สัมภาษณ์พิเศษ :พระเทพวัชรสารบัณฑิต “ทิศทางการพัฒนา มจร ท่ามกลางวิกฤติคณะสงฆ์”

ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาของประชาชนที่มีต่อคณะสงฆ์ ผู้คนจำนวนมากพุ่งเป้ามองไปที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ “มจร” ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่เปรียบเสมือนโรงเรียนนายร้อย จปร. ของทหาร ที่เป็นแหล่งผลิตบุคลากร “ฝ่ายมั่นคง” ให้กับประเทศ หรือ “วปอ.” สถาบันที่หล่อหลอมความรู้สึก “เป็นอันหนึ่งอันเดียว” ของคนในชาติ  “มจร” เฉกเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นสถาบันที่ผลิต “ศาสนทายาท” สำคัญของฝ่ายศาสนจักร เพื่อออกไปขับเคลื่อนกิจการพระศาสนา  รวมทั้งการสนองกิจการคณะสงฆ์ทั้ง 6 ด้าน เพื่อตอบโจทย์สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเนื่องด้วยระหว่างวันที่ 7-8 ธันวาคม 2567 ที่จะถึงนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะมีงานประสาทปริญญาประจำปี 2567

ทีมข่าว “Thebuddh” จึงได้ติดต่อ พระเทพวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร”รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะ ฝ่ายเลขานุการที่จะต้องวางแผน กำกับ ติดตามผลดำเนินงานงานพิธีประสาทปริญญาประจำปีนี้ เพื่อขอรายละเอียดของกิจกรรมงานประสาทปริญญา ทิศทาง มจร ในอนาคต รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ   ดังที่กล่าวไว้

“เจ้าคุณประสาร”  ได้สัมภาษณ์ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เป็นกันเอง ตามสไตล์ของเจ้าคุณประสารที่มักคุ้นกับสื่อมวลชนอยู่แล้ว พร้อมกับกล่าวว่า   การรับปริญญาปีนี้แตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา คือ การประสาทปริญญาพิธีซ้อมใหญ่มอบให้ส่วนกลางที่สำเร็จการศึกษาจากส่วนกลาง ส่วนวิทยาเขตวิทยาลัยสงฆ์มอบทั้งอำนาจและหน้าที่ให้ แล้วเรามากำหนดวันประสาทปริญญาวันต่อวัน “คำว่าวันต่อวันก็หมายความว่าปริญญาตรีและปริญญาโทรับวันไหนก็มาวันนั้น ปริญญาเอกรับวันไหนก็มาวันนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาเราอาจจะใช้เวลาซ้อมวันหนึ่งรับวันหนึ่ง จึงอาจทำให้บัณฑิตส่วนกลางของเรานั้นใช้เวลาถึง 3 วันก็มี ทำให้มีค่าใช้จ่ายพอสมควร และเป็นภาระ จึงได้ปรับใหม่เป็นวันต่อวัน สิ่งสำคัญก็คือทำอย่างไรจะให้มีความพร้อมมากที่สุด ต้องเตรียมงานตั้งแต่เนิ่นๆการเตรียมความพร้อมต่างๆก็มอบให้วิทยาลัยวิทยาเขตสงฆ์ทำกันเอง ซึ่งปีนี่เท่าที่ประเมินก็ได้รับผลตอบรับดี ลดภาระลงไปหลายด้าน..”

ปีที่แล้วการจราจาคับคั่งหนาแน่นมาก ปีนี้มีแนวทางแก้ไขอย่างไร

ปีที่แล้วที่เราเห็นจากการฝึกซ้อมเราถือว่าการรับปริญญาในจำนวน 4,000-5,000 รูป/คนนั้นใช้เวลาไม่นาน เราจึงมาคิดว่า ซ้อม 1 วันและรับ 1 วันแต่ปรากฏว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่เรื่องผู้คนมากกับการจราจรติดขัด อย่างที่เราทราบกันดีว่าพระรูปหนึ่งสำเร็จการศึกษาคนที่มาร่วมแสดงความยินดีกันเป็นจำนวนมากบางรูปมาทั้งตำบล ยิ่งหลวงพ่อที่มีบารมีลูกศิษย์จะตามกันมารถหลายสิบคัน ทำให้ประสบปัญหาจำนวนคนที่มากแออัด จำนวนรถที่มาร่วมในภาคเช้าเมื่อรับเสร็จแล้วก็ยังไม่ออก สำหรับคนที่รับในภาคบ่ายก็ยังไม่สามารถเข้ามาได้ จุดนี้ทำให้มีประสบการณ์ เมื่อมีประสบการณ์แล้วเราก็ยังรักษาคำว่า “วันต่อวัน”ไว้ว่า ไม่อยากให้เป็นภาระมาก ด้วยเหตุนี้จึงเปลี่ยนมาวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม ประสาทปริญญาตรีและปริญญาโท ส่วนวันอาทิตยที่ 8 ธันวาคม เป็นของปริญญาเอก ทำวันต่อวัน

 “ตอนนี้ใช้คำว่าพร้อมมากในด้านสถานที่เราทำซุ้มใหญ่ที่ประตูทางเข้าของมหาวิทยาลัย ฝ่ายอาคารสถานที่ได้มีการพูดคุยกันว่าอย่างน้อยประตูซึ่งเป็นด่านแรกของมหาวิทยาลัยอยากให้มีความสวยงามที่สื่อถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ อยากให้สื่อถึงปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 สื่อถึงการประชาสัมพันธ์ของงานทั้งหมดมารวมกัน จึงทำให้ประตูด้านหน้ามหาวิทยาลัยสวยงาม และเสร็จก่อน 20 วัน ประตูจะมีความแตกต่างกันในตอนกลางวันมีสีสันอย่างหนึ่ง ส่วนกลางคืนก็จะมีสีสันไปอีกอย่างนึง และมีธงทิวระบายไปทั่วถนน การมีธงสัญลักษณ์รวมทั้งการจัดตกแต่งสถานที่ และรวมถึงด้านอื่นๆ ฝ่ายจราจร ฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ครั้งนี้มีความมั่นใจจนถึงวันนี้มีการประชุมเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่องจนวันนี้ไม่ได้มีประชุมแล้ว มอบให้ฝ่ายเลขาตามงานมอบให้แต่ละฝ่ายจัดการกันเอง และเท่าที่ตามมานี้ทุกฝ่ายมีความพร้อม..”

มจร ได้วางทิศทางอนาคตตนเองไว้อย่างไร

พระเทพวัชรสารบัณฑิต หรือ เจ้าคุณประสาร ตอบว่า หนึ่ง เรื่องการสร้างมหาจุฬาฯ การสร้างอาคารสถานที่ คิดว่าตอนนี้มันพอสมควรแล้ว สิ่งที่พูดกันต่อจากนี้ไปคือเราจะรักษาความเป็นสถาบันของมหาวิทยาลัยสงฆ์และมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงท่ามกลางผู้คนที่เปลี่ยนไปท่ามกลางโลกใบใหม่ที่คนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและยังเป็นห่วงว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจพระพุทธศาสนาและให้ความสนใจในเรื่องการศึกษาน้อยลง การบวชเรียนก็น้อยลงมาก แม้แต่คนในชนบทจะทำอย่างไร  เวลาอยู่ในภาวะวิกฤตนี้รวมทั้งมหาวิทยาลัยทั่วโลกเราจะทำอย่างไร

หนึ่ง ในระดับปริญญาตรีถ้านิสิตจำนวนบัณฑิตที่มารับปริญญา 4,600กว่ารูป/คน เราก็ยังเห็นว่ามีพระอยู่มากทีเดียวมากกว่า 60% ที่เหลือประมาณ 40% เป็นคฤหัสถ์ก่อนหน้านี้ 70% เป็นพระ ที่นี้ถ้าเจาะให้ดีจะเห็นได้ว่าระดับปริญญาตรีที่เป็นฐานสำคัญ พระก็ยังมีถึง 70-80% แต่ว่าที่มามีเปอร์เซ็นต์มากก็คือฆราวาสญาติโยมเข้ามาศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญา

สอง การที่เราจะต้องหาศาสนาทายาท หาผู้คนที่มาศึกษาเล่าเรียนในระดับปริญญาตรีเพื่อต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สร้างเป็นศาสนาทายาทในพระพุทธศาสนา อันนี้เป็นภาระที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยต้องทำ

สาม เรื่องการสอนที่เน้นเทคโนโลยี ได้พูดกับวิทยาลัยสงฆ์วิทยาเขตหลายแห่งเพื่อสนองนโยบาย พระพรหมวชิราธิบดี นายกสภามหาวิทยาลัย พระพรหมบัณฑิต อุปนายกสภามหาวิทยาลัย รวมทั้ง พระพรหมวัชรธีราจารย์ ท่านได้ให้นโยบายไว้ว่า จากนี้ไปการศึกษาการเรียนการสอนเปลี่ยนไปนอกจากครูบาอาจารย์จะต้องมีความรู้ เพิ่มเติมความรู้ไปอบรมไปฝึกฝน ไปเพิ่มเติมในหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งให้มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ เทคโนโลยีในการเรียนการสอน การสอนในห้องเรียน เทคโนโลยีในห้องสมุดและเทคโนโลยีนอกห้องเรียน

“ถ้าเราเรียนและสอนแบบเดิมหรือปฏิบัติแบบเดิมเด็กเขาไปเปิดใน google ก็เปิดได้เรียนรู้ได้เผลอๆแล้วอาจจะมีความรู้ลึกกว่าผู้สอนด้วยซ้ำไป จึงเป็นเรื่องสำคัญว่าจากนี้ไปมหาวิทยาลัยทั่วทุกแห่งงบประมาณจะลดลงโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มาจากภาครัฐ จะเห็นได้ชัดว่างบประมาณลดลง แล้วมีแรงเสียดทานมากขึ้น คำว่าแรงเสียดทานมีความหมายว่า มหาวิทยาลัยต่างๆมีการแข่งขันกันมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่มหาวิทยาลัยสงฆ์ ดังนั้นการแข่งขันเพื่อให้คนเข้ามาเรียน เราเเข่งขันทั้งสองทาง แข่งขันทั้งการมีศาสนทายาท แข่งขันทั้งการที่จะต้องหาคนทั่วไปมาศึกษาเล่าเรียน โดยจะต้องวัดที่คุณภาพและวิธีการอย่างที่พูดถึง  และภาระเพิ่มมากขึ้น..”

 มจร มีคุณค่าต่อพุทธศาสนาและสังคม อย่างไร

ความเป็นมหาจุฬา ฯ แน่นอนว่า เราอยู่ภายใต้มหาเถรสมาคม และขณะเดียวกันเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย มหาวิทยาลัยสงฆ์เรา ไม่ได้มีภาระเฉพาะด้านการเรียนการสอนอย่างเดียว แต่มีภาระอย่างอื่นด้วย ในการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย 6 อย่าง คือ หนึ่ง กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก สอง กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม สาม กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สี่ กลุ่มพัฒนาปัญหาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา ห้า กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาเฉพาะ และหก กลุ่มอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด

“สำหรับ มจร สภามหาวิทยาลัย และพระพรหมวชรธีราจารย์ อธิการบดีได้ให้นโยบาย ดำเนินการคือ กลุ่มที่สาม กลุ่มพัฒนาชุมชนถ้ามองกฎกระทรวงโดยเฉพาะข้อที่ 10 ชัดเลยว่าดูแลพัฒนาชุมชน ถ้าคนข้างนอกมองว่าคนกลุ่มนี้คือการจัดทำขึ้นเพื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศแต่เราคนภายในมองออกว่า อันนี้แหละตรงกับวิทยาลัยเขตวิทยาลัยสงฆ์ ไม่ต่างกันเลยภารกิจนี้ นอกจากการบริการวิทยาการทางสังคม ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ผลิตบัณฑิตและงานวิจัยและสิ่งสำคัญคือ การดูแลชุมชนและการอยู่กับชุมชนทิ้งชุมชนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงเอา เมื่อเขาให้เราเลือกได้กลุ่มเดียวไม่สามารถ เป็นมหาวิทยาลัยสอนคนได้ เราต้องเลือกกลุ่มที่ 4 คือศาสนาและคุณธรรม เมื่อเลือกกลุ่มที่ 4 เราต้องไปพ่วงเข้ากลุ่มที่ 3 มาด้วย จากเราต้องหาศาสนทายาท เราต้องทำงานเชิงรุก  เราต้องทำงานมุ่งเป้า เราต้องพัฒนาคนของเรา ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ เราจำเป็นต้องดูแลเรื่องชุมชน  เราต้องเอาชุมชนด้วย เพราะเรื่องการศึกษาที่ทำให้การศึกษาเพื่อความเสมอภาคการศึกษาที่เท่าเทียม การศึกษาเพื่อสันติสุขในกฎของ UN ที่ทำไว้ อาตมาเชื่อว่ามหาจุฬาฯทำเรื่องนี้ได้มากที่สุด..”

 ความเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์และมาตรฐานการศึกษา

เรามีการประเมินทุกปีทั้งภายในและจากคนภายนอก  เราต้องดูจากการประเมินมีลูกศิษย์มา complain เป็นสิทธิที่พูดได้และเราต้องฟังเมื่อเขาพูดเราก็อธิบายให้เขาฟังได้จริงๆแล้วในสิ่งที่เป็นอยู่เวลาประเมิน เราต้องประเมินในระดับสถาบัน ผลประเมินของเราอยู่ในระดับดี-ดีมากทั้งนั้นเลย

“ถามว่าสิ่งที่ประเมินนั้นเป็นอย่างไร อยากบอกว่าการจัดมหาวิทยาลัยใน 5 กลุ่มนี้แหละคือสิ่งที่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องอยากเห็นตัวตนที่แท้จริงของมหาวิทยาลัย ที่เรียกว่าอัตลักษณ์เอกลักษณ์โดยไม่ไปเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นทั้งหมด แต่ที่เปรียบเทียบได้คือเป้าหมายปลายทางคือ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะทางสติปัญญาถ้ามหาวิทยาลัยทั่วไปจะพูดเท่านี้จบได้ แต่ของมหาจุฬาจะใส่คำว่าคุณธรรมเข้าไปด้วย นี่คือสิ่งสำคัญและเมื่อมีการวัดประเมินผล เราวัดจากการเข้ามา input process output ที่จริงวัดเพียงแค่ 3 ตัวนี้พอในด้านการอบรมศึกษา แต่เราวัด impect ด้วยว่ามีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร มีผลกระทบต่อคณะสงฆ์อย่างไร เพราะเราผลิตบัณฑิตแล้วนำไปให้สังคมใช้ ไปให้คณะสงฆ์ใช้ พระหลายรูป คนหลายคนไปอยู่ในหมู่มาก…”

“เจ้าคุณประสาร” อธิบายต่ออีกว่า เราต้องตีโจทย์ให้แตกว่า อะไรคือเอกลักษณ์อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ปลายทางบัณฑิตที่มีสติปัญญา แต่มหาจุฬาเรามีปลายทางเรื่องคุณธรรมด้วย ต่อมาสิ่งสำคัญที่อยากให้เห็นคือความเป็นตัวตนของเรามันแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ท่านอย่ามองและเอามหาวิทยาลัยอื่นเข้ามาเปรียบเทียบ เรามองว่าข้าวในนาคนอื่นมันงามไปหมดไม่ใช่ เช่น มหาวิทยาลัยข้างนอกเขามีหลักสูตรแบบนี้ ทางกายภาพเขามีสนามฟุตบอล สนามวอลเลย์บอล มียิมนาสติกและอย่างอื่นอีกมากมาย แต่ในมหาจุฬาฯของเรามีหลักสูตรวิชาแก่นพุทธศาสตร์ ปริญญาตรีในร้อยกว่าหน่วยกิต เรียนวิชาแก่นพุทธศาสตร์กว่าร้อยละ 40หน่วยกิต และนอกจากนั้นแล้วปริญญาตรีตั้งแต่ปีที่ 1 ถึงปีที่ 4ก็ยังมีวิชาธรรมะภาคปฏิบัติอยู่ในทุกภาคชั้น ทุกปีและเมื่อสอบ final ต้องออกวิปัสสนากรรมฐานพร้อมกันอีก อย่างน้อยเป็นเวลา 10 วัน และเมื่อจบการศึกษาแล้วยังต้องปฏิบัติศาสนกิจอีก1ปี ส่งคฤหัสถ์ไปบริการงานสังคม ส่วนปริญญาโทมีวิชาธรรมะภาคปฏิบัติ และต้องไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน30 วัน ปริญญาเอกมีวิชาธรรมะภาคปฏิบัติและต้องไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างน้อย 45 วันนอกจากนี้ภายในยังมีห้องวิปัสสนากรรมฐาน มีห้องปฏิบัติธรรมสิ่งนี้คือสิ่งที่แตกต่างที่จำเป็นต้องแยกว่าตัวตนที่แท้จริงของเราคือใคร

ผลผลิตจาก “มจร” ยังเป็นหลักในการสนองงานคณะสงฆ์?

ในความเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษา มจร เหมือนสถาบันอบรมให้ความรู้ให้กับคณะสงฆ์ ติดอาวุธทางปัญญาทั้งศาสตร์เก่าและใหม่ ให้กับท่าน เพื่อไปทำงานรับใช้คณะสงฆ์ บุคลากรในสถาบันสงฆ์ตั้งแต่ระดับกรรมการมหาเถรสมาคมจนถึงพระสังฆาธิการ ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจาก มจร  เราจะถอยหรือจะไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคณะสงฆ์ไม่ได้ ตอนนี้พวกคณะผู้บริหารที่มาจัดการเกี่ยวกับการศึกษา เราเป็นตัวแทนคณะสงฆ์และเราก็อยู่ภายใต้คณะสงฆ์

“สมเด็จพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ท่านเคยบอกไว้ว่า มหาจุฬาฯต้องให้มีสมณศักดิ์ด้วยถึงเป็นจุดเริ่มต้นของข้อบังคับระเบียบมหาวิทยาลัยเรื่องสมณศักดิ์ เหตุที่ทำแบบนี้เพราะว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านมีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกล เจ้าคุณสมเด็จได้พูดไว้เลยว่าในวันต่อไปจะมีเจ้าคณะทำงาน เจ้าคณะภาค มาเรียนอยู่เยอะ และถ้าผู้บริหาร มจร เราไม่มีสมณศักดิ์อะไร ความน่าเชื่อถือ เครดิตเราจะน้อยอันนี้ท่านพูดไว้ในสมัยที่เรายังไม่มีอะไรเลย ปัจจุบันนี้จะเห็นว่ามีพระสังฆาธิการระดับรองสมเด็จพระราชาคณะ ก็มาเรียนกับมหาจุฬาฯ สมัยก่อนหากรูปใดเป็นพระนิสิต เกิดได้เป็นพระราชาคณะก็ลาออก เพราะถือว่าไม่เรียนแล้ว ต้องไปทำอย่างอื่น..”

สำหรับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สำหรับคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นมหาวิทยาลัยด้านศาสนาและปรัชญาอันดับ 2 ของโลก มี 11 วิทยาเขต 30 วิทยาลัย 1 โครงการขยายห้องเรียน และ 1 หน่วยวิทยบริการ นอกจากนี้ ยังมีสถาบันสมทบในต่างประเทศ 5 แห่ง มีจำนวนทั้งหมด 293 หลักสูตร โดยจำแนกเป็น ปริญญาตรี 170 หลักสูตร, ประกาศนียบัตรบัณฑิต 2 หลักสูตร, ปริญญาโท 78 หลักสูตร, ปริญญาเอก 43 หลักสูตร

มีอาจารย์ทั้งหมด 1,351 รูป/คน จำแนกเป็นปริญญาโท 493 รูป/คน, ปริญญาเอก 805 รูป/คน และมีตำแหน่งทางวิชาการ จำนวน 473 รูป/คน จำแนกเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ 348 รูป/คน, รองศาสตราจารย์ 117 รูป/คน และศาสตราจารย์ 8 รูป/คน ผลิตผลงานวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ 1,276 เรื่อง มีนิสิตทั้งสิ้น 19,704 รูป/คน จำแนกเป็น ปริญญาตรี 14,246 รูป/คน, ปริญญาโท 3,427 รูป/คน, ปริญญาเอก 2,031 รูป/คน  มีนิสิตนานาชาติจำนวน  2,333รูป/คน จาก 27  ประเทศ

ระหว่างวันที่ 7-8 ธันวาคม 2567 นี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะมีงานประสาทปริญญาประจำปี 2567 ซึ่งปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์ 4,602 รูป/คน จำแนกเป็นปริญญาตรี 2,921 รูป/คน ปริญญาโท 1025 รูป/คน และปริญญาเอก 512 รูป /คน ประกาศนียบัตรอภิธรรม 144 รูป/คน ใน 4,602 รูป/คนนี้ แยกเป็นบรรพชิต 2,129 รูป และคฤหัสถ์ 2,473 คน ในขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทั้งภายในประเทศและนานาชาติมีจำนวน 91 ท่าน มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 4 ท่าน และเข็มเกียรติคุณอีก 48 ท่าน รวมเป็น 143 รูป/คน..

Leave a Reply