ.พระปริยัติธรรม เราก็ตามแก้ปัญหาให้ แม้กระทั้งพุทธมณฑลจังหวัด พวกเราคณะกรรมาธิการศาสนาก็ได้พระคุณเจ้าเหล่านี้เป็นที่ปรึกษาเป็นที่พึ่ง คอยประสาน คอยให้คำแนะนำ เรื่องแบบนี้ฆราวาสไม่รู้เรื่อง

   “ในฐานะชาวพุทธเสียดายและเสียความรู้สึกมาก ที่มหาเถรสมาคมมีมติออกมาแบบนี้ ทำเหมือนแยกพระออกจากชาวบ้าน ศาสนาอื่นมีแต่เขาอยากเข้ามาเป็น แต่นี่มหาเถรสมาคมของเรา กลับคัดคนของตัวเองออกไป เมื่อวานนี้มีตัวแทนบุคลากรของโรงเรียนพระปริยัติธรรมมาร่วมประชุมหลายร้อยรูป/คน เราก็ได้พระที่เป็นอนุกรรมาธิการเหล่านี้แหละช่วยประสาน ช่วยพูดคุย ไม่เข้าใจว่ามหาเถรสมาคมไทยคิดอะไรอยู่ ไม่ต้องกลัวว่าพระคุณเจ้าเรานี้จะมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ที่คณะกรรมาธิการมีหลายพรรค เราไม่คุยกันเมือง มีแต่การพระศาสนา บางเรื่องเราไม่รู้ก็มีพระคุณเจ้าเหล่านี้ให้คำปรึกษาเรา ปัญหาคณะสงฆ์ฆราวาสแบบเราจะไปรู้ทุกเรื่องได้อย่างไร ที่ผ่านบางเรื่องมีคนร้องเรียนหรือคนเสนอมา เราก็ต้องถามพระคุณเจ้าเหล่านี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเชื่อทุกเรื่อง หากปัญหามันหนัก เราก็ต้องเข้าไปหากรรมการมหาเถรสมาคมเพื่อรับฟังความเห็นมาต่อเนื่อง แต่ไม่ได้เป็นข่าวเท่านั้นเอง เสียดายมากที่มหาเถรสมาคมออกมติมาแบบนี้ ผมถือว่ามติมหาเถรสมาคมครั้งนี้มีผลเสียต่อความก้าวหน้า ความเจริญ และความมั่นคงกิจการพระพุทธศาสนาในบ้านเรา มากกว่าได้..”  นายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply