“ชาวอำเภอแม่ใจ” ปลื้ม!!  รับรางวัล วชิรปัญญา : เพชรผู้สร้างคุณูปการต่อสังคม

วันที่ 4 มี.ค. 67  นายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ เปิดเผยว่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา โดยคณะสงค์อำเภอแม่ใจ นำโดยพระครูสิริจันทประโชติ (คงเดช) เจ้าอาวาสวัดศรีดอนตัน เจ้าคณะอำเภอแม่ใจ และพระครูประยุตสีลสุนทร เจ้าคณะตำบลศรี เจ้าอาวาสวัดศรีบุญชุม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายอำเภอแม่ใจ ได้ร่วมกันเข้ารับรางวัลวชิรปัญญา : เพชรผู้สร้างคุณูปการต่อสังคม ประจำปี 2566 ประเภท “ราชการร่วมใจเพื่อสังคม” ซึ่งเป็นผลงานของอำเภอแม่ใจที่ได้ประกอบกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ มีผลงานอันทรงคุณค่าเป็นที่ประจักษ์ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสังคมอย่างต่อเนื่อง

นายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ จัดขึ้น ณ ศูนย์วิปัสสนาวิสุทธิมรรค อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดพะเยา สถาบันปวงผญาพยาว ซึ่งก่อตั้งโดยพระเมธีวชิรคุณ (ศรีบรรดร) วัดศรีโคมคำ ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา รองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ พระอารามหลวง โดยมีปณิธานในการก่อตั้งว่า “เพื่อความเจริญแพร่หลายแห่งวัฒนธรรมเมืองพะเยา และความเจริญงอกงามแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยไม่ทิ้งกรอบแนวคิดทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนถึงการเติมใจ-ปัญญาให้กับสังคม” โดยในวันดังกล่าวได้รับเกียรติจากนายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลฯ

“รางวัลนี้เป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของชาวอำเภอแม่ใจทุกคน ที่เกิดจากการบูรณาการแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี เกิดจากความร่วมมือทั้งองคาพยพ โดยน้อมนำหลักการทรงงาน “ระเบิดจากข้างใน” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นหลักคิด หลักธรรมนำพา และร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบหลักการสาธารณสงเคราะห์ “บวร” หรือ บ้าน วัด ราชการ/โรงเรียน สอดคล้องกับแนวทางตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 17 หรือ Partnership ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน” นายพีรัชฯ กล่าว

นายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ กล่าวต่อว่า อำเภอแม่ใจมีเป้าหมายในการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 อำเภอแม่ใจได้ขับเคลื่อนโครงการ “6 รักษ์ 6 รอบ 72 พรรษา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ น้อมนำอารยเกษตรสู่วิถียั่งยืน” ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ กิจกรรมรักษ์ป่า ซึ่งได้นำแนวคิดการขับเคลื่อนกิจกรรมวันดินโลกของกระทรวงมหาดไทย (World Soil Day) “ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน” ที่ได้นิมนต์คณะสงฆ์ 6 รูป ร่วมกันเจริญพระพุทธมนต์บวชป่า สืบชะตาต้นไม้ สืบชะตาแม่น้ำ อย่างที่ทราบกันดีว่า ต้นไม้เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญและมีคุณค่าอย่างยิ่ง เอื้อประโยชน์ต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม การรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางศาสนาพุทธที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อเป็นกุศโลบายให้ประชาชนรู้จักคุณค่าและความสำคัญของป่าไม้ ผ่านการสร้างความเชื่อที่ว่าผืนป่านั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาอยู่ จะเข้ามาบุกรุกทำลายไม่ได้ และยังเป็นการสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าของป่าไม้ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีคน ป่าอยู่ได้ แต่ไม่มีป่า คนอยู่ไม่ได้”

“กิจกรรมที่กล่าวมาล้วนเป็นการนำหลัก “บวร” บูรณาการร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนโครงการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำโดยการทำฝายชะลอน้ำ รื้อฟื้นประวัติศาสตร์ชาติไทยเรื่องแม่ใจศึกษา โครงการแม่ใจรักษ์ดินและการปลูกป่า เป็นต้น อำเภอแม่ใจเล็งให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) โดยการขยายผลการปลูกพืชผักสวนครัวปลอดภัยจากครัวเรือนสู่ชุมชน เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยไว้สำหรับบริโภคได้ตลอดปี ทำให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้เพื่อส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ให้คนรุ่นหลัง “สืบสาน รักษา ต่อยอด” จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง รางวัลนี้จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาวอำเภอแม่ใจทุกคน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะก้าวต่อไปภายใต้สโลแกน “รักแม่ใจ สร้างแม่ใจ ไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” นายพีรัชฯ กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply