ปลัดมท. ปิดการอบรมหลักสูตร Change for Good  ปลุกพลังคนรุ่นใหม่เผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เพื่อเป็น “ทางรอด” ให้กับสังคมอย่างยั่งยืน

วันที่ 28 เม.ย. 65  เวลา 16:00 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ : คณะทำงาน Change for Good ของกระทรวงมหาดไทย หลักสูตรผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รุ่นที่ 2 ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นางสาวอรอุมา วรแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมรับฟัง โดยถ่ายทอดผ่านระบบ Zoom Meeting ไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก โดยมี รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญธรรม ถาวรทัศนกิจ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ นางสาวเยาวมาลย์ เศรษฐา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก คณะทำงาน Change for Good ของกระทรวงมหาดไทย รุ่นที่ 2 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย  กล่าวว่า คณะทำงาน Change for Good รุ่นที่ 2 ของกระทรวงมหาดไทย คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็น “ความหวัง” ของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนคณาจารย์และวิทยากรทุกท่าน ในการคิดสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนและสังคมไทย โดยไม่มีบริบทของความเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดส่วนราชการและหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ด้วยการก้าวข้ามกรอบความคิดเดิม ๆ ที่ได้แต่ทำงานตามสั่ง ทำงานตามอำนาจหน้าที่ ทำงานตามเวลาราชการ และมุ่งมั่นใช้ “ใจ” ที่มีความมุ่งหวัง (Passion) ที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับประเทศชาติและประชาชน โดยใช้ประสบการณ์ที่พวกเราทุกคนได้สั่งสมตั้งแต่เรียนในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ประสบการณ์จากการได้พบปะ พบเจอผู้คนที่หลากหลาย ทักษะความรู้จากการอ่านหนังสือ ดูคลิป หรือฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ มาเป็นฐานความรู้ เติมเต็มด้วยความคิดสร้างสรรค์ และทัศนคติ (Attitude) ที่ดี พร้อมทั้งจับมือร่วมกันเพื่อน ๆ ทีม Change for Good หรือเพื่อนข้าราชการ พนักงาน ที่มีความคิดเห็น หรือมีความชอบที่จะทำสิ่งดี ๆ เหมือนกัน ตั้งกลุ่มพบปะพูดคุย และนำเสนอผู้บริหารเพื่อพิจารณาทำสิ่งที่พวกเราได้ช่วยกันคิดริเริ่ม ซึ่งมีนัยว่า ต้องไม่ยึดติดกับคำสั่งของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าเรา แต่เราต้องเสนอสิ่งดี ๆ ให้ผู้มีอำนาจทำตามเรา สอดคล้องกับสุภาษิตที่ว่า “คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย คนเดียวทำอะไรก็อาจเป็นอันตรายได้ ถ้ามีเพื่อนร่วมคิดร่วมปรึกษาก็จะดีขึ้น”

     “กระทรวงมหาดไทย ปรารถนาที่จะเห็นคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิด กล้าเสนอแนะ สิ่งที่ดี ที่สร้างสรรค์ หรือ “ไอเดีย” ที่นำไปสู่ความสำเร็จในการก่อเกิดงานที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนและสังคมไทย แม้ว่างานนั้นจะเป็นงานของเพื่อนร่วมงานท่านอื่น แต่เมื่อเราได้ช่วยกันด้วยการถกแถลงกันด้วยเหตุผล โน้มน้าวเพื่อนร่วมงานให้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำตามข้อเสนอจนงานประสบความสำเร็จ เพื่อนร่วมงานก็จะมีแต่คำว่า “ขอบคุณ” และเขาจะมีความเชื่อมั่นศรัทธา พร้อมเป็นทีมงานในการช่วยกันสร้างสิ่งที่ดี Change for Good ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำในช่วงต้น

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย  กล่าวต่อว่า ในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หรือสิ่งที่ดีนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่คณะทำงาน Change for Good ต้องพึงระลึกและย้ำเตือนตนเองอยู่เสมอ นั่นคือ “ความอดทน” ดังสุภาษิตจีนที่ว่า 忍字心头一把刀 (เหยิ่นจื้อซินโถวอิ๊ป่าตาว) แปลว่า “ตัวหนังสืออดทนนั้น มีคมมีดวางอยู่บนหัวใจ” ประกอบด้วย ภาพ 2 ภาพ คือ ภาพรูปหัวใจมีมีดป่าตาว เป็นการสื่อสารให้เราเห็นว่า “คมมีดวางไว้บนหัวใจ ถ้าไม่นิ่งคมมีดก็จะบาดหัวใจทันที” อันหมายความรวมถึงการอดทนต่อภาวะที่ต้องใช้ความอดทนในการขับเคลื่อนการทำงาน เช่น ถูกนินทา ถูกต่อว่า ถูกตำหนิ หรือถูกแก้งานแล้วแก้อีก หรือสำนวน Rome wasn’t buit in one day. (กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว) อันความหมายว่า “งานหรือบางสิ่งบางอย่างที่ยากและซับซ้อนจำเป็นต้องใช้เวลาใช้ความอดทน” ควบคู่กับความรักสามัคคี เพื่อยังผลให้เราสามารถทำงานที่ใหญ่หรือทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ด้วยการช่วยกันระดมความคิดที่ต้องมีความอดทน ซึ่งตลอดระยะเวลาการฝึกอบรมได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ทีม Change for Good รุ่น 2 ของกระทรวงมหาดไทย มีคุณสมบัติเหล่านั้น จึงขอให้ได้ใช้ความอดทนควบคู่ความรู้ความสามารถและการร่วมไม้ร่วมมือในการช่วยเหลือกันที่มีอยู่ในตัวพวกเราทุกคน ทำให้ความตั้งใจสร้างสรรค์สิ่งที่ดีของพวกเราเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้ได้

โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวถึง การเรียนรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ คณะทำงาน Change for Good ได้เรียนรู้ ทั้งเรื่องของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ซึ่งทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว เป็นแนวพระราชดำริที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชปณิธานด้วยความมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อจะยังผลทำให้ประเทศชาติของพวกเราอยู่รอดและมีความเจริญ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราทุกคนจะได้น้อมนำแนวพระราชดำริและพระบรมราชปณิธานดังกล่าว มาทำความเข้าใจด้วยการมุ่งมั่นศึกษาให้ถ่องแท้ แล้วนำไปขยายผลให้กับครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนสมาชิกในองค์กร และพี่น้องประชาชน เพื่อยังประโยชน์อันมหาศาล สร้างความอยู่รอดให้กับมวลมนุษยชาติ ดังเช่น อาจารย์ปัญญา ปุลิเวคินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ผู้พิสูจน์ศาสตร์พระราชาด้วยการลงมือสร้างพื้นที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จังหวัดนครนายก จากพื้นที่เสื่อมโทรมปลูกอะไรไม่ขึ้นสู่ต้นแบบการจัดการพื้นที่ ดิน น้ำ ป่า ตามศาสตร์พระราชา โดยนำความรู้ที่ศึกษามาตลอด 10 ปี มาปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จที่ “เห็นตำตา” และยังคงมุ่งมั่นถ่ายทอดความรู้สู่ศิษย์ด้วยเป้าหมายที่จะเผยแพร่ศาสตร์พระราชาให้มากที่สุดตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ รวมไปถึงตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นที่ประจักษ์ คือ นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ อดีตนายอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาฯ ด้วยการนำทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา มาพลิกพื้นที่ธรรมชาติที่ถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เป็นภูเขาหัวโล้นเต็มไปด้วยสารเคมี หน้าแล้งมีแต่หมอกควัน หน้าฝนมีแต่โดนน้ำชะล้างดินพังทลาย จัดทำเป็นวาระแก้ปัญหาป่าไม้ และวาระการงดใช้สารเคมีทำการเกษตร เน้นทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรผสมผสานแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และร่วมกันกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดำเนินการฟื้นป่า “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” จัดทำฝายชะลอน้ำตามร่องน้ำภูเขาทุกหมู่บ้าน จนทำให้อำเภอแม่แจ่มในปัจจุบันกลับกลายมามีชีวิตชีวา พื้นที่ภูเขาเต็มไปด้วยทุ่งข้าวโพด มีสีเขียวในหน้าฝน เป็นสีน้ำตาลหน้าแล้งและหน้าหนาว แวดล้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นการยืนยันว่าถ้าภาครัฐสนับสนุนสิ่งที่ดี และพี่น้องประชาชนร่วมลงมือทำ จะทำให้เกิดการ Change for Good ทั้งสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งมีความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่ง

   “ขอชื่นชมยินดีที่พวกเราได้มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่ดี ที่เป็นความคาดหวังของผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย รวมถึงคณาจารย์ วิทยากร ที่ได้สละเวลาไปพูดคุย แลกเปลี่ยน แนะนำ ร่วมกับพวกเรา ซึ่งความคาดหวังเหล่านั้นจะสำเร็จเป็นมรรคผลมีสิ่งที่ดีที่เป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น ขึ้นอยู่ที่พวกเรา “ทีม Change for Good รุ่นที่ 2 ของกระทรวงมหาดไทยทุกคน” ที่จะต้องช่วยกันทำให้เกิดสิ่งที่ดี ที่เป็นรูปธรรม ด้วยการรวมกลุ่มคิด ทำ ในสิ่งที่ดีต่าง ๆ ไม่เฉพาะเรื่องของทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา หรือเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) แต่หมายถึงทุกเรื่องที่เกี่ยวพันมีผลกระทบต่อส่วนรวม จนทำให้เกิดความยั่งยืน และอย่าลืมว่า “สุขใดจะยิ่งไปกว่าสุขที่เราจะทำให้เกิดสิ่งที่ดีกับคนอื่น” และผู้บริหาร รวมถึงคณาจารย์จะคอยเป็นกำลังใจและติดตามความสำเร็จของการขับเคลื่อนสิ่งที่ดีในการ Change for Good ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยด้วยพลังความคิดและมือสองมือของพวกเราทุกคนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply