29 ก.ย.นี้! พบเสวนาธรรม “พระพุทธศาสนากับความยั่งยืน” งาน SX 2022 “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” ศูนย์สิริกิติ์

เมื่อวันอังคารที่ 27 กันยายน 2565 นายนนท์ศักดิ์ ลาดำ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานด้านศาสนา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และเจ้าหน้าที่ประจำบูธ “ศาสนาและความยั่งยืน” โซน “SEP Inspiration” ชั้น G ในงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 มหกรรมความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ในแนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) สร้างสมดุลที่ดีเพื่อโลกที่ดีกว่า จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2565 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า จุดประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ คณะผู้จัดงานต้องการให้ผู้คนในสังคมเกิดความรู้ความเข้าใจว่า หลักคำสอนของแต่ละศาสนามีความสำคัญต่อการสร้างสังคมสู่ความยั่งยืนไม่แพ้ความเจริญหรือการพัฒนาทางเทคโนโลยี เพราะหากสังคมเจริญเพียงทางวัตถุ แต่ผู้คนขาดการกล่อมเกลาทางจิตใจ สังคมนั้นๆ ย่อมไม่มีความน่าอยู่ และไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างแท้จริง

“การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต้องเดินควบคู่ไปกับหลักศาสนา ภายในบูธนี้จะนำความคิดเห็นของพระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) พระอาจารย์ที่มีความสนใจในการนำหลักของศาสนามานำเสนอว่า เราสามารถใช้พุทธศาสนา รวมถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เป็นพื้นฐานของพุทธศาสนามาพัฒนาโลกได้อย่างไรบ้าง”

เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานด้านศาสนา กล่าวต่อว่า งานนี้ไม่ได้มีเพียงหลักคำสอนของพุทธศาสนา แต่ยังชูให้เห็นว่าหลักของศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยคนที่นับถือศาสนาแตกต่างกันก็สามารถเรียนรู้หลักคำสอนของศาสนาอื่น และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ดังเช่นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่นครรัฐวาติกัน สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือ โป๊ปฟรานซิส เพื่อเจริญศาสนสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรคาทอลิกกับวัดโพธิ์ที่มีมายาวนานถึง 50 ปี พร้อมนำพระคัมภีร์ของพุทธศาสนาที่แปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ มอบแด่โป๊ปในการศึกษาเรียนรู้ด้วย

“ทุกศาสนาล้วนสอนให้ทุกคนเป็นคนดี มีความพอเพียง ทุกศาสนาสอนให้คนเรามีความเมตตา และมีความรักต่อกัน ผมเชื่อว่าทุกคนที่มาเยี่ยมชมบูธนี้จะกลับไปพร้อมความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อความยั่งยืน ว่า สามารถพัฒนาไปโดยไม่ทิ้งรากของแต่ละศาสนาในสังคม” นายนนท์ศักดิ์ กล่าวและว่า

ทั้งนี้วันที่ 29 กันยายน เวลา 13.00-14.00 น. มีกิจกรรมเสวนา “พระพุทธศาสนากับความยั่งยืน” โดย สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร จากนั้น เวลา 14.00-15.30 น. มี panel discussion “ศาสนากับความยั่งยืนของชุมชน” โดย พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และกรรมการมหาเถรสมาคม มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวง โรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย อุปนายกสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ ฮัจยี อุมัร กาญจนกูล (วาสุเทพ กาญจนกูล) ผู้แทนชุมชนมุสลิมย่านกะดีจีน-คลองสาน ดำเนินรายการโดย นายสุรพล เศวตเศรนี ที่ปรึกษาคณะกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชนและประธานจัดงาน Water & River Festival

และว่าเวลา 15.30-17.00 น. ด้วยการสนทนาเรื่อง “Sustaining Sustainability: How and Who?” ดำเนินรายการเป็นภาษาอังกฤษ โดยมี พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) อธิการบดีกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก Ms.Gita Sabharwal จาก United Nations Resident Coordinator in Thailand และ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมสนทนา ดำเนินรายการโดย ดร.ศุลีพร บุญบงการ จูภาวัง ผู้อำนวยการสำนักวิเทศสัมพันธ์ มูลนิธิชัยพัฒนา

ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย บนพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตรของศูนย์สิริกิติ์ ทั้งนิทรรศการ 7 โซนหลัก เวทีเสวนาตลอด 7 วัน เวิร์กช็อป ฯลฯ ผู้สนใจสามารถเดินทางมาร่วมงานได้ทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถยนต์ส่วนตัว โดยมีที่จอดรถรองรับกว่า 3,000 คัน หรือเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใช้ทางออกที่ 3 มีทางเชื่อมเข้าศูนย์สิริกิติ์ได้เลย รวมทั้งเดินทางได้ด้วยรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีนานา ซึ่งจะมีรถรับส่งระหว่างสถานีนานา-ศูนย์สิริกิติ์

ติดตามรายละเอียดงาน SX 2022 ได้ทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/SX.SustainabilityExpo/ และเว็บไซต์ https://sustainabilityexpo.com

Leave a Reply