“นิยม เวชกามา” โต้ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เรื่องปลด 3 จจ. “ยังไม่จบ” จ่อทำหนังสือขอ “เจ้าคณะหนใหญ่”ชี้แจง

วันที่ 15 ต.ค. 64 ดร. นิยม เวชกามา ส.ส. เพื่อไทย โต้กลับคำแถลงของนายไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคพลังประชารัฐ หลังออกมาให้ข่าวหลังประชุมกรรมาธิการศาสนาฯว่า กมธ.ศาสนาฯ ไม่มีอำนาจในการสอบเรื่องการปลดเจ้าคณะจังหวัดจึงยุติเรื่องนั้น ว่า

     “เรื่องยังไม่ได้ยุติ ยังมีการดำเนินการสอบต่อ ตนขอชี้แจงว่า เมื่อมีการร้องเรียน กมธ. ก็มีอำนาจในการสอบหาข้อเท็จจริง แต่ไม่มีอำนาจชี้ถูกผิดหรือลงโทษ เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วก็เสนอประธานสภาเพื่อแจ้งให้นายกไปดำเนินการแก้ไขต่อไป การที่คุณไพบูลย์ ออกมาให้ข่าวว่า กมธ. ศาสนายุติเรื่องแล้ว จึงไม่ตรงกับที่หารือในการประชุมกรรมาธิศาสนาฯ ที่ประชุมเสนอเพียงว่า เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงขอไม่ให้มีการให้ข่าว จนกว่าจะเขียนสรุปรายงานผลการศึกษาออกมาเป็นเอกสารก่อน มิเช่นนั้นจะกระทบกับหลายฝ่าย ขณะนี้เพิ่งเรียกสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ มาให้ข้อมูลฝ่ายเดียวเท่านั้น และสำนักพุทธก็ให้ข้อมูลว่า “เจ้าคณะหนใหญ่” เป็นผู้เสนอขึ้นมา ทางสำนักพุทธไม่ทราบเหตุผล คาดว่า อาจจะมีผู้ร้องเรียน เจ้าคณะหนจึงเสนอปลด เมื่อสำนักพุทธให้ข้อมูลว่า เจ้าคณะหนเป็นผู้เสนอปลด ไม่ใช่สำนักพุทธ แต่มันก็ขัดแย้งกันกับที่สมเด็จหลายรูปให้ข้อมูลมาก่อนหน้านี้ว่า ไม่ทราบเรื่องการปลดมาก่อน”

ดร. นิยมกล่าวต่อว่า ตามขั้นตอนของ กมธ ศาสนาก็ต้องมีหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังเจ้าคณะหน หรือเจ้าคณะภาค ว่า ตามที่สำนักพุทธให้ข้อมูลว่าเจ้าคณะหนเป็นผู้เสนอปลดนั้น ทางเจ้าคณะหนมีขั้นตอนการปลดอย่างไร?? มีการตั้งคณะกรรมการสอบก่อนหรือไม่?? หรือว่าเป็นดุลยพินิจของเจ้าคณะหนเอง?? แล้วมีอะไรเป็นหลักในการใช้ดุลยพินิจ?? จากนั้น ก็จะเรียกฝ่ายที่ร้องเรียนเข้ามาให้ข้อมูล จึงจะสรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนั้น กมธ.ศาสนา ยังไม่ได้สรุปอะไร อยู่ในขั้นตอนการเรียกสำนักพุทธมาให้ข้อมูลคนเดียว ยังไม่ได้เรียกคนอื่นมา การที่คุณไพบูลย์ออกมาให้ข่าวว่า ยุติเรื่องแล้ว จึงเป็นความเห็นส่วนตัวของคุณไพบูลย์คนเดียวเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุปของ กมธ.ศาสนาแต่อย่างใด

         “คุณไพบูลย์ นิติตะวันยังอ้างอีกว่า เจ้าคณะจังหวัดถูกปลดจากตำแหน่งทางการปกครอง ไม่ใช่เรื่องอธิกรณ์ เพราะไม่ได้ถูกร้องเรียนอาบัติปาราชิก ถึงไม่มีการสอบก็สามารถปลดได้ เป็นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นอันตรายต่อวงการพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ตนเห็นว่า หากไม่มีความรู้ทางคณะสงฆ์ อย่าพูดเสียยังจะดีกว่า ตนขอทำความเข้าใจเรื่องนี้ หากเห็นว่า พระสังฆาธิการถูกร้องเรียนความผิดต่อตำแหน่งทางการปกครอง ก็ตั้งกรรมการสอบจริยาพระสังฆาธิการ ส่วนถ้าถูกร้องเรียนอาบัติก็สอบอธิกรณ์ ว่าผิดอาบัติหรือไม่ กรณีนี้เป็นเรื่องการปลดจากตำแหน่งทางการปกครองในระดับเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งเจ้าคณะหนและเจ้าคณะภาคต้องตั้งกรรมการสอบจริยาพระสังฆาธิการ กฎมหาเถรสมาคมกำหนดเอาไว้ชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอน หากไม่ตั้งกรรมการสอบ เจ้าคณะหนและเจ้าคณะภาค ก็ผิดจริยาพระสังฆาธิการอย่างร้ายแรง ตนเห็นว่า ไม่ใช่ว่า จริยาพระสังฆาธิการจะเอาไว้ใช้กับ เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล หรือเจ้าคณะอำเภอตัวเล็กตัวน้อยเท่านั้น มันต้องใช้กับเจ้าคณะภาค เจ้าคณะหน หรือแม้แต่ มส. ก็ต้องใช้ด้วยเช่นกัน เหมือนการสอบความผิดวินัยร้ายแรงของข้าราชการ ไม่ใช่จะเอาไว้ใช้แต่กับข้าราชการตัวเล็กตัวน้อยเท่านั้น แต่ใช้กับทุกระดับจนถึงอธิบดี”

         ดร. นิยม ได้เพิ่มเติมต่ออีกว่า ตนขออธิบายเพิ่มเติม กรณีจังหวัดปทุมธานีอยู่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค 1 มีพระธรรมวชิรเมธี หรือเจ้าคุณมีชัย วัดหงส์รัตนาราม เป็นเจ้าคณะภาค ในการแสวงหาข้อเท็จจริง กมธ. การศาสนา จะต้องเรียกเอกสารที่เจ้าคณะภาค 1 ตั้งคณะกรรมการสอบหาความผิด จนถึงมีมติปลดจากตำแหน่งมาดู ว่าได้ดำเนินการหรือไม่ เช่น เอกสารการถูกร้องเรียน เอกสารการตั้งคณะกรรมการสอบ เอกสารการโต้แย้งของผู้ถูกกล่าวหา ผลการสอบของคณะกรรมการ และผลสอบที่ ระธรรมวชิรเมธี เจ้าคณะภาค 1 รายงานต่อสม พระเด็จมหารัชมงคลมุนี หรือสมเด็จธงชัย เจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดไตรมิตร เพราะเจ้าคณะภาค 1 เป็นเจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดกับเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ซึ่งจะต้องเป็นต้นเรื่องของการเสนอปลด จากนั้น ก็เรียกหนังสือเจ้าคณะใหญ่หนกลางว่า มีการพิจารณาเห็นชอบหรือไม่อย่างไร ก่อนที่จะแจ้งมายังสำนักพุทธซึ่งเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม และเป็นผู้จัดทำวาระการประชุมเสนอต่อมหาเถรสมาคม

กรณีจังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค 12 มี พระราชเวที วัดโพธิ์ท่าเตียน เป็นเจ้าคณะภาค ก็ต้องเสนอปลดตามขั้นตอนเดียวกันมายัง สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก วัดไตรมิตร และเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ส่งมายังสำนักพุทธ เพื่อทำวาระการประชุมแจ้งต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม

และกรณีจังหวัดกาฬสินธุ์ ฝ่ายธรรมยุติ ก็ต้องส่งเรื่องการปลดมายังเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติ คือ สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศ เช่นเดียวกัน เมื่อมีการสอบ ขึ้นมาตามลำดับการปกครองสงฆ์เช่นนี้ จึงเป็นการปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2563) ข้อ 5/1 (2) ” ดร. นิยมกล่าว

 

Leave a Reply