ปลัดมหาดไทยลงพื้นที่อำเภอเชียงดาว ชื่นชม “โคก หนอง นา สวนบัวชมพู ณ จอมคีรี” เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวพระราชดำริ พร้อมเน้นย้ำจังหวัดเชียงใหม่ เร่งขยายผล บูรณาการทุกภาคีเครือข่าย เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนทุกพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่สวนบัวชมพู ณ จอมคีรี หมู่ที่ 3 ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา “สวนบัวชมพู โคก หนอง นา” โดยมี นางศรัณยา กิตติคุณไพศาล เจ้าของแปลง และคณะ ให้การต้อนรับและนำชม โอกาสนี้ นายอาทร พิมชะนก ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายประยุกต์ สุดธัญญรัตน์ พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ นายสงัด บูรณภัทรโชติ นายอำเภอเชียงดาว พันตำรวจเอก เสกสรรค์ ขันคำ นันต๊ะ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเชียงดาว พันเอก ภาคภูมิ อินดี รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจไชยานุภาพ นางสาวพิริยา ตันวัชรพันธ์ พัฒนาการอำเภอเชียงดาว นายนที ดำรงค์ นายกเทศมนตรีตำบลสันทรายหลวง นายสุภพ กันธิมา ปลัดเทศบาลตำบลแม่นะ ผู้แทนส่วนราชการ นายธัญญา กุลีแก้ว กำนันตำบลแม่นะ นายเดชา มณีวรรณ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 และผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ร่วมลงพื้นที่ด้วย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจ และติดตามความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของคุณแหม่ม หรือคุณศรัณยา กิตติคุณไพศาล เจ้าของแปลง “สวนบัวชมพู โคก หนอง นา” ภาคีเครือข่ายที่พวกเราชาวมหาดไทยภาคภูมิใจในการส่งเสริมการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สะท้อนผ่านพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ดังพระบรมราชโองการ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันพัฒนาจนบังเกิดผลเป็นรูปธรรม
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงออกอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า เรื่องสำคัญที่สุดที่ทรงอยากเห็น คือ พี่น้องคนไทยมีความสุข ประเทศชาติมีความมั่นคง ผ่านโครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง และได้ทรงพระราชทานพระราชวินิจฉัยเพิ่มเติมและทรงอรรถาธิบายให้เราเข้าใจว่า “หากเราได้มุ่งมั่นตั้งใจในการทำโคก หนอง นา เราจะได้ทั้งพื้นที่ที่สวยงาม อุดมสมบูรณ์ ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะ โคก หนอง นา ไม่ได้ทำเพียงเพราะมีอาหารกิน หรือสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างเดียว ยังทำให้สุขภาพจิตดี สุขภาพกายดี เพราะการปรับปรุงพื้นที่มีความเป็นศิลปะ มีความสวยงาม เช่น คลองไส้ไก่เลี้ยวลดคดเคี้ยวไปมา มีความอ่อนช้อย หนองน้ำรูปแบบฟรีฟอร์มไม่ใช่ขุดแบบเป็นลิ่มสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ธรรมดา ทำล้อเลียนธรรมชาติ เว้า ๆ แหว่ง ๆ มีตะพัก ไม่ชันเหมือนบ่อน้ำ ซึ่งจะทำให้เรามีพื้นที่ที่สวยงาม มีความสุข ในครอบครัวที่อบอุ่น เราเรียกว่าพื้นที่นี้ว่า “อารยเกษตร” ที่ทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเอง และขณะเดียวกันสามารถช่วยเยียวยาประเทศชาติและโลกของเราให้อยู่อย่างยืนยาว ด้วยการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดังเช่นที่คุณแหม่ม ได้ช่วยให้โลกใบนี้ใช้สารเคมีน้อยลงและเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นมรดกอันล้ำค่าที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้กับพวกเราคนไทยทุกคนในหลายโอกาส คือ พระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ดังใจความตอนหนึ่งว่า “เพราะน้ำคือชีวิต ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ แต่คนขาดไฟฟ้าได้ ขาดน้ำมันได้ เครื่องจักรได้ ไม่ตาย แต่ถ้าขาดน้ำตาย” โดยสิ่งที่สำคัญที่พระองค์ได้ย้ำเตือนพวกเราไว้ คือ ทำอย่างไรเวลาหน้าฝนเราสามารถกักเก็บน้ำที่ตกจากฟ้าให้อยู่เพื่อเอาไว้ใช้ได้ ซึ่งถ้าเราสามารถกักเก็บได้ ด้วยการทำหลุมขนมครกหรือที่อยู่น้ำเพิ่มมากขึ้นในทุกจุด ก็จะทำให้ลดปริมาณน้ำหรือบรรเทามวลน้ำที่จะไหลลงไปท่วมในตัวเมืองหรือลงไปที่ลุ่ม และยังเกิดประโยชน์ 2 ต่อ คือ ป้องกันน้ำท่วมในหน้าฝน ป้องกันน้ำแล้งในหน้าแล้ง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า พื้นที่ 7.25 ไร่บริเวณสวนบัวชมพู ณ จอมคีรีแห่งนี้ ได้สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการปรับปรุงพื้นที่ รักสิ่งแวดล้อม ปลูกพืชผสมผสาน มีการห่มดิน เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และส่วนที่เป็นนามธรรมก็สำเร็จ เพราะสวนบัวชมพูแห่งนี้เป็นพื้นที่ต้นแบบที่เปิดให้ลูกหลานได้มาเรียนรู้การพึ่งพาตนเองโดยไม่เบียดบังธรรมชาติหรือ “กสิกรรมธรรมชาติ” ซึ่งนอกจากเด็ก ๆ ได้มาเรียนรู้ในพื้นที่นาแล้ว ยังได้นำผลผลิตกลับไปกินกับพ่อแม่ เรียกได้ว่า พื้นที่แห่งการให้ทั้งความรู้ ความเข้าใจ และทำให้เด็กมีทักษะติดตัวไปด้วย และประการสำคัญ คือ เด็กได้เห็นว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน ทั้งนี้ ความสำเร็จเหล่านี้เป็นเพียง “เบื้องต้น” แต่จะทำให้สำเร็จในวงกว้างเกิดเป็นความยั่งยืนได้ จะต้องขยายผลสร้างพื้นที่ต้นแบบเช่นนี้ให้ผลิดอกออกผลเพิ่มมากขึ้น คือ คนในพื้นที่ใกล้เคียง อย่างน้อยหมู่บ้าน/ตำบลเดียวกัน หมู่บ้านใกล้เคียง ได้เกิดแรงบันดาลใจและอยากทำตามด้วย
“คุณแหม่ม ศรัณยา กิตติคุณไพศาล เป็นผู้นำรุ่นแรกที่เข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน ตั้งแต่ปี 2563 ผ่านการอบรมหลักสูตรพื้นฐานการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงและหลักสูตรการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง และนำกลับมาทำจริงจนเกิดผลสำเร็จ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของภาคประชาชน ซึ่งทุกหน่วยงาน ควรจะเข้ามาร่วมเรียนรู้และศึกษาการสร้างตัวอย่างความสำเร็จในรายครัวเรือน โดยเฉพาะท่านนายอำเภอ ท้องที่และท้องถิ่น ต้องช่วยกันต่อยอดขยายผลออกไปสู่ครัวเรือนยากจนต่าง ๆ และหนุนเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน ภายใต้ความเหมาะสมของภูมิสังคมพื้นที่ และขยายผลไปยังพื้นที่ โคก หนอง นา ในจุดอื่น ๆ โดยจังหวัดเชียงใหม่ต้องบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ลงมาหนุนเสริม ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านนายอำเภอต่าง ๆ ต้องลงไปเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ ถอดบทเรียน รวมกลุ่ม และขยายผลพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ และเข้าไปช่วยหาสาเหตุ ถอดบทเรียน และเร่งระดมสรรพกำลังลงไปช่วยกันแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่ยังประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ขอให้จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลของการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเป็นตัวอย่างให้จังหวัดต่าง ๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อได้ ทั้งการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนฯ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน การน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า การพัฒนาลำคลอง และงานอื่น ๆ ให้เป็นระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อจะได้ติดตามความคืบหน้าของงานได้ทุกโครงการ/กิจกรรม สามารถเห็นภาพรวมปัญหาทุกเรื่องทั้งจังหวัดได้ทันที ซึ่งสาเหตุที่ขอให้จังหวัดเชียงใหม่ทำเป็นต้นแบบ เพราะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีตัวอย่างความสำเร็จในการทำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อบริหารจัดการพื้นที่อยู่ที่ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อจังหวัดได้ขยายผลความสำเร็จนี้นำมาใช้เป็นตัวอย่างให้แก่จังหวัดอื่น ๆ ก็จะเกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อประเทศและประชาชน และท้ายที่สุด ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และท่านนายอำเภอ ได้บูรณาการงานกับ 7 ภาคีให้ร่วมกันขับเคลื่อน โดยเฉพาะภาคีภาควิชาการ ศาสนา และประชาชน ตามหลักการทรงงาน “บวร บรม ครบ” เพราะจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรวมพลังกันสร้างรูปธรรมความสำเร็จในระดับพื้นที่ผ่านกลไกจิตอาสาพัฒนา เอามื้อสามัคคี ในพื้นที่ ช่วยกันแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้านต่าง ๆ เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า การน้อมนำทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ต้องสร้างความรับรู้เข้าใจประชาชนว่า จะทำให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนต้องมีผักสวนครัวอย่างน้อย 20 ชนิด เพื่อให้มีความหลากหลาย และมีกินตลอดทั้งปี เพราะผักจะออกผลไม่พร้อมกัน และสามารถทำได้หลายเมนู ซึ่งสวนบัวชมพู เป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญที่ผู้ร่วมสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ในการช่วยเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ โดยมี “นายอำเภอ” เป็นผู้นำการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งการบูรณาการ มีนัยสำคัญ 2 นัย คือ 1) บูรณาการ “คน” ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ซึ่งเรื่องใหญ่ คือ ต้องทำให้ทีมทางการ ทั้งทีมข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบล และทีมคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้มีความเข้มแข็ง กลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนเฉกเช่นในอดีต และต้องเชิญชวนจิตอาสาทั้ง 7 ภาคีมาเป็นทีมที่เป็นทีมจิตอาสาในระดับหมู่บ้าน จัดตั้ง “ป๊อก” หรือ “หมวด” ซึ่งมีลักษณะโครงสร้างรวมบ้านเรือนหมู่เดียวกัน ใกล้เคียงกัน ช่วยกันดูแล และทำให้แต่ละหมวดเข้มแข็ง ซึ่งการพัฒนาทุกอย่างต้องเริ่มที่คนก่อน คนต้องเข้มแข็ง เพื่อเปลี่ยนแปลง แก้ไขในสิ่งผิด ทำสิ่งที่ดี เพื่อ Change for Good ให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ด้าน นางศรัณยา กิตติคุณไพศาล กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการดำเนินงาน “โคก หนอง นา โมเดล” คือเมื่อปี พ.ศ. 2556 มีโอกาสได้เข้าอบรม ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ได้เรียนรู้ และรู้จักคำว่า ศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียง บันได 9 ขั้น และ โคก หนอง นา โมเดล หลังจากผ่านการอบรมแล้ว ได้นำองค์ความรู้มาปรับใช้ในการทำเกษตร โดยเน้นการจัดการที่ดิน วางแผนทำเกษตรอินทรีย์ และวางแผนปลูกพืชหลากหลาย โดยแบ่งพื้นที่เป็นหลายส่วน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2561 ปัญหาเรื่องน้ำเริ่มเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ในปีนั้นชาวนายังสามารถทำนาได้ ต่อมาปี พ.ศ. 2562 ปัญหาเรื่องน้ำวิกฤตมากขึ้น ชาวนาทำนาช้า และได้ทำนา ประมาณ 30% ของพื้นที่เพราะมีน้ำไม่เพียงพอ ส่วนแปลงนาของสวนบัวชมพู สามารถทำนาได้เพียงร้อยละ 15 ของพื้นที่เท่านั้น และล่าสุดปี พ.ศ. 2563 ได้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ ภายใต้โครงการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา โมเดล” ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง จึงได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับมาแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำ และพัฒนาพื้นที่สวนบัวชมพู ณ จอมคีรี แห่งนี้ ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และพื้นที่แห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยผู้สนใจศึกษาเรียนรู้ สามารถติดต่อทางหมายเลขโทรศัพท์ 0899463565 หรือ 0650944169 หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ สวนบัวชมพู ณ จอมคีรี เกษตรอินทรีย์
Leave a Reply